หยุดยาว 5 วัน 1-5 พ.ค. ...ทำไมราชการยิ้ม-แรงงานเศร้า ?

หยุดยาว 5 วัน 1-5 พ.ค. ...ทำไมราชการยิ้ม-แรงงานเศร้า ?

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ให้วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม 2558 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มอีก 1 วัน ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ เพื่อให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องรวม 5 วันคือ ตั้งแต่วันที่ 1-5 พฤษภาคม

เป้าหมายของรัฐบาลคือ หวังกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 10%

ซึ่งการหยุดยาว 5 วันครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี ถือได้ว่าเป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยวและเฉลิมฉลองโดยครั้งแรก ครม.มีมติให้วันที่ 2 มกราคม เป็นวันหยุดปีใหม่เพิ่ม รวมหยุดยาวช่วงปีใหม่ 5 วันคือ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2557 - 4 มกราคม 2558

ครั้งที่ 2 หยุดยาว 5 วัน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน และถัดไปอีกแค่ 15 วัน ก็จะมีวันหยุดยาว 5 วัน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-5 พฤษภาคม

การวันหยุดยาวลักษณะนี้ เกือบจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐบาลไปแล้ว ซึ่งในมุมมองของคนในสังคมนั้น ชี้ว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ด้านหนึ่งมองว่า วันหยุดราชการเมืองไทยมีจำนวนหลายวันต่อปีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องประกาศหยุดราชการในลักษณะหยุดยาวเช่นนี้ หากรายใดอยากหยุดก็ขอลาหยุดกับองค์กรต้นสังกัดจะดีกว่า ประกอบกับคนส่วนใหญ่ที่ได้รับอานิสงส์จะเป็นกลุ่มราชการ รัฐวิสาหกิจ ส่วนองค์กรเอกชนหลายแห่งให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจนโยบายขององค์กร การประกาศหยุดจึงอาจไม่ได้ผลเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวเต็มที่

ขณะที่อีกฝั่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวภายในประเทศเห็นว่าการเสนอวันหยุดในช่วงวันหยุดราชการติดต่อหลายวัน เป็นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวได้จริง แต่การประกาศล่วงหน้านานเช่นนี้ เชื่อว่าจะกระตุ้นให้คนไทยวางแผนไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศระยะใกล้จำนวนมากเสียมากกว่า

"ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช" นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ (สทน.) เห็นว่า การที่รัฐบาลประเทศให้วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยว แต่การประกาศเร็วเกินไป เชื่อว่าไม่ได้ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศเต็มที่ เพราะจะมีกลุ่มคนไทยที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศแน่นอน เพราะค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะประเทศระยะใกล้ไม่ได้ต่างจากการใช้เงินในเมืองไทยมาก ประกอบกับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) ต่างออกโปรชั่นราคาแข่งกัน เป็นปัจจัยชี้นำให้คนไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้น

สอดคล้องกับ "ธนพล ชีวรัตนพร" อุปนายกฝ่ายทัวร์ต่างประเทศ สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ที่กล่าวว่า จากมติ ครม.ดังกล่าว เชื่อว่าจะมีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศสัดส่วน 15-20% เมื่อเทียบกับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยส่วนใหญ่จะไปเที่ยวกลุ่มประเทศเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น ฮ่องกง หรือแม้แต่กลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม

อีกมุมหนึ่งของวันหยุดยาวคือ คนไทยชอบการเฉลิมฉลอง ไม่ว่าเทศกาลใดๆ ถ้ามีโอกาสจะไม่พลาดเด็ดขาด ซึ่งการเฉลิมฉลองต้องมีการจับจ่าย ถือว่ามีเงินหมุนเวียน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน หากเฉลิมฉลองกันอย่างไม่ระมัดระวัง ประชาชนก็จะเกิดปัญหาเงินขาดมือ หรือเป็นหนี้เป็นสินเช่นกัน

เห็นได้จากหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนพากันเข้าไปใช้บริการของโรงตึ๊ง หรือสถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำจำนวนมาก

"วีระศักดิ์ บุตรอภิสิทธิ์" ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองชัยนาท ให้ข้อมูลว่า วันที่ 6 มกราคม 2558 ที่เปิดทำการวันแรก มีประชาชนเข้ามาใช้บริการกว่า 300 คน เป็นสถิติผู้ใช้บริการมากที่สุดตั้งแต่เปิดโรงรับจำนำมากว่า 20 ปี

เช่นเดียวกันโรงจำนำ 3 แห่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครนครราชสีมา โดย "สุรวุฒิ เชิดชัย" นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ระบุว่า หลังเทศกาลปีใหม่มีประชาชนมาใช้บริการของโรงรับจำนำกันอย่างคึกคัก เฉลี่ยวันละพันคน

ไม่แตกต่างจากโรงรับจำนำใน กทม. โดย "เสริมศักดิ์ อนันตกาญจน์" รองผู้อำนวยการสถานธนานุบาล กรุงเทพมหานคร (สธก.กทม.) รักษาการผู้อำนวยการ สธก.กทม. เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีวันหยุดยาวมักมีประชาชนมาใช้บริการที่โรงรับจำนำของ กทม.เป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ที่มาใช้บริการในช่วงปกติ และคาดว่าช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาวในต้นเดือนพฤษภาคม จะมีประชาชนทยอยมาใช้บริการมากขึ้น

นอกจากนี้ วันหยุดยาวยังส่งผลต่อผู้ใช้แรงงาน แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้สั่งให้บริษัทเอกชนหยุดงาน แค่ขอความร่วมมือก็ตาม เพราะหากบริษัทหยุดงาน แรงงานก็ต้องหยุดงาน ทำให้ไม่ได้รับค่าจ้าง

"วิไลวรรณ แซ่เตีย" ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) บอกว่า การกำหนดวันหยุดยาวนั้น หากเป็นวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่ แรงงานส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปอยู่กับครอบครัว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนวันหยุดยาวในช่วงที่ไม่ใช่เทศกาลจะกระทบต่อลูกจ้างรายวันแน่นอน และมีลูกจ้างบางส่วนที่ไม่พอใจ

"หากทำงานจะได้ค่าจ้าง หากเป็นวันหยุด ไม่ได้ทำงาน ก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง บางรายเดือดร้อนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน และหากไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่หยุดงานกัน ดังนั้น หากบริษัทจัดให้เป็นวันหยุดตามที่รัฐบาลประกาศ แล้วไม่จ่ายเงินให้แรงงาน เนื่องจากเป็นการจ้างงานรายวัน จะทำให้แรงงานเสียวันทำงานและสูญเสียรายได้ไป"

สรุปได้ว่า การหยุดราชการยาว 5 วัน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่ายแต่ละคน

ดังนั้น ทุกฝ่ายทุกคนจึงต้องคิดกันเอาเองว่าจะทำอย่างไรให้วันหยุดยาวเป็นวันแห่งความสุข ไม่ต้องทุกข์หลังหยุดยาว

(ที่มา:มติชนรายวัน30ม.ค.2558)

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์