สธ.โต้ลือห้ามกินข้าวมันไก่-รับพบเชื้ออหิวา

สธ.โต้ลือห้ามกินข้าวมันไก่-รับพบเชื้ออหิวา

สธ.โต้ลือห้ามกินข้าวมันไก่-รับพบเชื้ออหิวาเทียมในเลือดไก่ เผยปรุงให้สุกกินได้ปกติ

 เมื่อวันที่ 13 ม.ค. นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค

กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่หนังสือสั่งการจากนพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เรื่องขอความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ โดยขอให้งดใส่เลือดไก่ลงไปในอาหารทุกชนิด ว่า ก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบควบคุมโรคตามปกติ แล้วพบว่ามีเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง ซึ่งต้นตอจริงๆ นั้นพบว่าเชื้ออหิวาเทียมอยู่ในเลือดไก่ที่มาจากโรงงานเชือดไก่ในพื้นที่ จึงได้ประสานไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ให้เข้าไปตรวจสอบและดูแลโรงงานให้ได้มาตรฐาน แก้ปัญหาการปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์เทียม
 “ขณะนี้ไม่ได้มีคำสั่ง งดรับประทานข้าวมันไก่แต่อย่างใด เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้าวมัน หรือเนื้อไก่ ส่วนเลือดไก่นั้น ก็ยังสามารถรับประทานได้เช่นเดิมเพียงแต่ต้องทำให้สุกก่อน ด้วยการต้มที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 75 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที ซึ่งสามารถฆ่าเชื้ออหิวาเทียมได้ 100 เปอร์เซ็นต์” นพ.โสภณ กล่าว

 นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลในจังหวัดเชียงใหม่ พบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ย.2557 ที่ผ่านมา
 
พบว่าเกิดจากการรับประทานข้าวมันไก่หลายเหตุการณ์ และเมื่อทบทวนรายงานการสอบสวนโรคของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ พบเชื้ออหิวาต์เทียม หรือเชื้อ Vibrio parahaemolyticus ซึ่งปนเปื้อนเลือดไก่ในข้าวมันไก่นั่นเอง ส่วนสถานการณ์โรคของโรคอาหารเป็นพิษ ในปี 2557 ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 128,082 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต และจากการวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ พบว่าตลอดปี 2557 มีการรายงานการระบาดทั้งสิ้น 173 เหตุการณ์ (มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 9,132 ราย) ในจำนวนนี้มี 43 เหตุการณ์ (ร้อยละ 24.8) ที่แหล่งโรคมีความเกี่ยวข้องกับอาหารประเภทข้าวมันไก่ (มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,680 ราย) ทั้ง 43 เหตุการณ์ ได้รับรายงานในช่วงเดือนพ.ค.–ธ.ค.2557

 อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค จึงประสานขอความร่วมมือ ดังนี้ 1.สำนักระบาดวิทยา

ร่วมกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ทำการสอบสวนต่อ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของการปนเปื้อนเชื้อในโรงงานดังกล่าว 2.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐานโรงเชือดไก่ และมาตรฐานการผลิตเลือดไก่ต้มให้ได้คุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ทุกแห่งทั่วประเทศ  3.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำหนดมาตรฐานการส่งอาหาร วัตถุดิบ รวมถึงรถขนส่งอาหารให้มีความสะอาดและระบบควบคุมความเย็นที่ดีได้มาตรฐานให้หน่วยงานต่างๆ ปฎิบัติ 4.กรมอนามัยและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ควรขอความร่วมมือจากองค์กรท้องถิ่นที่รับผิดชอบตลาดสดให้ทำความสะอาดร้านค้าขายไก่สดด้วยคลอรีนเป็นประจำสม่ำเสมอ 5.หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เฝ้าระวังเหตุการณ์ในชุมชนและในโรงเรียน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังพบการระบาดและพื้นที่ที่มีการรับผลิตภัณฑ์จากโรงงาน และ 6.วางแผนดำเนินการประชุมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาเมนูแนะนำสำหรับโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนที่เหมาะสม รวมทั้งเพื่อความเข้มข้นเรื่องวิธีการป้องกันควบคุมโรค ที่อาจเกิดจาอาหารและน้ำในโรงเรียน

 ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากผลการสอบสวนโรคดังกล่าว

พบว่ามีการพบเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่เท่านั้น ส่วนเนื้อไก่และข้าวมันไก่สามารถรับประทานได้ตามปกติ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเลือดไก่ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคที่ถูกวิธี เพราะประชาชนส่วนใหญ่มักคิดว่าเลือดไก่ที่ขายตามท้องตลาดนั้นทำสุกมาแล้ว เลยไม่นิยมต้มซ้ำ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์เทียมได้ นอกจากนี้ พ่อค้าแม่ค้า มักใช้มีดหรือเขียงที่หั่นเลือดไก่ที่ปนเปื้อนเชื้อชนิดนี้ร่วมกับวัตถุดิบอื่นๆ จึงทำให้เกิดการกระจายของเชื้อ  จึงขอแนะนำให้พ่อค้าแม่ค้าควรต้มเลือดไก่ให้สุกก่อนจำหน่าย โดยต้มด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 75 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที ควรแยกเขียงและมีดสำหรับหั่นเลือดไก่ต่างหาก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคอาหารเป็นพิษ

 “ส่วนอาการเบื้องต้นของโรคอาหารเป็นพิษ คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีไข้หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย สำหรับการช่วยเหลือและรักษาผู้ป่วยอุจจาระร่วงเบื้องต้น ทำโดยให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด ไม่งดอาหารรวมทั้งนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม ให้ผสมเหมือนเดิมแต่ปริมาณลดลง และให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร เมื่ออาการโรคอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นพ.โอภาส กล่าาว 


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์