ชี้พ่อ-แม่มีสิทธิ์ปฏิเสธให้ลูกแอดมิท

ชี้พ่อ-แม่มีสิทธิ์ปฏิเสธให้ลูกแอดมิท


ผอ.โรงพยาบาลเด็กแจง หากผู้ป่วยเด็กยังแข็งแรง ไม่อ่อนเพลีย กินข้าว เดิน วิ่ง ได้ตามปกติไม่จำเป็นต้องนอนพักดูอาการที่โรงพยาบาล แต่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง ด้านรองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพชี้ แพทย์มีหน้าที่รักษา แนะนำให้ทางเลือก โดยผู้ป่วยมีสิทธิ์ปฏิเสธการรักษา

วันเสาร์ 29 พฤศจิกายน 2557 เวลา 09:40 น.

จากกรณีแม่เด็กโวยหมอโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ที่เขียนด่าใน "ใบสั่งยา" หลังพยายามแนะนำให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นเด็ก เข้าพักรักษาตัวเพื่อดูอาการที่โรงพยาบาล แต่แม่เด็กปฏิเสธ จึงเกิดวิวาทะ จนกลายเป็นเรื่องบายปลาย ถึงขั้นผู้บริหารโรงพยาบาลต้องออกโรงชี้แจงว่า ได้เรียกแพทย์คนดังกล่าวมาตักเตือนแล้วและวอนขอความเป็นธรรมให้หมอด้วยนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ได้ติดต่อไปยัง พญ.ศิลาพร สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ซึ่งกล่าวถึงกรณีการวินิจฉัยของแพทย์ที่จะให้เด็กพักรักษาตัวในโรงพยาบาลว่า “ในเด็กอายุ 7 ขวบ การวินิจฉัยโดยทั่วไปหากเด็กไม่มีไข้สูง อาการภายนอกปกติ เดินได้วิ่งได้ ตอบคำถามได้รู้เรื่อง กินข้าวได้ตามปกติ แข็งแรงไม่อ่อนเพลียและไม่ได้มีอาการที่บ่งชี้ว่า จะเกิดอาการเปลี่ยนแปลงฉับพลันไปสู่โรคที่ร้ายแรง เช่น โรคไข้เลือดออก ก็ไม่จำเป็นต้องให้นอนพักดูอาการที่โรงพยาบาล แต่หากเด็กมีอาการที่ไม่บ่งชัด แพทย์สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยการเจาะเลือด เพื่อวินิจฉัยโรคที่ชัดเจน แต่หากเด็กมีอาการเบื่ออาหาร มีไข้สูง อ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด อาการเหล่านี้จำเป็นต้องให้แพทย์ติดตามดูอย่างใกล้ชิด

"ทั้งนี้คำวินิจฉัยของแพทย์ที่ให้เด็กต้องนอนพักดูอาการที่โรงพยาบาลนั้น ผู้ปกครองสามารถปฏิเสธได้ หากภายหลังกลับไปพักที่บ้าน แล้วอาการเริ่มดูท่าไม่ดี ก็ให้รีบพากลับมาที่โรงพยาบาล แต่ทั้งนี้หากผู้ปกครองปฏิเสธการเข้าพักรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ แล้วเด็กเป็นอันตราย ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบเอง”พญ.ศิลาพรกล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่ค่อยพบแพทย์กระทำการเช่นนี้บ่อยนักคงต้องรอให้แพทยสภาเข้าดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นเรื่องมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งหลังจากแพทยสภาลงความเห็น คงจะให้คำแนะนำต่อสถานพยาบาลและแพทย์ต่อไป และแจ้งให้กระทรวงที่กำกับดูแลโรงพยาบลทราบอีกครั้ง

"แต่ส่วนตัวมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะเกิดจากความตั้งใจดีของทั้งสองฝ่าย ด้านแพทย์ผู้รักษาอาจเป็นห่วงเด็กต้องการให้เด็กได้รับการรักษาและการบริการตามที่คาดหวัง ด้านผู้ปกครองอาจจะมองอีกมุมหนึ่งทั้งนี้ตามหลักวิชาชีพ แพทย์มีหน้าที่รักษาให้คำแนะนำ ทางเลือกหรือแนวทางในการรักษาซึ่งคนไข้หรือผู้ปกครองมีสิทธิ์ที่จะรับหรือปฏิเสธการรักษาได้ ยกเว้นกรณีฉุกเฉินหรือคนไข้ไม่รู้สึกตัวแพทย์ก็สามารถสั่งการรักษาได้ทันที"นพ.ธเรศกล่าว

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์