ให้สภาวิศวกรรม เช็กแฟลตดินแดง

"ให้สภาวิศวกรรม เช็กแฟลตดินแดง"



แล้วในที่สุดอาคารแฟลตดินแดงก็รอดพ้นจากการทุบทิ้ง หรือซ่อมแซมตัวอาคารที่ถูกสำรวจพบว่าแตกร้าวเป็นอันตรายเสี่ยงต่อการถล่มลงมา จำนวน 20 อาคาร

แต่ให้มีการย้ายออก และให้มีการตรวจสอบสภาพ

อาคารอีกครั้งโดยวิศวกร ในวันที่ 18 พ.ค. หลังจากมีการประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อบ่ายวันที่ 17 พ.ค.

โดยการประชุมบอร์ดการเคหะแห่งชาติ

มีขึ้นในเวลา 13.30 น. เพื่อหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรกับอาคารแฟลตดินแดงจำนวน 20 อาคาร ที่มีการสำรวจพบว่าอาคารมีการแตกร้าว และสนิมกินเหล็กจนคานผุกร่อน

ภายหลังการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แถลงว่า การประชุมบอร์ดได้นำผลการสำรวจเมื่อปี 2546 และในปี 2550 พบว่าอาคารอยู่ในสภาพที่อันตราย ทรุดโทรม

ไม่มีความปลอดภัยอย่างยิ่งในการที่จะอยู่อาศัย

ดังนั้น บอร์ดการเคหะฯจึงเห็นว่า ในเมื่อผลสำรวจยืนยันว่า อาคารไม่มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย แต่ก็จำเป็นที่จะต้องรับฟังความเห็นจากองค์กรวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมด้วย



จึงจะขอความร่วมมือจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย

ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาวิศวกร ซึ่งทั้ง 2 องค์กร ยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ โดยจะมีการตรวจสอบในวันที่ 18 พ.ค.ทันที หากมีผลออกมาอย่างไร จะมีการเรียกประชุมบอร์ดการเคหะฯ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินงานทันที

นพ.พลเดชกล่าวต่อว่า หากผลการสำรวจระบุให้

มีการรื้อถอน ก็จะมีการหาทางช่วยเหลือโดยการหาพื้นที่รองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ 1 ชุด

วางแผนในการแก้ปัญหา ส่วนสถานที่ในการรองรับ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น ยืนยันว่ามีการเตรียมไว้แล้ว และจะใกล้เคียงกับที่พักอาศัยเดิมแน่นอน หากตนเป็นผู้อยู่อาศัย และมีผลการสำรวจออกมาในลักษณะดังกล่าว

บอร์ดการเคหะฯก็แนะนำให้ย้ายออก

ตนจะย้ายออกในทันที แต่สำหรับประชาชนคงต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ เวลานี้ก็คงต้อง ภาวนาไม่ให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา

ด้านนายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม

และความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะ ประธานบอร์ดการเคหะฯ กล่าวว่า หากองค์กรวิชาชีพทางวิศวกรรมทั้ง 2 องค์กรมีความเห็นออกมาตรงกับมติของบอร์ดการเคหะฯ ก็จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบทั้งระบบ



โดยจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลัก

จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไร ก่อนจะนำเรื่องเสนอต่อรัฐบาล คาดว่าจะเกิดความชัดเจนภายใน 1 เดือนแน่นอน แต่หากมีความเห็นที่ต่างออกไปก็จะมีการประชุมบอร์ดการเคหะฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง

ขณะที่ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ บอร์ดการเคหะฯ กล่าวว่า

การเคหะฯจะมีแผนที่ชัดเจนเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบแน่นอน และบอร์ดก็ไม่ได้ มีมติให้ทุบหรือซ่อม แต่บอร์ดเห็นว่าอาคารทั้ง 20 อาคารอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัย ไม่ควรที่จะอยู่อาศัย เห็นควรให้ย้ายออก

ยังไม่มีคำว่าทุบทิ้งหรือซ่อมแซม

ส่วนจะมีการดำเนินการอย่างไรกับอาคารแฟลตดินแดงนั้น ภายใน 1 สัปดาห์จะรู้ผล และจะต้องรับฟังความคิดเห็นจาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาวิศวกร

นายขวัญสรวง อติโพธิ บอร์ดการเคหะฯ กล่าวว่า

มีครอบครัว 1,400 ครอบครัว ที่จะได้รับผลกระทบ และอาศัยอยู่บนอาคารที่มีอายุกว่า 40 ปี ในทางวิชาการแล้ว อาคารที่มีอายุขนาดนี้ไม่น่าไว้วางใจแล้ว จึงจะต้องรีบหาทางช่วยเหลือ อยากทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่ว่า

การเคหะฯจะนำที่ไปทำศูนย์การค้า

แต่ต้องเข้าใจว่าอาคารกำลังจะพัง ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ประเทศไทย ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ในลักษณะที่อาคารที่มีคนอยู่อาศัยจนหมดอายุของอาคารมาก่อน ซึ่งการเคหะฯจะเร่งทำความเข้าใจ และหาทางออก เพราะต่อไปจะมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก



ส่วนบรรยากาศที่แฟลตดินแดง เย็นวันเดียวกัน

ประชาชนต่างเฝ้ารอผลการประชุมบอร์ดการเคหะแห่ง-ชาติ ว่าจะทุบหรือไม่ทุบแฟลตดินแดงอย่างใจจดใจจ่อ โดยเฉพาะแฟลตอาคารที่ 1-8 และ 21-22 ที่เป็นพื้นที่ สีแดง

ชาวบ้านพากันลงจากอาคารมานั่งจับกลุ่มพูดคุย

ถึงเรื่องจะถูกทุบตึก ซึ่งเป็นที่พักอาศัยมานานหลายสิบปีว่า การเคหะฯจ้องจะทุบมานาน ทั้งที่ฝ่ายตรวจสอบอาคารเคยเข้ามาตรวจดูความแข็งแกร่งก็พบว่าโครงสร้างอาคารยังดีอยู่

และลงความเห็นว่าหากจะต้องทุบจริงๆ

ควรให้ความมั่นใจกับชาวบ้านว่าจะได้กลับมาอยู่ในที่พักอาศัยเดิมหรือใกล้เคียงที่เดิม และราคาเช่าพักอาศัยจะต้องไม่แพงไปกว่าเดิม

ซึ่งขณะที่รอฟังคำตอบอยู่นั้น ได้มีนายบุญเกิด โฉมไธสง

เจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ เดินทางมาที่อาคาร 6 และใช้ไม้กระทุ้งพื้นปูนบริเวณระเบียงชั้นที่ 1 ที่แตกหลุดออกจนเห็นเหล็กเส้นภายในเป็นสนิมเกรอะ-กรัง ชาวบ้านที่อยู่บริเวณดังกล่าวได้เข้ามาสอบถามด้วยความสงสัยว่าผลการประชุมออกมาว่าต้องทุบใช่หรือไม่ ซึ่งก็ได้มีการชี้แจงว่ามาตรวจสอบส่วนที่ชำรุดที่อาจจะต้องซ่อม

ด้านนายกิตติพันธ์ บุญเกลือ อดีตเลขานุการ

คณะกรรมการชุมชนเคหะดินแดง แฟลตที่ 1-8 เปิดเผยว่า ในช่วงเช้านายพรศักดิ์ บุญโยดม ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีต ส.ส.เขตดินแดง นายธนา ธีรวินิจ ส.ก.เขตดินแดง



นายวรภาค รุจิโภคา ผอ.เขตดินแดง

ได้เดินทางมาที่แฟลต 8 และแฟลต 29 และได้มีการพูดคุยกับประธานกรรมการชุมชนและชาวบ้าน ถึงเรื่องที่จะมีการทุบแฟลต โดยนายพรศักดิ์พูดว่าเรื่องทุบนั้นคงไม่มีการทุบ แต่คงต้องปรับปรุง และการเคหะฯ จะต้องมาดูแลเอง

พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ได้คิดที่จะทุบแฟลต

ดินแดง แต่นายธนา ธีรวินิจ ส.ก.เขตดินแดง ได้ชี้แจงว่า เมื่อเร็วๆนี้การเคหะแห่งชาติได้ส่งหนังสือมาให้ กทม. ประกาศให้แฟลตดินแดงเป็นพื้นที่สีแดง ที่ไม่มีความปลอดภัยในการพักอาศัย

ก็คือจะต้องถูกทุบทิ้ง นายพรศักดิ์ทำท่าอึกอัก

พูดไม่ออก โยนเรื่องไปให้สถาบันเทคโนโลยีแห่ง-เอเชีย หรือเอไอที ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจพากันโห่ฮาทำเอานายพรศักดิ์ถึงกับเหงื่อตก

นายกิตติพันธ์กล่าวว่า การเคหะฯจ้องทุบแฟลต

ดินแดงมานานแล้ว โดยจะทำเป็นอาคารคอมเพล็กซ์ 30-40 ชั้น มีการขึ้นป้ายไว้ที่สี่แยกประชาสงเคราะห์ หน้าแฟลตอาคาร 8 มีข้อความสวยหรูว่าเพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่า แต่วันนี้นายพรศักดิ์กลับมาพูดว่าไม่มีโครงการนี้อยู่ในระบบ

ตนทราบว่าในอดีตนายพรศักดิ์เป็น

ผอ.โครงการฟื้นฟูแฟลตดินแดง หมายความว่าเคยคิดจะทุบมานานแล้ว โดยนายกิตติพันธ์ได้นำหนังสือขออนุมัติแผนผังแม่บทการพัฒนาที่ดินและฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ที่นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี



ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ส่งถึง รมว. มหาดไทย ลงวันที่ 14 พ.ย.43 ในหนังสือชี้แจงถึงผลการประชุม ครม. วันที่ 7 พ.ย.43 เห็นชอบแผนดังกล่าวตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และหนังสือแสดงรายละเอียดโครงการศึกษาแผนผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่

โดยการเคหะแห่งชาติได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 3 แห่ง

จัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนดินแดงในพื้นที่ 635 ไร่ มายืนยันให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะทุบแฟลตดินแดงตั้งแต่ปี 2543

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังผลการประชุม บอร์ดการเคหะแห่งชาติ

ออกมากล่าวว่ายังไม่แน่ชัดว่าจะต้องทุบหรือไม่ ทุบแฟลตดินแดง โดยมีการโยนไปให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยมาตรวจในวันที่ 18 พ.ค. นายโชติ งามสุจริต อายุ 67 ปี อดีตเป็นผู้รับเหมาช่วงจากบริษัทบ้วนเฮง ก่อสร้าง

ดำเนินการสร้างแฟลตดินแดงอาคารที่ 1-8 เปิด

เผยว่า ตนเป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติและได้ลงมาดูพื้นที่แล้ว น่าจะรู้ดีว่าควรทุบหรือไม่ควรทุบ การโยนให้วิศว-กรรมสถานแห่งประเทศไทยเข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง เป็นการโยนบาปไปให้คนอื่นตัดสิน

หากจะทุบประชาชนจะด่าก็ต้องไปด่าคนอื่น

ส่วนการเคหะฯรอดตัวไป การจะทุบหรือไม่นั้นควรถามประชาชน และให้ความมั่นใจ ไม่ใช่ อยู่ๆจะมาทุบ ทำเอาคนเฒ่าคนแก่ทุกวันนี้นอนไม่หลับ เพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน หากสร้างใหม่ราคาเช่าก็ต้อง แพงขึ้น คนที่นี่คงอยู่ไม่ได้เพราะเป็นคนจนทั้งนั้น ทุก วันนี้ไม่มีความมั่นใจ ไม่มีอะไรรับประกันได้เลย



นายโชติกล่าวว่า แฟลตดินแดงสร้างในปี 2503

โดยมี พ.ท.อร่าม เสรีเรืองฤทธิ์ หัวหน้าโยธากรมประชาสงเคราะห์ ในสมัยนั้น เป็นผู้ออกแบบทั้งหมด ตนเข้ามารับช่วงการก่อสร้างอาคาร 1-8 ที่มองกันว่าเป็นอาคารอันตราย ที่จริงแล้วอาคาร 1-8

ควรจะเป็นอาคารที่แข็งแรงที่สุดมากกว่า

เพราะทำโครงสร้างไว้แข็งแกร่งและใช้อิฐมอญทั้งหลัง ฝังเสาเข็มลึก 18 เมตร สมัยนั้นใช้ไม้พวงเป็นเข็ม แม้จะอยู่ในดิน แต่ก็แข็งแกร่งมาก ตนยินดีให้ข้อมูลผู้ที่เข้ามาตรวจสอบ แต่ก็ยังไม่มั่นใจผลการตรวจสอบ

แม้จะรู้ว่าอาคารยังแข็งแรง แต่เรื่องผลประโยชน์สามารถ

ทำให้ วินิจฉัยไปอีกทางหนึ่งได้ ตนยินดีเดิมพันกับการเคหะฯ ด้วยทรัพย์สินที่มีทั้งหมดกว่า 20 ล้าน รวมทั้งชีวิตตัวเอง อีก 20 ปี แฟลตทั้ง 8 อาคารจะไม่มีวันถล่ม อย่างที่วิตกกัน

ส่วนแฟลตที่อันตรายน่าจะเป็นอาคารที่ 21-22

ที่มีการสั่นไหวเนื่องจากผลจากการขุดอุโมงค์ถนนลอด ใต้ดิน ทำให้ดินด้านล่างซึ่งเป็นดินอ่อน มีช่องว่างเมื่อดินสไลด์ตัวจึงมีการเคลื่อนไหวสั่นสะเทือนมาก



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์