´แฟลตดินแดง´ ทรุดโทรมหนัก เสี่ยงถล่มครืน!

"แฟลตดินแดง ทรุดหนักหวั่นถล่ม"



เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายพิชัย นิมิตยงสกุล อาจารย์ ประจำสำนักวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

เปิดเผยถึงผลการสำรวจสภาพโครงสร้างอาคาร

การเคหะแห่งชาติ (แฟลตดินแดง) จำนวน 87 หลัง พื้นที่ 127 ไร่ รวมทั้งสิ้น 6,000 ยูนิต ซึ่งก่อสร้างมานานและเกิดการทรุดตัว ทางคณะอนุกรรมการป้องกันอุบัติภัยเคหสถาน อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่และสาธารณสถาน

ได้สั่งการให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.)

ดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้างและเสริมกำลังโครงสร้างของแฟลตดังกล่าวที่ชำรุดทรุดโทรม โดยทาง กคช. มอบหมายให้สถาบัน AIT สำรวจความเสียหาย เพื่อวางแผนการซ่อมแซมที่ถูกต้อง ตั้งแต่ต้นปี 50 นั้น พบว่า

จุดที่เป็นพื้นที่สีแดงซึ่งเป็นโซนอันตรายจริง

มีประมาณ 20 อาคาร ได้แก่ แฟลต 1-8 ริมถนนดินแดง ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ จำนวน 672 ยูนิต และแฟลต 21-32 ริมถนนวิภาวดีฯ หรือฝั่งถนนมิตรไมตรี ตรงข้ามกระทรวงแรงงาน จำนวน 640 ยูนิต รวมแล้ว 1,312 ยูนิต

สภาพอาคารมีรอยแตกร้าว

เหล็กเสริมคานเป็นสนิมและผุ บริเวณคานห้องน้ำ ห้องครัว ระเบียงด้านหลัง เหล็กในตัวเสาขึ้นสนิม รับน้ำหนักไม่ได้ โครงสร้างอาคารอ่อนแอ อาคารทรุดตัว เสาหักตัว ทำให้ท่อน้ำแตก อาคารเสียหาย ไม่แน่ใจว่าประชาชนจะอาศัยอาคารแฟลตดินแดงได้อีกนานเพียงใด

อาจารย์ประจำสำนักวิศวกรรมโยธา AIT

กล่าว ต่อว่า สาเหตุของการเสื่อมสภาพเร็ว มาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ การรับน้ำหนักจำนวนมาก ผลจากการสั่นสะเทือนของรถที่วิ่งอยู่บนถนน การสร้างสะพาน และการเจาะอุโมงค์



อย่างไรก็ดี เห็นว่าจากสภาพของอาคาร

ที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 40 ปี และการชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ คิดว่าแฟลตดินแดงตั้งแต่อาคาร 1-8 และ 21-32 จัดอยู่ในขั้นวิกฤติ ถือเป็นอาคารอันตรายที่เสี่ยงต่อการเกิดวิบัติภัย

โดยเฉพาะหากเกิดแผ่นดินไหว

ซึ่งจากการศึกษาประมาณการว่าสภาพของอาคารสามารถรับการเกิดแผ่นดินไหวได้เพียง 5 ริกเตอร์เท่านั้น แต่ทั้งนี้ แม้ไม่เกิดแผ่นดินไหว ก็ไม่มีใครกล้ารับประกันได้ ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง เช่นตึกถล่มเกิดขึ้น

เห็นได้จากการที่ผู้พักอาศัยในแฟลตดังกล่าว

รู้สึกได้ถึงความสั่นสะเทือนที่เพิ่มขึ้นจากในอดีต ที่จะรับรู้การสั่นสะเทือนรู้สึกแค่ช่วงกลางคืน แต่ตอนนี้ตึกสั่นทั้งวันทั้งคืน ผลของการศึกษา ได้เสนอให้ กคช. ดูจุดคุ้มทุน

และความเสี่ยงต่อชีวิตของประชาชนเป็นหลัก

เพราะหากปล่อยให้มีการซ่อมแซมแฟลตดินแดงทั้ง 20 หลังแบบปีต่อปี ก็จะไม่สิ้นสุด ต้องเข้าใจว่าสภาพอาคารย่ำแย่จริงๆ ขนาดสนิมกินเหล็กในแล้ว ถ้าจะซ่อมไปเรื่อยๆ เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วอาจต้องใช้งบประมาณมากเท่ากับการสร้างใหม่

ด้วยซ้ำ เปรียบเหมือนคนไข้ที่เป็นโรคร้าย

ที่รักษาโรคไปเรื่อยๆแต่ไม่หายเสียที จึงอยากให้ กคช. ดำเนินการสร้างแฟลตทั้ง 20 หลังใหม่ดีกว่า เพราะมีประชาชนพักอาศัยอยู่ประมาณ 9,000 ครอบครัว หรือกว่า 30,000 คน

สำหรับอาคารอื่นนอกเหนือจากการสำรวจในครั้งนี้

คาดว่าจะมีสภาพเสื่อมโทรมลงกว่าเดิม จากที่เคยสำรวจไว้ตั้งแต่ปี 45 แน่นอน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีการสำรวจความเสียหายอย่างจริงจัง เพื่อหาแนวทางป้องกันภัยในอนาคตต่อไป



ด้านนายสุรพล จันทร์น้อย รองผู้ว่าการ กคช.

กล่าวว่า จะนำผลสำรวจดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กคช. ในวันที่ 17 พ.ค. นี้ เพื่อพิจารณาถึงการดำเนินงานในขั้นต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นเตรียมงบประมาณสำหรับการซ่อมแซมไว้ 20 ล้านบาท

หรือสร้างอาคารใหม่ตามโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง

คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างมากกว่า 1,000 ล้านบาท หากจะสร้างอาคารใหม่ต้องดำเนินไปภายใต้หลักการ เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยเดิมมีส่วนร่วมในการพัฒนา

และมีสิทธิในการอยู่อาศัยก่อน ทั้งนี้

จะเร่งผลักดันเรื่องโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงกับ ครม. เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะซ่อมแซม หรือสร้างอาคารใหม่ภายในรัฐบาลชุดนี้

ส่วนกรณีที่ผู้เช่าเดิมไม่ต้องการย้ายออก

เพราะติดปัญหาเรื่องค่าเช่าใหม่ที่จะแพงขึ้น จากเดิมที่เสียค่าเช่าตั้งแต่ 300 บาทต่อเดือน จนถึงหลักพัน ขึ้นอยู่กับว่าห้องนั้นๆมีการเปลี่ยนผู้เช่าในสัญญาเช่าหรือไม่ ก็อาจแก้ปัญหาด้วยการสร้างอาคารใหม่ที่มีทั้งตึกที่มีความสูง 8 ชั้น

และตึกสูง 15-20 ชั้น โดยให้ผู้อยู่อาศัยเดิมอยู่ในตึก 8 ชั้น

ส่วนผู้เช่าระดับกลางถึงบนที่เป็นผู้อยู่ใหม่ ก็ให้อยู่ตึกสูง แล้วเก็บค่าเช่าจากผู้อยู่เดิมประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคาดว่าเป็นอัตราที่ผู้เช่ายอมรับได้ ส่วนผู้เช่าใหม่เก็บในอัตราที่สูงกว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ เช่าเดิม

โดยระหว่างการก่อสร้างอาคารใหม่

กคช.จะสร้างอาคารที่พักอาศัยชั่วคราวให้ ณ บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างชั่วคราว 2 ปี ส่วนผู้ ที่ไม่ต้องการอยู่ในอาคารใหม่ กคช.ก็เตรียมค่าชดเชยไว้ให้ 250,000 บาทต่อห้อง และค่าขนย้าย 10,000 บาทต่อห้อง



นายไกร ตั้งสง่า อุปนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย

ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในทางวิศวกรรม ถือว่าแฟลตดินแดงมีอัตราส่วนความเสี่ยงภัยต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ตามปกติวิศวกรจะเผื่อ ค่าความเสี่ยงภัยในการก่อสร้างอาคารไว้ในระดับมาตรฐานคือ 2.50

ซึ่งหากค่าความเสี่ยงภัยอยู่ในระดับ 2

ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แต่หากค่าความเสี่ยงภัยอยู่ต่ำกว่า 2 ถือว่าอาคารนั้นๆไม่มีความปลอดภัย ในส่วนของแฟลตดินแดง 1-8 และ 21-32 มีค่าความเสี่ยงภัยประมาณ 1.02-1.05 ถือว่า

อยู่ในระดับไม่ปลอดภัยและเสี่ยงอันตรายอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีอาคารอีกกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ ที่มีค่าความเสี่ยงภัยต่ำกว่ามาตรฐานและเสี่ยงต่อการถล่ม

สำหรับบรรยากาศตามแฟลตต่างๆ

ที่มีข่าวว่าจะต้องถูกทุบทิ้ง ผู้สื่อข่าวไปสังเกตการณ์ พบว่าที่แฟลต 7 ดินแดง มีบรรดาผู้อยู่อาศัยจับกลุ่มคุยกันเรื่องนี้ราว 10 กว่าคน นางสมบัติ คำเอม อายุ 55 ปี พักอยู่ชั้น 1 แฟลต 7 บอกว่า

อยู่อาศัยมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2508

ค่าเช่า 600 กว่าบาท จนลูกเต้าโต ตัวตึกก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังงง เพราะตอนแรก การเคหะฯบอกว่าจะซ่อมแซม แล้วมาสรุปว่าจะต้องทุบทิ้ง ซึ่งไม่ทราบว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน

ด้านนางตุ่ย แซ่ตั้ง อายุ 38 ปี พักอยู่แฟลต 8 ชั้น 2

เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบข่าวที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าคงจะไม่ย้ายไปง่ายๆ เพราะเห็นพูดอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ลูกยังไม่โต แต่ถ้าจะต้องย้ายจริงๆ ก็คงต้องดูว่าสถานที่ที่จะไป

ไกลจากโรงเรียนหรือไม่

คนที่อยู่ในแฟลตก็คงมีความคิดที่แตกต่างกัน บางคนก็อยากอยู่ เพราะลูกเรียนหนังสือย่านนี้ แต่บางคนยังไม่แน่ใจ เพราะได้ข่าวว่าจะสร้างตึกใหม่ที่สูงกว่าเดิม แต่ช่วงที่สร้างผู้พักอาศัยจะไปอยู่ที่ไหนกัน

ส่วนที่แฟลต 6 ดินแดง ชาวแฟลตต่างพากัน

เฝ้าติดตามข่าวว่าจะต้องถูกทุบแฟลตด้วยหรือไม่เช่นกัน โดยบอกว่ายังไม่ทราบข่าวที่ชัดเจน แต่ความจริงตัวอาคารทั่วไปยังมีสภาพดี มีเพียงบางห้องที่มีรอยร้าวในห้องน้ำ แต่ผู้อยู่อาศัยก็พยายามซ่อมแซม ไม่คิดว่าจะหนักหนาถึงต้องทุบทิ้ง จึงอยากให้การเคหะฯชี้แจงให้ทราบทั่วกัน



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์