ปรับหลักสูตรลดเวลาเรียนซ้ำซ้อน ศธ.ชี้ให้เด็กมีเวลาอยู่กับครอบครัว

ปรับหลักสูตรลดเวลาเรียนซ้ำซ้อน ศธ.ชี้ให้เด็กมีเวลาอยู่กับครอบครัว

14 ส.ค.57 นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
 
เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอและโรดแมปการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน ตามกรอบแนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูปได้นำเสนอ มีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2558 - 2564
 
โดยข้อเสนอในระยะต้น ปี 2558 - 2559 ที่จะต้องเร่งดำเนินการ

ดังนี้ 1.ปรับหลักสูตร ปรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ลดเวลาเรียนที่ซ้ำซ้อน ลดปัญหากวดวิชา และให้เด็กได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

2.ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาที่ตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ จูงใจสร้างค่านิยม ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น พัฒนาระบบค่าตอบแทน สมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา และผลิตและพัฒนาอาจารฯระดับปริญญาเอก

3.ปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจ โดยให้ส่วนกลางดูแลนโยบาย แผน มาตรฐาน ติดตามประเมินผล ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ กระจายอำนาจให้สถานศึกษาบริหารแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมากขึ้น นอกจากนั้น ยังเสนอให้แยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัว

4.พัฒนาครูดี ครูเก่ง

5.พัฒนาระบบและกระบวนการได้มาของผู้แทนและองค์กรครูต่าง

6.ปรับระบบการเข้าศึกษาต่อต้องสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย

7.ส่งเสริมการเรียนการสอนทางไกล

8.ปรับระบบอุดหนุนรายหัวทุกระดับ ทุกประเภท ให้เป็นธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาสให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างแท้จริง

และ 9.จะทำแผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พัฒนากองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งรัด พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีฯ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ สรุปผลการประชุมเพื่อเสนอให้ที่ประชุมองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาเห็นชอบ ในวันที่ 18 ส.ค.57

ก่อนเสนอให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยาพิจารณา เพื่อนำแผนดังกล่าวรองรับการปฏิรูปประเทศต่อไป
ส่วนข้อเสนอให้แยก สกอ.ออกจากกระทรวงศึกษาธิการนั้น เป็นแนวคิดจากหลายๆ ภาคส่วน ที่เห็นว่าปรัชญาการจัดการศึกษาของอุดมศึกษา กับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น จึงน่าจะสามารถแยกออกจากกันได้ เพื่อการบริหารจัดการที่คล่องตัว ส่วนรายละเอียดว่าจะแยกออกมาแป็นกระทรวงใหม่หรือเป็นทบวงภายใต้กระทรวงศึกษาธิการนั้น ต้องให้หน่วยงานต้นสังกัด คือ สกอ.เป็นผู้เสนอ เพราะมีเรื่องของกฎหมายต่างๆ เกี่ยวข้องด้วย


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์