เปิดปมสงสัย-นรต.ร่มไม่กาง

เปิดปมสงสัย-นรต.ร่มไม่กาง

เปิดปมสงสัย-นรต.ร่มไม่กาง : วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์รายงาน

กรณีการเสียชีวิตของนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 69 ที่กำลังศึกษาอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 ในขณะฝึกหลักสูตรกระโดดร่มประจำปีแล้วเกิดอุบัติเหตุร่มไม่กางทำให้ นรต.ตกลงพื้นเสียชีวิต 2 คน ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วก็จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีข้อบกพร่อง หรือผิดพลาดในขั้นตอนใดเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้ในอนาคต

จากเหตุที่เกิดขึ้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

ได้แต่งตั้งให้ พล.ต.ท.ทวีชัย วิริยะโกศล ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยเบื้องต้นเชื่อว่าสาเหตุเกิดที่ "ร่มไม่กาง" เพราะ "สายสลิง" ที่ติดตั้งและปล่อยตัวนักกระโดดร่ม "ขาด" ขณะทำการปล่อยตัว ส่วนจะมีเหตุปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องอีกหรือไม่ คงต้องรอผลการสอบสวนอีกครั้ง
 
"หลักสูตรการโดดร่ม" นี้ เป็นหนึ่งในหลักสูตรย่อยที่บรรจุอยู่ในหลักสูตร นรต.ปี 2549 โดยจัดอยู่ในหมวด "หลักสูตรเลือก"
เป็นการฝึกหลักสูตรพิเศษที่ไม่นับหน่วยกิต จึงไม่บังคับว่าจะต้องเข้ารับการฝึก ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ โดยมีระยะเวลาการฝึก 1 เดือนกว่า

ทั้งนี้ร่มที่ติดอยู่กับตัวจะมี 2 ชุด ชุดแรกเรียกว่า "ร่มกระตุกเอง" จะมีตะขอเกี่ยวกับสลิงบนเครื่องบิน เมื่อกระโดดออกจากเครื่องบินแล้ว ตะขอจะกระตุกทำให้ร่มกางออก และสายที่เกี่ยวร่มไว้จะดีดกลับไปบนเครื่องบิน ส่วนร่มอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า "ร่มสำรอง" หรือ "ร่มช่วยชีวิต" ผู้ฝึกจะต้องดึงเองที่หน้าอกหากร่มหลักไม่กาง....

 "หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ฝึกเหนื่อยที่สุดในบรรดาหลักสูตรนายร้อยตำรวจ เป็นหลักสูตรที่วัดกำลังใจ ซึ่งนักเรียนนายร้อยเกือบทั้งหมดต้องการเข้าฝึกร่มเพื่อเป็นเกียรติประวัติ" นายตำรวจระดับร้อยตำรวจเอก ซึ่งได้รับ "ปีกร่ม" หลังผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนี้ชี้แจง และนายตำรวจผู้นี้เล่าว่า ช่วงที่กระโดดออกไปจากเครื่องแล้วตัวหมุนไปหลายรอบ หัวมึนงงไปหมด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเชื่อว่าแต่ละคนคงคิดไม่ทันว่าจะต้องสำรวจร่มตัวเอง ว่ากางแล้วหรือไม่

"เราต้องฝึกข้อเท้า คอ แขนให้แข็งแรง ส่วนช่วงที่กระโดดจากเครื่องก็ต้องค้ำประตูเครื่องบินแล้วส่งตัวออกไปตามที่ ได้รับการฝึกมา ส่วนร่มจะถูกสายโยงกระตุกให้กางออกเอง เมื่อเรากระโดดออกไปแล้วก็ไม่มีใครช่วยอะไรเราได้ ในช่วงที่เรานับในใจ 4 วินาทีนั้นเราต้องคลำดูว่าร่มกางหรือไม่ หากไม่กางต้องรีบกระตุกร่มสำรองทันที ไม่เช่นนั้นร่มจะกางไม่ทันก่อนลงสู่พื้น"

ส่วนนายตำรวจระดับสารวัตร ยศพันตำรวจโท ที่ผ่านการฝึกหลักสูตรนี้เช่นกัน เล่าว่า ในหนึ่งเดือนกว่าที่เข้ารับการฝึกอบรมจะแบ่งออกเป็นสองช่วง

ช่วงแรก 3 สัปดาห์เป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกาย เรียนรู้อุปกรณ์ ฝึกท่าทางการกระโดด ฝึกกระโดดหอสูง จากนั้นสัปดาห์สุดท้ายจะเป็นการกระโดดร่มจริงจากเครื่องบิน โดยนักเรียนที่จะผ่านหลักสูตรนี้จะต้องกระโดดร่มผ่านทั้งหมด 6 ครั้ง ในแต่ละรอบที่เครื่องบินขึ้นไปจะมีนักเรียนโดดร่มทั้งหมดราวๆ 18 คน นั่งฝั่งละ 9 คน โดยเครื่องบินจะขึ้นไปสูงจากพื้นดินประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก่อนจะบินวนรอบบริเวณจุดที่จะกระโดดลงสองรอบ

รอบแรกนักเรียนชุดแรก 9 คนจะออกมายืนเรียงกันโดยคล้องชุดกระตุกสายร่มเข้ากับลวดสลิง เมื่อเปิดประตูเครื่องบินด้านขวาของตัวเครื่อง ครูฝึกจะส่งสัญญาณให้ทุกคนกระโดดร่มแบบไล่ติดๆ กันไปอย่างรวดเร็วก่อนที่เครื่องจะบินออกนอกจุดที่กำหนดไว้

นายตำรวจระดับสารวัตร เล่าอีกว่า เมื่อลอยตัวลงสู่พื้นก็ต้องทำท่าทางตามที่ได้รับการฝึกมา ไม่เช่นนั้นหากดึงเบรกร่มไม่ดีก็จะลงกระแทกซึ่งก็ไม่ต่างจากกระโดดลงมาจาก ตึก 1-2 ชั้น

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นน้องนั้น นายตำรวจรุ่นพี่ทั้งสองระบุว่า คงต้องรอผลสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า นรต.มีหน้าที่แบกร่มขึ้นเครื่องบินเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนในการเตรียมร่ม เพราะครูฝึกผู้เชี่ยวชาญเตรียมไว้ให้ ส่วน นรต.ที่กระตุกร่มสำรองได้ ก็ถือว่าควบคุม "สติ" ของตัวเองได้ดีมาก เพราะคนที่ไม่เคยกระโดดมาก่อน เมื่อกระโดดร่มครั้งแรกจะไม่รู้ว่าสายร่มกระตุกแล้วหรือไม่ ดังนั้น คนที่ไม่เคยโดดร่มแล้วต้องมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ ก็อาจสติแตกกลางอากาศได้

นอกจากนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเครื่องบินที่ใช้ฝึกว่า เป็นเครื่องที่มีประตูด้านข้างซ้ายขวา เวลากระโดดก็ต้องวิ่งไปท้ายเครื่องแล้วกระโดดออกจากประตูด้านข้างตัวเครื่อง ซึ่งต่างจากเครื่องบินของทหารที่เปิดประตูท้ายเครื่องได้ เวลากระโดดออกไปก็จะเป็นทางตรงไม่ต้องเอามือไปจับประตูแล้วเบี่ยงตัวกระโดด ออกไป

แม้ว่าหลักสูตรนี้จะฝึกอบรมที่หนักหนาสาหัสและมีภาคปฏิบัติจริงที่เสี่ยงตาย ก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็เป็น "ค่านิยม" อย่างหนึ่งของการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจไปแล้ว ถึงขนาดที่ว่าคว้า "ดาว" ติดบ่าได้แล้วแต่ถ้าไม่มี "ปีก" ติดอก ก็ถือว่าความเป็น "นายร้อยตำรวจ" ยังไม่สมบูรณ์

.....................

(หมายเหตุ : เปิดปมสงสัย-นรต.ร่มไม่กาง : วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์รายงาน)


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์