หมอไทยเจ๋ง.! ผ่าแยกแฝด หัวใจและตับติดกัน ครั้งแรกของโลก

หมอไทยเก่ง ผ่าแยกแฝด


ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 5 เม.ย. โดย ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เป็นประธานนำทีมแพทย์แถลงข่าว "ศิริราชประสบความสำเร็จผ่าตัดแยกแฝดสยามที่มีหัวใจและตับติดกัน รอดชีวิตทั้งคู่เป็นครั้งแรกของโลก"

โดย ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย เนื่องจากทีมแพทย์ของศิริราชได้ผ่าตัดช่วยชีวิตเด็กฝาแฝดเพศหญิงที่มีลำตัว หัวใจ และตับติดกันเป็นผลสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะที่ผ่านมาการผ่าตัดในลักษณะของฝาแฝดส่วนใหญ่มักจะไม่รอดชีวิต หรือรอดชีวิตเพียงคนเดียว ที่สำคัญไม่ได้มีกรณีที่มีหัวใจ ตับติดกัน และจากการสืบค้นรายงานทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันพบว่ายังไม่เคยมีการยืนยันความสำเร็จเหมือนกับกรณีที่คณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราชได้ผ่าตัดเด็กแฝดที่มีหัวใจ ตับติดกัน แล้วรอดชีวิตทั้งคู่สำเร็จ

ดังนั้น ความสำเร็จครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกของโลก


ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า


โรงพยาบาลศิริราชได้รับการส่งต่อคนไข้คือนางอุษา ทิเย็นใจ มาจากโรงพยาบาลสมุทรสาคร เมื่อต้นปี 2549 หลังจากที่ตรวจพบว่าการตั้งครรภ์ของนางอุษา ซึ่งขณะนั้นมีอายุครรภ์ประมาณ 26 สัปดาห์ เป็นทารกฝาแฝดที่มีตัว หัวใจ และตับติดกัน ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย กรณีดังกล่าวถือว่าพบได้น้อยมาก ประมาณ 1 : 50,000-1 : 100,000 ของการตั้งครรภ์ปกติ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และน่าสนใจ ไม่เฉพาะวงการแพทย์เท่านั้น แต่ยังเป็นที่สนใจของประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย

เนื่องจากแฝดที่มีลำตัวติดกัน ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลกคู่แรก คือ แฝดอิน-จัน ซึ่งเกิดในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2354 หรือเกือบ 200 ปีที่ผ่านมา และได้รับฉายาว่าแฝดสยามนั้น มีแต่เฉพาะตับที่ติดกันเท่านั้น

คณบดีคณะแพทยศาสตร์กล่าวอีกว่า นางอุษามารดาของเด็กแฝด ได้คลอดเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2549 โดยการผ่าตัดเมื่ออายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ แฝดทั้งคู่มีน้ำหนักแรกคลอดรวมกันประมาณ 3,570 กรัม มีลำตัวด้านหน้าติดกันตั้งแต่บริเวณทรวงอกลงมาถึงผนังหน้าท้อง จากการตรวจโดยละเอียดพบว่ามีตับติดกันเป็นบริเวณกว้างและยังมีหัวใจเชื่อมต่อกันด้วย หลังคลอดทารกได้รับการตั้งชื่อว่า ด.ญ.ปานวาด และ ด.ญ.ปานตะวัน และได้รับการดูแลรักษา จนกระทั่งทีมแพทย์ได้ตัดสินใจผ่าตัดแยกร่างเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2550

ในขณะที่ทารกทั้งคู่อายุได้ 8 เดือน มีน้ำหนักตัวรวมกัน 10.9 กิโลกรัม หลังจากผ่านการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะตับที่ติดกันเป็นบริเวณกว้างแล้ว ยังมีหัวใจเชื่อมต่อกันด้วย โดยหัวใจห้องบนขวาของแฝดพี่คือ ด.ญ.ปานตะวัน เชื่อมกับหัวใจห้องบนซ้ายของแฝดน้องคือ ด.ญ.ปานวาด และมีเลือดจาก ด.ญ.ปานตะวันไหลผ่านมายัง ด.ญ.ปานวาด ตลอดเวลา ทำให้คณะแพทย์ไม่แน่ใจว่าหัวใจทั้งสองดวงมีการทำงานโดยพึ่งพากันหรือไม่ และการแยกร่างโดยการตัดรอยเชื่อมต่อของหัวใจ อาจเป็นอันตรายต่อฝาแฝดคนหนึ่งคนใดได้

จนในที่สุดกุมารแพทย์ต้องสวนหัวใจด้วยสายสวนติดบัลลูน เข้าไปปิดบริเวณรอยเชื่อมต่อของหัวใจ เสมือนเป็นการแยกหัวใจชั่วคราว ปรากฏว่าไม่เกิดผลเสียต่อทารกทั้งสองแต่อย่างใด


สำหรับขั้นตอนการผ่าตัด เริ่มจากการผ่าตัดแยกหัวใจ


ด้วยการหนีบปิดส่วนเชื่อมต่อของหัวใจ จากนั้นจึงตัดรอบเชื่อมต่อของหัวใจ ซึ่งเป็นรูขนาดประมาณ 1 ซม. และมีเลือดไหลผ่านตลอดเวลากระทั่งสำเร็จ จากนั้นจึงผ่าตัดแยกตับ ซึ่งมีระบบท่อน้ำดีแยกกัน และต้องทำด้วยความระมัดระวังในการควบคุมไม่ให้มีเลือดออก เพราะทารกทั้งคู่ยังอ่อนแอและเพิ่งผ่านการผ่าตัดหัวใจมาใหม่ๆ แต่ในที่สุดก็ผ่านไปได้

กระทั่งถึงขั้นตอนสุดท้าย คือการแยกร่างทารกทั้งคู่ออกจากกันโดยสิ้นเชิงสำเร็จ จากนั้นนำทั้งคู่ ไปเย็บแผลปิดโดยทีมศัลยแพทย์ตกแต่ง เพื่อให้แผลดูดีและสวยงามที่สุด กระบวนการผ่านตัดใช้เวลาทั้งสิ้น 12 ชั่วโมงเศษ ใช้ทีมงานทั้งสิ้น 61 คน

เป็นวิสัญญีแพทย์ 14 คน
ศัลยแพทย์หัวใจ 5 คน
ศัลยแพทย์ ตกแต่ง 7 คน
กุมารศัลยแพทย์ 5 คน และ
พยาบาลห้องผ่าตัด 30 คน

"หลังการผ่าตัด ทารกทั้งคู่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในห้องไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็หายใจเองได้ และกลับมาเป็นเด็กปกติ 2 คน ที่แยกร่างกายจากกัน ขณะนี้เป็นเวลาประมาณ 7 สัปดาห์หลังผ่าตัด ทารกทั้งคู่แข็งแรงดี ปัจจุบัน ด.ญ.ปานตะวัน มีน้ำหนัก 5,735 กรัม ด.ญ.ปานวาด 4,900 กรัมและอยู่ในขั้นการฝึกพัฒนาการบางอย่างที่ช้าไปในช่วงที่ลำตัวติดกัน เช่น การให้อาหาร และจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ในเร็วๆนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทั้งหมด โรงพยาบาลศิริราชเป็นผู้รับผิดชอบ หากคิดเป็นมูลค่าในการใช้จ่าย ตั้งแต่เด็กคลอดออกมาจนถึงปัจจุบันตกประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อคน" ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกลกล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า ทารกที่เติบโตขึ้นและมีหัวใจที่แบ่งกันมามีข้อควรระวังอย่างไร


ผศ.นพ.มงคล เลาหเพ็ญแสง กุมารศัลยแพทย์ หัวหน้าทีมผ่าตัดกล่าวว่า หัวใจที่มีความผิดปกติคือ ด.ญ.ปานวาดซึ่งห้องหัวใจบนมีช่องรั่วแต่ไม่รุนแรง เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถมาปิดช่องที่รั่วได้ภายหลัง ส่วน ด.ญ.ปานตะวันไม่มีปัญหา ในส่วนของตับก็ไม่มีข้อที่น่ากังวล เพราะมีขนาดใหญ่และเติบโตได้

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายถาวรและนางอุษา ทิเย็นใจ พ่อแม่ของเด็กแฝด ได้อุ้ม ด.ญ.ปานตะวันและ ด.ญ.ปานวาดมาร่วมแถลงข่าวด้วย โดยนายถาวร กล่าวว่า ดีใจที่ลูกรอดชีวิตมาได้ ตอนที่แพทย์ผ่าตัดรู้สึกรอนานมาก รอจนกลัวว่าลูกจะเป็นอะไร แต่เมื่อสำเร็จก็ดีใจมาก ขอขอบคุณแพทย์ทุกคนที่ช่วยชีวิตลูก ขณะที่นางอุษากล่าวว่า ครั้งแรกเมื่อทราบว่าลูกเป็นแฝดและตัวติดกันตั้งแต่ทั้งคู่อยู่ในท้อง ตอนนั้นเสียใจมากที่ลูกไม่เหมือนเด็กคนอื่นและสงสารมาก ร้องไห้ไม่กินข้าวอยู่หลายวัน

แต่เมื่อมาตรวจที่โรงพยาบาลศิริราช มีหมอ พยาบาลดูแลอย่างดี เมื่อคลอดแล้วคณะแพทย์ก็ดูแลโดยตลอด และแจ้งให้ทราบว่าระยะห่างของหัวใจตั้งแต่คลอด จนถึงช่วงเวลาก่อนผ่าเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จึงตัดสินใจให้แพทย์ผ่าทั้งคู่ เพราะสงสารลูก เช่น เวลานอน แฝด คนน้องคือ ด.ญ.ปานวาด ซึ่งตัวเล็กกว่า จะตัวลอยจากที่นอนมาก และหัวของลูกมีลักษณะแบนมาก เพราะนอนได้ข้างเดียว

เมื่อปรึกษาแพทย์แน่ใจแล้วจึงให้ผ่าตัดแยก ตอนแรกแพทย์ให้ทำใจไว้บ้างว่าผลการผ่าตัดอาจทำให้ต้องเสียทั้งคู่หรือเสียคนใดไป แต่เมื่อผลการผ่าตัดออกมาสำเร็จก็ดีใจมาก ที่ทั้งคู่มีชีวิตรอด ขอขอบคุณแพทย์ พยาบาล ที่ให้กำลังใจมาโดยตลอด ตอนนี้รักลูกมากและอยากอยู่กับทั้งคู่ตลอดเวลา



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์