อีกปมกระทิงอุทยานแห่งชาติกุยบุรีตาย - คาดโรคระบาด

อีกปมกระทิงอุทยานแห่งชาติกุยบุรีตาย - คาดโรคระบาด



อีกปมกระทิงอุทยานแห่งชาติกุยบุรีตาย - คาดโรคระบาด

 ความคืบหน้าการหาเหตุกระทิงที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตายไปถึง 17 ตัว จากฝูงที่มี 22 ตัว เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 ธ.ค. นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี พร้อมด้วยพ.ต.ท.พีรพล ภู่นิติ ผบ.ร้อย ตชด.ที่ 145 ค่ายพระมงกุฎ ร.ท.ณรงค์ชัย แตงอ่อน หัวหน้าชุดประสานงานโครงการพระราชดำริบ้านรวมไทย นำกำลังเจ้าหน้าที่เกือบ 20 นาย เข้าตรวจสอบบริเวณพื้นที่โดยรอบที่พบซากกระทิงตัวที่ 4 ข้างห้วยกุญชร ม.7 บ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี 

สังเกตเห็นพื้นดินบริเวณดังกล่าวมีร่องรอยการฝังกลบยาวประมาณ 3 เมตร มีเศษขนสัตว์ตกกระจัดกระจายเป็นที่น่าสงสัย นายอำเภอกุยบุรีจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่นำรถแบ๊กโฮมาขุดลงไปลึกประมาณ 5 เมตร ถึงกับตะลึงเมื่อพบซากกระทิงเพศผู้ หนักประมาณ 1.5 ตัน อายุประมาณ 12 ปี ถูกฝังเสียชีวิตในสภาพเน่าเปื่อย ส่วนหัวและเขายังอยู่ครบ คาดว่าตายมาแล้วราว 20 วัน จึงประสานไปยังพ.ต.ท.มนัส ฑิตะลำพูน รอง ผกก.(สส.) สภ.บ้านยางชุม เข้าร่วมตรวจสอบก่อนลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

 นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี กล่าวว่า จากที่ร่วมกับชาวบ้านนำหัวกระทิง 17 ตัว ตั้งใจไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์จนสังเกตว่าเขาแก่กระทิงตัวที่ 4 หายไป จึงไปตรวจจุดที่พบซากกระทิงอีกครั้ง แต่ได้พบตัวที่ 18 เพิ่มอีก 1 ตัว ซากกระทิงตัวดังกล่าวไม่มีใครรายงานให้ทราบและใครเป็นผู้กลบฝังเหมือนมีเงื่อนงำ จึงแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน

 วันเดียวกัน นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทส. เปิดเผยว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากทีมแพทย์และทีมวิจัยของกรมอุทยานฯ กรมปศุสัตว์และมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ซากกระทิง พบว่ากระทิงที่ตายทั้ง 17 ตัวน่าจะตายจากโรคระบาดคือโรคคอบวม ไม่ใช่ตายจากสารพิษ โรคคอบวมของกระทิงน่าจะติดมาจากสัตว์ของชาวบ้านที่ลักลอบนำมาเลี้ยงในพื้นที่ โดยเฉพาะแกะกับวัว ขณะนี้ประมาณร้อยละ 80 เชื่อได้ว่าตายจากโรคระบาดไม่ใช่สารพิษ 


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์