โรงพยาบาลจุฬาฯ แถลง สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์แล้ว

โรงพยาบาลจุฬาฯ แถลง สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์แล้ว


 "สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกสิ้นพระชนม์แล้ว/His holiness somdet phra Nyanasamvara, supreme patriarch of Thailand passed away in peace on 24 Oct 2013 evening."

 ทั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระชันษาครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา สำหรับพระศพสมเด็จพระสังฆราช จะเคลื่อนไปประดิษฐาน ณ ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร

 ก่อนหน้านี้ วันเดียวกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 8 ระบุว่า วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำลง คณะแพทย์ ฯ และพยาบาล ยังคงถวายพระโอสถ และเฝ้าถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

 ต่อมา ร.พ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 ความว่า "วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์แล้ว เมื่อเวลา 19.30 น.ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน"

 นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยพรุ่งนี้เคลื่อนพระศพสมเด็จพระสังฆราชฯ กลับวัดบวรฯ เวลา 12.00 น. พระราชทานน้ำหลวงทรงพระศพ เวลา 13.00 น. โดยรัฐบาลจะประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีไว้ทุกข์ ถวายความอาลัย 15 วัน ลดธงครึ่งเสา 3 วัน

โรงพยาบาลจุฬาฯ แถลง สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์แล้ว

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีคุณูปการอันทรงคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ ในฐานะประมุขสงฆ์
ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจและพระศาสนกิจได้ครบถ้วน ทรงเป็นผู้ปกครองอันเที่ยงธรรมมั่นคงในพระธรรมวินัยยิ่ง

สำหรับหนังสือพิมพ์ข่าวสด พระองค์ทรงมีเมตตาประทานลายพระหัตถ์คำว่า "มงคลข่าวสด" ประดับเป็นหัวคอลัมน์เป็นประเดิม เมื่อครั้งเปิดคอลัมน์นี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2542

ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันศุกร์เดือน 11 ขึ้น 4 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2456 เจริญ คชวัตร ได้ถือกำเนิด ณ ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายน้อย และ นางกิมน้อย คชวัตร ทรงเป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนบุตรชาย 3 คนของครอบครัวตระกูลคชวัตร

พระชันษาย่าง 14 ปี ถือบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเทวสังฆาราม 

ต่อมา ทรงย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเสน่หา อ.เมือง จ.นครปฐม 2 พรรษา ก่อนจะย้ายมาศึกษาต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงครองพระอาราม

พระองค์ทรงสอบได้ประโยคต่างๆ มาโดยลำดับจนถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค 

พ.ศ.2476 ทรงกลับไปอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม มีพระครูอดุลยสมณกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

ครั้นถึงช่วงออกพรรษา ทรงกลับมาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อญัตติเป็นธรรมยุต ณ วัดบวรนิเวศฯ มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ครั้งยังเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

ได้รับฉายาว่า สุวัฑฒโน อันมีความหมายว่า ผู้เจริญปรีชายิ่งในอุดมปาพจน์ 

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศฯ สมเด็จพระญาณสังวรได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด และต่อมาได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิเสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพุทธศักราช 2507 

ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยลำดับ พ.ศ.2490 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโสภณคณาภรณ์ พ.ศ.2495 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในพระราชทินนามเดิม

พ.ศ.2498 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามเดิม พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์

พ.ศ.2504 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ พระสาสนโสภณ พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระญาณสังวร

พ.ศ.2532 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระองค์แรกที่ใช้พระนามเดิม และทรงให้ถือเป็นแบบธรรมเนียมตราในกฎมหาเถรสมาคมสืบมา

เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่างๆ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และสันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรก ที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยการสร้างวัดพุทธรังษี ณ นครซิดนีย์ ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก

สถาบันการศึกษาของชาติหลายแห่ง ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถและคุณค่าแห่งงานพระนิพนธ์ ตลอดถึงพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ จึงได้ทูลถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นการเทิดพระเกียรติหลายสาขา

ในระยะหลัง สมเด็จฯ ทรงมีพระอาการประชวร ต้องย้ายไปประทับรักษาพระอาการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมีการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อปฏิบัติศาสนกิจแทนพระองค์

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์