สกศ.เผยผลสำรวจ เด็กประถม ใช้แท็บเล็ตแล้วผลการเรียนดีขึ้น 67%

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 กันยายน ว่า 

สกศ.ได้สำรวจความคิดเห็นเพื่อติดตามผลนโยบายแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา โดยสำรวจด้วยการโฟกัสกรุ๊ป และการส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่าง  5 กลุ่ม  ดังนี้  1. นักเรียนชั้น ป.1-ป.6 จำนวน  34,257 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนที่เคยใช้แท็บเล็ตจำนวน  7,916 คน  2.ครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 7,916 คน 3.ผู้บริการสถานศึกษา 1,424 คน  4.ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา 367 คน และ 5.ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน  25,762 คน

    น.ส.ศศิธารา กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจพบว่า นักเรียนที่เคยใช้แท็บเล็ตทั้ง 7,916 คนนั้น  ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90.2 รู้สึกชอบแท็บเล็ตที่ได้รับ 

โดยนักเรียนจากภาคกลางรู้สึกชอบแท็บเล็ตมากที่สุดถึง ร้อยละ 93.9 ขณะที่นักเรียนภาคเหนือชอบแท็บเล็ต ร้อยละ  87.2   และถ้าแยกตามสังกัด พบว่า นักเรียนมัธยมในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ทั้ง 100% ชอบเท็บเล็ต รองลงมาเป็นนักเรียนของโรงเรียนเอกชน ร้อยละ 98 ส่วนนักเรียนโรงเรียนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ชอบแท็บเล็ต ร้อยละ 64.3

เลขาฯ สกศ. กล่าวต่อว่า  นักเรียนร้อยละ 89.7 ยังรู้สึกว่า แท็บเล็ตที่แจกไปใช้งานง่าย

   โดยนักเรียนจากภาคกลางรู้สึกว่า แท็บเล็ตใช้งานง่ายมากสุด ร้อยละ 93.1 ส่วนนักเรียนจาก กทม.รู้สึกว่า แท็บเล็ตใช้งานง่ายน้อยที่สุด ร้อยละ 81.7 แยกตามสังกัด พบว่า นักเรียนมัธยมในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 100% รู้สึกแท็บเล็ตใช้งานง่าย  และนักเรียนจากโรงเรียนสังกัด อบจ.  รู้สึกว่าแท็บเล็ตใช้งานง่ายน้อยที่สุด ร้อยละ 69  


  “ผลสำรวจพบด้วยว่า นักเรียนร้อยละ 67.9 ผลการเรียนดีขึ้นหลังใช้แท็บเล็ต  เป็นนักเรียนจากภาคกลางมากที่สุด ร้อยละ 76.8  รองลงมาเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ร้อยละ 65.2 ภาคเหนือ  ร้อยละ 66.4  กรุงเทพฯ ร้อยละ 63.8 และ ภาคใต้ ร้อยละ 61 แยกตามสังกัดพบว่า นักเรียนจากโรงเรียนตระเวนชายแดน(ตชด.) ผลการเรียนดีขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 89.3 รองลงมาเป็น ร.ร.เอกชน ร้อยละ 87.1  ร.ร.ประถมศึกษาสังกัด สพฐ. ร้อยละ 66.2  ร.ร.สังกัด กทม.ร้อยละ 64.6 ร.ร.สังกัดเทศบาลนคร ร้อยละ 62.7” เลขาธิการ สกศ. กล่าว 

  เลขาธิการ สกศ. กล่าวด้วยว่า ส่วนการสำรวจความเห็นจากกลุ่มครู  พบว่าการนำแท็บเล็ตมาใช้ในการเรียนการสอน ทำให้พฤติกรรมนักเรียนเปลี่ยนไป   มีความกระตือรือร้น ขยันเรียนมากขึ้น ขยันทำการบ้านและมีการช่วยเหลือให้คำแนะนำระหว่างเพื่อนในการใช้แท็บเล็ตด้วย  สอดคล้องกับความเห็นจากกลุ่มผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งระบุว่า หลังจากนักเรียนได้ใช้แท็บเล็ตแล้ว ขยันเรียน ขยันทำการบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา ระบุว่า มีปัญหาในการดูแลรักษาเครื่องทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีประจำโรงเรียน รวมถึงปัญหาในการส่งเครื่องไปซ่อมแซมจากศูนย์ซ่อมแซมที่ทางราชการจัดไว้ให้ 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์