เปิดโมเดลแผนจัดการน้ำเขื่อนกาญจน์

  บทเรียนจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ในจ.กาญจนบุรี เมื่อสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในพื้นที่นี้ กระทั่งกลายเป็นโมเดลหนึ่งในการนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนใหญ่อย่างน่าศึกษายิ่ง         

ปัญหาน้ำท่วมครั้งนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากแหล่งผลิตก๊าซบงกชในอ่าวไทยมีปัญหาต้องลดการผลิตลงที่ 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อมาแหล่งผลิตก๊าซยาดานา ในสหภาพพม่า มีปัญหาเช่นกันทำให้ก๊าซหายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตรวมทั้ง 2 แหล่งหายไป1,750 ล้านลูกบาศก์ฟุตหรือคิดเป็นกำลังผลิตรวม 10,000 เมกะวัตต์ซึ่งเกินความสามารถของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและพลังความร้อนร่วมที่ขนานอยู่ในระบบในการจะผลิตกระแสไฟฟ้า

กระทั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จึงได้ให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่ง เร่งเดินเครื่องช่วยระบบ
 
เพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ดังนั้น เขื่อนศรีนครินทร์  จ.กาญจนบุรี จึงต้องเดินเครื่องทั้ง 5 เครื่องตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม2552 ในช่วงดังกล่าวประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนท่าทุ่งนา ตลอดจนถึงตัว จ.กาญจนบุรี จึงต้องเผชิญกับภาวะน้ำมากในช่วงนั้น  
    
กล่าวคือท้ายน้ำเขื่อนที่จ.กาญจนบุรีจะสูงขึ้นกว่าเดิม 2.70 เมตรสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้น โดยไปสิ้นสุดในวันที่ 19 สิงหาคม แต่ก็ทำให้พื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ ได้รับความเสียหายทางด้านที่อยู่อาศัย เกษตรกรรมใน 14 ตำบล รวม 2 อำเภอคือ อ.ศรีสวัสดิ์อ.เมืองคิดเป็นมูลค่า 16.5 ล้านบาท 
    
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้ กฟผ. ต้องออกมาขอโทษประชาชนในพื้นที่ริมน้ำ หลังได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำดังกล่าว และขอบคุณการเสียสละที่ช่วยให้ระบบไฟฟ้าของทั้งประเทศ สามารถรักษาระบบไว้ได้
    
ทว่าเหตุการณ์ครานั้นได้กลายเป็นที่มาของการตื่นตัวต่อการบริหารและจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือลุ่มน้ำแม่กลองเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร อุทัยธานี และตาก มีเขื่อนแม่กลองของกรมชลประทาน เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ สำหรับผันน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรของลุ่มน้ำ และเขื่อนวชิราลงกรณ์   จ.กาญจนบุรี ทำหน้าที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร การอุปโภค-บริโภค

เปิดโมเดลแผนจัดการน้ำเขื่อนกาญจน์

การจัดการแผนการระบายน้ำจึงต้องดำเนินการทั้งแผนการระบายน้ำระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงแผนการระบายน้ำสำหรับฤดูแล้งอย่างแยบยล
 
เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียงสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี บางส่วนของ จ.สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร อุทัยธานี และตาก ก็ได้พิจารณาถึงการรับน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ และควบคุมการใช้น้ำโดยตรงมากขึ้น  
    
น่าสนใจว่ามีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และนำเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบ ก่อนจะนำไปปฏิบัติ โดยมีกรมชลประทานเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดช่วงฤดูแล้งเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการระบายน้ำจากเขื่อนได้อย่างเหมาะสมจนสามารถระบายน้ำจากเขื่อนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า 
    
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำฝน(กรกฎาคม-ธันวาคม) กรมชลประทานจะเป็นผู้ดูแลติดตามสถานการณ์น้ำฝนที่ตกเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนทราบ ถึงแผนการระบายน้ำในช่วงดังกล่าวเป็นรายสัปดาห์และรายเดือน เพื่อเป็นแนวทางในการระบายน้ำจากเขื่อน ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน  
 
   
ที่สำคัญยังมีคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่มีอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธาน
 
ทำหน้าที่ร่วมกันพิจารณาปริมาณน้ำที่เหมาะสม ที่จะต้องระบายออกจากเขื่อนเป็นรายวันและรายสัปดาห์ ตามมติของคณะอนุกรรมการและแจ้งแผนการระบายน้ำเป็นรายสัปดาห์ให้ กฟผ.ทราบเพื่อประมวลผล หากเกิดวิกฤติน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าภาวะปกติ 
    
"เราตระหนักถึงการระบายน้ำในลุ่มน้ำแม่กลองที่เป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ครอบคลุม สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร อุทัยธานี และตาก มีการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ จึงมีความจำเป็นต้องบริหารการปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ต้องสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำของลุ่มน้ำ การจัดการแผนการระบายน้ำ ต้องมีการวางแผนการระบายน้ำระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงแผนการระบายน้ำสำหรับฤดูแล้งอย่างรอบคอบ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียง" บุญอินทร์ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) กล่าว
    
เช่นเดียวกับชัยวัฒน์ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีมองว่า การที่ จ.กาญจนบุรี มีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่

จึงต้องให้ความสำคัญต่อการติดตามสถานการณ์ทั้งจากปัญหาน้ำท่วม และแผ่นดินไหวที่อาจจะมีผลกระทบมาถึงโครงสร้างของตัวเขื่อน จะเห็นได้ว่าจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม เพื่อจัดทำข้อมูลติดตามสถานการณ์ ประสานงานกับเขื่อนทั้งเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ รวมทั้งชลประทานที่ 13 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจุดเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุขึ้นก็จะประชาสัมพันธ์ให้แก่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัดให้ได้รับทราบข้อมูล รวมถึงการป้องกันและการเคลื่อนย้ายประชาชนในกรณีน้ำหลาก หรือเกิดเหตุสุดวิสัยที่มาจากเขื่อน 
    
นี่จึงเป็นแนวทางสำคัญของการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมีที่มาจากบทเรียนของการเร่งผันน้ำในอดีต

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์