เขย่าเสฉวนสะเทือนไทยลำปางระทึก5ครั้งติด

ภาพจาก เดลินิวส์ภาพจาก เดลินิวส์


เมื่อเวลา 18.00 น. วันนี้ (21 เม.ย.)สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปรายงานเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงว่า เกิดขึ้นถึง 12 ครั้ง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนของจีน ทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา 

มีผลให้รอยเลื่อนต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือเกิดการขยับตัว   โดยล่าสุดเมื่อเวลา 14.43 น. จุดศูนย์กลางที่ อ.งาว จ.ลำปาง แผ่นดินไหวขนาด 1.6 ริคเตอร์ 

ส่วนก่อนหน้านี้ 10 ครั้งตลอดทั้งวันได้แก่ เมื่อเวลา 11.23 น. ที่ SULAWESI, INDONESIA   ขนาด4.5  ริคเตอร์ ลึกจากพื้นดิน 16 กม. เมื่อเวลา 10.52 น. ที่ อ.งาว จ.ลำปาง  ขนาด  1.7 ริคเตอร์ เมื่อเวลา 10.07 น. ที่ TAIWAN REGION  ขนาด 4.5 ริคเตอร์ ลึกจากผิวดิน  67 กม.  เมื่อ เวลา 09.43 น. ที่ อ.งาว จ.ลำปาง  ขนาด 2.5 ริคเตอร์  เวลา08.30  น. ที่บริเวณพรมแดนพม่า-จีน  ขนาด 4.1 ริคเตอร์ เมื่อเวลา 08.09 น. ที่ อ.งาว จ.ลำปาง 3.1 ริคเตอร์ เมื่อเวลา 08.01 น. อ.งาว จ.ลำปาง ขนาด 1.7   ริคเตอร์

เมื่อเวลา  06.09  น. ที่ TAIWAN REGION  ขนาด  4.4 ริคเตอร์  ลึกจากผิวดิน 10 กม. เมื่อเวลา 02.38  น. ที่ SOUTHWESTERN RYUKYU ISL., JAPAN ขนาด 4.4 ริตเตอร์ ลึกจากผิวดิน  10 กม. และเมื่อ 00.04  น. ที่ อ.ปง จ.พะเยา วัดได้  1.7 ริคเตอร์ 

ทำให้ในวันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจ.พะเยาและจ.ลำปาง ได้เฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินตลอดทั้งวัน แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหาย ประชาชนแค่รับรู้ความสั่นไหวตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะผู้อยู่บนตึกสูงรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะที่อ.งาว วันนี้แผ่นดินไหวติดๆกันถึง 5 ครั้ง แต่ก็ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนเกิดความหวาดกลัว จนบางรายออกมายืนกันหน้าโรงแรมที่พักเพื่อตรวจสอบ  เจ้าหน้าที่โรงแรมต้องคอยให้คำแนะนำว่าไม่มีเหตุอะไรรุนแรง สามารถท่องเที่ยวได้ตามปกติ

สำหรับรอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทยนั้น จากรายงานของกรมทรัพยากรธรณีวิทยา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังทั้งหมด 14 รอยเลื่อน  โดยกระจายอยู่ใน 22 จังหวัด ได้แก่

          1. รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่านอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 101 กิโลเมตร

          2. รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่านอำเภอเทิง อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย  ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 57 กิโลเมตร       

          3. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่านอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 29 กิโลเมตร

          4. รอยเลื่อนเมย วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ พาดผ่านตั้งต้นจากลำน้ำเมย ชายแดนพม่า ต่อไปยังห้วยแม่ท้อ ลำน้ำปิง จังหวัดตาก ไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และสิ้นสุดที่จังหวัดอุทัยธานี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร             

          5. รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ในแนวโค้งไปทางทิศตะวันออก มีความยาวประมาณ 61 กิโลเมตร          

          6. รอยเลื่อนเถิน พาดผ่านอำเภอแม่พริก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ในแนวโค้งในไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 103 กิโลเมตร

          7. รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่านอำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทางด้านทิศเหนือของรอยเลื่อนท่าสี มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร

          8. รอยเลื่อนปัว พาดผ่านพื้นที่อำเภอสันติสุข อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง และอำเภอทุ่งช้าง ของจังหวัดน่านในแนวเหนือ-ใต้  ด้วยความยาวประมาณ  130 กิโลเมตร    

          9. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่านอำเภอเมือง อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอนาหมื่น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา และอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ  150 กิโลเมตร

          10. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่านอำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร

          11. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่านอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ในแนวโค้งเล็กน้อยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร

          12. รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่านอำเภอหนองไผ่ อำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยรอยเลื่อนบริวารในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กับแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้สลับกัน มีความยาวประมาณ 110 กิโลเมตร

          13. รอยเลื่อนระนอง พาดผ่านพื้นที่ตั้งแต่ จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบ คีรีขันธ์ และพังงา  มีความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร      

          14. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านอำเภอบ้านตาขุน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอทับปุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา พาดผ่านไปตามทะเลอันดามัน ระหว่างอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต กับอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 148 กิโลเมตร

          นอกจาก 14 รอยเลื่อนที่กรมทัพยากรธรณีได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว ล่าสุดยังมีรอยเลื่อนมะยม ที่พาดผ่านอำเภอสอง จังหวัดแพร่ และอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 22 กิโลเมตรด้วย  

          อย่างไรก็ตาม รอยเลื่อนที่ต้องจับตา และเฝ้าระวังมากที่สุดในขณะนี้ คือ รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งถือเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังรุนแรง และอาจส่งผลกระทบกับภาคใต้ในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี  


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์