ภูเก็ตเขย่าอีก3.2ริกเตอร์

ภูเก็ตเขย่าอีก3.2ริกเตอร์

'ภูเก็ต' ยังไม่หยุดเขย่า เกิดแผ่นดินไหว 3.2 ริกเตอร์ กรมโยธาฯ แจงมาตรการรับมือแผ่นดินไหว

20 เม.ย.55 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแจ้งว่า เมื่อเวลา 02.43 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวบนบกระดับ 3.2 ตามมาตราริกเตอร์ บริเวณ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รู้สึกสั่นไหวได้หลายพื้นที่ใน จ.ภูเก็ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ยังได้มีการสรุปมาตรการสำหรับการดำเนินการในเรื่องของแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ ลึกจากพื้นดินประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก ในเหตุการณ์วันที่ 16 เม.ย. 55 มีศุนย์กลางบริเวณอ.ถลาง จ.ภูเก็ตว่า ในฐานะที่กรมโยธาฯเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารได้มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในลักษณะดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2540 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันดังต่อไปนี้

1.ดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทานคงทนของอาคารแลพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
พ.ศ. 2550 ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายบังคับให้การก่อสร้างอาคารบางประเภทที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวต้องได้รับการออกแบบและก่อสร้างให้สามารถต้านทางแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ โดยกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 โดยพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวตามกฎกระทรวงแยกออกได้เป็น 3 บริเวณ ครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัด ดังนี้ บริเวณที่ 1 เป็นพื้นที่บริเวณที่ดินอ่อนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร รวม 5 จังหวัด บริเวณที่ 2 เป็นพื้นที่หรือบริเวณอยู่ใกล้รอยเลื่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน รวม 10 จังหวัด

สุดท้ายบริเวณที่ 3 เป็นบริเวณเฝ้าระวังเป็นพื้นที่หรือบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
ได้แก่ กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี รวม 7 จังหวัด

2.จัดทำมาตรการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่งสะเทือนของแผ่นดินไหว
เพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดการออกแบบและคำนวณอาคารในกฎกระทรวงให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนยิ่งขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ปฎิบัติ โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เผยแพร่มาตรฐานดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง และจัดพิมพ์เป็นเอกสารแจกจ่ายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยในปี 2550-2554

3.ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตดัดแปลงอาคารเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
พ.ศ. ....เพื่อสนันสนุนให้เจ้าของอาคารที่ก่อสร้างไว้แล้วสามารถเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้มีความปลอดภัยจากแผ่นดินไหวมากยิ่งขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎกระทรวงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมากรมโยธาธิการและผังเมืองยังได้จัดทำคู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยและการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว
ฉบับประชาชนขึ้น เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแผ่นดินไหวแก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป ตลอดจนเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว รวมทั้งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะจัดสัมมนาเพื่อซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าวให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยกำหนดให้มีการสัมมนาขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้โดยมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงภัย 22 จังหวัดเข้าร่วมการสัมมนา

สำหรับแผนงานรองรับเหตุแผ่นดินไหว
ใน “บริเวณเฝ้าระวัง” ซึ่งได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นแล้วที่ภูเก็ตนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองจะดำเนินการเสนอแก้ไขกฎกระทรวงต่อคณะกรรมการควบคุมอาคารในประเด็นการปรับระดับเสี่ยงภัยของบริเวณเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นบริเวณตามแนวรอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยในภาคใต้ให้สูงขึ้น รวมทั้งทบทวนประเด็นอื่นให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้การก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวทั่วประเทศมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์