น้ำท่วมความขัดแย้งและละเมิดสิทธิ

น้ำท่วมความขัดแย้งและละเมิดสิทธิ


น้ำท่วมความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิ : โดย อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

        
ปัญหาน้ำท่วมประเทศไทย (ยกเว้นกรุงเทพฯ ชั้นใน) นอกจากได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแล้ว ยังสร้างความขัดข้องใจและความขัดแย้งในหมู่คนไทยด้วยกันหลายประการ ดูได้จากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายบิ๊กแบ็กที่ดอนเมือง ความขัดแย้งที่ถนนพระราม 2 ความขัดแย้งระหว่างอำเภอลำลูกกากับเขตสายไหมและคลองสามวา ความขัดแย้งที่คลองประปาระหว่างชาวดอนเมืองและชาวปากเกร็ด ตลอดจนความขัดแย้งจากการเจรจาต่อรองปริมาณการปล่อยน้ำระหว่างชุมชนที่อยู่ในและนอกเขตประตูกั้นน้ำต่างๆ ในเขตจ.นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ เป็นต้น 

           ผมจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านผู้รู้กฎหมายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นท่านทนายความ ท่านผู้พิพากษา หรือคณะศาลปกครองที่ล้วนเป็นที่พึ่งสำคัญของประชาชนว่า การดำเนินการที่ถูกที่ควรด้านการป้องกันน้ำท่วม “ตามหลักนิติธรรม” นั้นต้องทำอย่างไร  ผมขอถามคำถามสัก 5 ข้อครับ

           1. หากเขตปกครอง ก. นำกระสอบทรายมาทำทำนบกั้นน้ำไม่ให้น้ำเข้าเขตปกครองของตน แต่การกระทำดังกล่าวทำให้เขตปกครอง ข. ที่มีพื้นที่ติดกันต้องรับภาระแทนโดยต้องเผชิญกับน้ำท่วมในระดับที่สูงกว่าปกติ การกระทำของเขตปกครอง ก. เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในเขตปกครอง ข. หรือไม่ครับ หากเป็นอย่างนี้ประชาชนในเขตปกครอง ข. จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้บริหารเขตปกครอง ก. ได้หรือไม่?

           2. หากประชาชนในเขตปกครอง ข. ที่ได้รับความเสียหายได้รวมตัวกันไปรื้อกระสอบทรายหรือเปิดประตูกั้นน้ำเพื่อให้น้ำที่ท่วมขังในเขตของตนไหลกลับไปท่วมเขตปกครอง ก. ซึ่งมีระดับน้ำต่ำกว่า เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระปัญหาไปบ้างในลักษณะของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนี้มีความผิดทางกฎหมายหรือไม่ครับ

           3.หากมีการกั้นทำนบหรือเขื่อนรอบๆ ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง และเมื่อภายหลังระดับน้ำได้ลดลงจนต่ำกว่าระดับสันเขื่อนแล้วชุมชนดังกล่าวได้สูบน้ำในพื้นที่ของตนออกไปด้านนอกเพื่อให้น้ำไปท่วมพื้นที่ข้างเคียงแทน โดยน้ำนั้นอาจมีความสกปรกจากคราบน้ำมันหรือมีสารเคมีจากโรงงานทำให้พื้นที่ข้างเคียงเสียหาย การกระทำเช่นนี้มีความผิดมั้ยครับ

           4. การที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ถูกกำหนดไว้ เป็นพื้นที่แก้มลิงหรือทางน้ำผ่านเพื่อระบายน้ำออกไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ และสูบออกไปยังอ่าวไทยในที่สุด แต่ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวได้มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เป็นนิคมอุตสาหกรรม สนามบินนานาชาติ หมู่บ้านจัดสรร หรือสนามกอล์ฟ การใช้ที่ดินผิดประเภทเช่นนี้ได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำและนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วมขังที่บริเวณ รังสิต ปทุมธานี อย่างนี้เอาผิดกับหน่วยงานใดได้หรืเปล่า?

           และ 5. หากชาวกรุงเทพฯ ได้ประโยชน์จากการปิดประตูกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ โดยให้ประชาชนในพื้นที่นนทบุรีหรือปทุมธานีรับภาระน้ำท่วมแทน ต่อมาหากต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมที่ดอนเมือง นนทบุรี หรือปทุมธานี เงินค่าชดเชยจำนวนเงินนี้ก็ควรมาจากงบประมาณของกรุงเทพมหานครใช่มั้ยครับ เพราะชาวกรุงเทพฯ ชั้นในเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการปิดประตูกั้นน้ำ แต่พบขณะนี้เอาเงินค่าชดเชยทั้งหมดให้เป็นภาระของงบประมาณแผนดิน เท่ากับว่านอกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในจะได้ประโยชน์ แต่คนไทยทั้งประเทศยังต้องมารับภาระจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมที่ดอนเมือง นนทบุรี หรือปทุมธานีแทนกรุงเทพมหานคร  ระบบการคลังสาธารณะแบบนี้ให้ความเป็นธรรมกับสังคมหรือไม่ 

           ท่านผู้พิพากษา ท่านผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย หรือท่านคณาจารย์ด้านกฎหมายทั้งหลายครับ ตอนนี้คนไทยสับสนมากเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิจากการบริหารจัดการน้ำท่วมโดยรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางซึ่งสังคมไทยไม่คุ้นเคยมาก่อน และในหลายกรณีก็ได้นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งแล้ว ท่านในฐานะที่เป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ ท่านพอจะให้คำแนะนำ  ชี้แนะแนวคิดหรือให้แนวปฏิบัติที่ถูกต้องได้ไม่ครับว่าสังคมไทยควรทำอย่างไร กับเรื่องดังกล่าว ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมากกว่า 20 ฉบับ กฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมและความขัดแย้งได้บ้างไหม หรือเราต้องออกกฎหมายเกี่ยวน้ำเพิ่มเติมอีกกี่ฉบับจึงจะพอครับ

           ผมมีความรู้สึกว่าการเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาครัฐคงเป็นสิ่งที่ทำยากมากๆ ในสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรม ปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่มีรากเหง้าฝังลึกในวิถีชีวิตของคนไทย และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยมาช้านาน

           ดังนั้น กรณีการบริหารจัดการน้ำที่เน้นการปกป้องทรัพย์สินบ้านเรือนของคนในเมืองหลวงโดยให้คนในพื้นที่รอบนอกรับภาระแทนจึงเป็นวิธีคิดที่พอจะคาดเดาได้ เพราะมันก็คือ ธาตุแท้ของการบริหารงานแบบไทยๆ นั้นเอง การที่รัฐบาลพูดว่า “ประชาชนต้องเข้าใจและต้องยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม จึงเป็นประโยคที่เสียดแทงใจผู้ด้อยโอกาสเป็นอย่างมากเพราะมันเป็นการตอกย้ำว่าผู้บริหารบ้านเมืองนี้ให้ความสำคัญกับประชาชนไม่เท่าเทียมกัน เห็นค่าของความเป็นคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขณะนี้วัฒนธรรมทางความคิดเช่นนี้ได้นำไปสู่ความปัญหาขัดแย้งในหลายๆ พื้นที่ และจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว


 “ในที่สุดสิ่งนี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่ไร้อารยธรรม”


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์