เปิดแผนทดสอบระบายน้ำฝั่งตะวันตก-ตะวันออก

เปิดแผนทดสอบระบายน้ำฝั่งตะวันตก-ตะวันออก


ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร หัวหน้ากลุ่มงานแบบจำลอง ฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ 

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยถึงแผนปฏิบัติการทดสอบประสิทธิภาพน้ำ ว่า ในวันที่ 4 ก.ย.นี้ จะมีการซักซ้อมในฝั่งตะวันตกก่อนที่จะมีการทดสอบจริงในวันที่ 5 พื้นที่ฝั่งตะวันตก โดยเริ่มต้นที่คลองทวีวัฒนา ส่วนวันที่ 6 ก.ย.นี้จะมีการซักซ้อมในฝั่งตะวันออก ก่อนที่จะทดสอบจริงในวันที่ 7 ก.ย.นี้

โดยมีจุดเริ่มที่คลองลาดพร้าว โดยการซ้อมก่อนครั้งนี้ เพื่อประเมินประสิทธิภาพการระบายน้ำในปัจจุบัน พร้อมหาข้อจำกัดและอุปสรรค เพื่อเร่งแก้ไขและบันทึกเป็นข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการและพัฒนาแบบจำลองการระบายน้ำ โดยการทดลองในครั้งนี้จะเป็นการทดสอบระบบระบายน้ำเพียง ร้อยละ 30 ของศักยภาพลำน้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนตลอดลำน้ำ

ส่วนฝั่งตะวันตก จะมีการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำ จะใช้น้ำนอนคลองทดสอบในอัตราการไหลเพียง 10 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของระบบผลักดันน้ำ คลองทวีวัฒนาของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการระบายของคลองให้เต็มศักยภาพตลอดแนวคลอง และการทดสอบประสิทธิภาพเส้นทางการระบายน้ำเพิ่มเติม ผ่านระบบคลองพระยาราชมนตรี ผ่านคลองบางไผ่ และคลองบางแวก สู่สถานีสูบน้ำคลองพระยาราชมนตรี

ขอบเขตการดำเนินงานคลองทวีวัฒนา จะทำการเร่งความเร็วของน้ำที่ตอนปลายคลองทวีวัฒนา บริเวณถนนเพชรเกษม 69 และ คลองบางไผ่ คลองบางแวก คลองพระยาราชมนตรี โดยควบคุมระดับน้ำด้วยสถานีสูบน้ำคลองพระยาราชมนตรี ซึ่งจะมีอุปกรณ์และเครื่องผลักดันน้ำของสำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร จำนวน 8 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำของกองทัพเรือ จำนวน 6 เครื่อง เครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำกรมชลประทาน จำนวน 2 เครื่อง เครื่องวัดอัตราการไหลของกรมอุทกศาสตร์ จำนวน 2 เครื่อง และอากาศยานไร้นักบิน แบบอธีน่า 1 จากบริษัทสยามยูเอวี

ขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำฝั่งตะวันตก จะแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง คือ 1.เร่งความเร็วน้ำที่คลองทวีวัฒนา โดยจะทดสอบเดินเครื่อง 1 ชั่วโมง และจะทำการตรวจวัดอัตราการระบายน้ำที่เพิ่มขึ้นตามจุดที่กำหนด เริ่มจากการรับน้ำเข้าคลองทวีวัฒนาที่ ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา และติดตามระดับน้ำทะเลหนุนในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะหยุดการเดินเครื่องสูบน้ำ และปิดประตูระบายน้ำ ที่สถานีคลองบางกอกใหญ่ และสถานีสูบน้ำคลองมอญ เพื่อเป็นการควบคุมน้ำให้อยู่ในระบบที่ทดสอบ

และเดินระบบผลักดันน้ำของสำนักการระบายน้ำ ที่ติดตั้งในช่วงปลายคลองบริเวณถนนเพชรเกษม 69 ทั้ง 4 จุด จำนวน 8 เครื่อง ดังนี้ ปลายคลองทวีวัฒนา 2 เครื่อง ใต้สะพานข้ามคลองภาษีเจริญ 2 เครื่อง ใต้สะพานถนนเพชรเกษม 2 เครื่อง และหน้าสถานีตำรวจนครบาล ศาลาแดง 2 เครื่อง

จากนั้นจะทำการเดินระบบผลักดันน้ำของกองทัพเรือ เพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำของคลองทวีวัฒนาฝั่งเหนือสะพานถนนเพชรเกษม โดยทำการเพิ่มแบบเป็นระยะๆ จนเต็มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ประมาณ 7.5 ลบ.ม.ต่อวินาที และตรวจสอบว่าคลองทวีวัฒนาตั้งแต่สะพานถนนเพชรเกษมมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่งหากเพิ่มหรือผลักดันน้ำจนเต็มความสามารถของคลองก็จะคงการผลักดันน้ำไว้

หากผ่านการทดสอบตามขั้นตอนทั้งหมดแล้ว จะดำเนินการเพิ่มหรือผลักดันน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ช่วงต้นคลองไปสู่ปลายคลอง และทำการตรวจสอบว่าสามารถเพิ่มหรือผลักดันน้ำได้อีกกี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไม่ให้ระดับน้ำที่ปลายคลองทวีวัฒนาล้นตลิ่ง หากเกิดกรณีฉุกเฉินโดยมีฝนตกเกิน 60 มิลลิเมตร ในขณะทดสอบการระบายน้ำหรือพบการล้นตลิ่ง จะทำการปิดบานระบายที่ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนาทันที และเดินเครื่องสูบน้ำสถานีสูบคลองบางกอกใหญ่ คลองมอญเพื่อช่วยระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา และสถานีสูบน้ำกระทุ่มแบนลงแม่น้ำท่าจีน

ส่วนที่ 2 เส้นทางการระบายเพิ่มเติมผ่านระบบคลองพระยาราชมนตรี โดยเดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีคลองพระยาราชมนตรีให้เต็มศักยภาพ เพื่อพร่องน้ำในระบบคลองพระยาราชมนตรี และเดินเครื่องผลักดันน้ำที่ใต้สะพานถนนเพชรเกษม และใต้สะพานพระรามที่ 2 เพื่อเร่งส่งน้ำจากคลองทวีวัฒนา คลองบางไผ่ และคลองบางแวก ไปยังสถานีสูบน้ำคลองพระยาราชมนตรี ส่วนในกรณีฉุกเฉินหากมีฝนตกขณะทดสอบและพบน้ำล้นตลิ่ง จะทำการเดินเครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำคลองบางกอกใหญ่ และสถานีสูบน้ำคลองมอญทันที

ดร.สุรเจตส์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำฝั่งตะวันออก ในวันที่ 6 ก.ย. นั้น จะเริ่มจากการปล่อยน้ำจากคลองรังสิตเข้าสู่คลองหกวาสายล่าง เพื่อเป็นน้ำต้นทุนที่ใช้ในการทดสอบระบบ และทำการเปิดบานประตูระบายน้ำคลองสายใต้ เพื่อรับน้ำเข้าคลองลาดพร้าว ควบคุมระดับน้ำด้านในของประตูระบายน้ำ ไม่ให้เกินระดับควบคุมที่ +80 เซนติเมตร จากระดับน้ำทะเล โดยเดินเครื่องสูบน้ำที่อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ 3 เครื่อง เพื่อลดระดับน้ำในคลองลาดพร้าวตอนปลายก่อนถึงอุโมงค์ เพื่อบันทึกอัตราการลดของระดับน้ำ จากนั้นทำการเดินระบบผลักดันน้ำที่ติดตั้งในคลองลาดพร้าว 3 จุด จำนวน 6 เครื่อง ได้แก่ หน้าประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว 2 เครื่อง ใต้ถนนเกษตร-นวมินทร์ 2 เครื่อง และหลัง รพ.ภูมิพล 2 เครื่อง

“จะทำการเดินระบบผลักดันน้ำของกองทัพเรือ หน้าประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว โดยใช้เครื่องผลักดันน้ำ 1 เครื่อง และเรือผลักดันน้ำ 2 ลำ ซึ่งหากการทดสอบส่งผลให้ปริมาณน้ำสูงขึ้นจนอยู่ในภาวะเสี่ยง หรือมีฝนตกในขณะทำการทดสอบการระบายน้ำ จะทำการดำเนินเครื่องสูบน้ำที่อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบอย่างเต็มศักยภาพ 4 เครื่องทันที พร้อมเดินระบบเรือผลักดันน้ำเสริมความเร็ว อีก 2 จุด ที่หลังตลาดยิ่งเจริญ จำนวน 1 ลำ และ ที่ ซ.ลาดพร้าววังหิน 79 จำนวน 1 ลำ ส่วนในกรณีฉุกเฉินจะทำการเดินระบบเครื่องผลักดินน้ำของสำนักการระบายน้ำ ที่ติดตั้งในคลองบางเขนทั้ง 2 จุด เพื่อแบ่งระบายน้ำจากคลองลาดพร้าวไปยังสถานีสูบน้ำคลองบางเขน” ดร.สุรเจตส์ กล่าว

ดร.สุรเจตส์ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เรานำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เริ่มตั้งแต่การตรวจวัดความตื้นเขินของคลอง 4 แห่งที่ใช้ในการทดสอบระบบในครั้งนี้ การติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เพื่อวัดอัตราการไหลของน้ำ ซึ่งเดิมจะมีการใช้ระบบควบคุมคอมพิวเตอร์เพื่อเปิดประประตูระบายน้ำด้วย แต่ยังไม่มั่นใจในจุดนี้จึงให้ใช้ระบบสั่งการโดยคนก่อนในการเปิดปิดประตูน้ำ

ในภาพรวมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการจะจำลองรูปแบบของซิงเกิลคอมมาน โดยหน่วยงานภาคสนาม จะทำงานประสานกับข้อมูลจากระบบต่างที่เซตไว้ส่งมายังศูนย์ปฏิบัติการทดสอบประสิทธิภาพน้ำที่สถาบัน เพื่อประมวลผลทั้งหมดส่งไปยังศูนย์บัญชาการ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เป็นผู้บัญชาการ อย่างไรก็ตามการทดสอบระบายน้ำในรอบนี้ จะช่วยให้สามารถประเมินสถานการณ์และเทียบความแม่นยำกับแบบจำลอง ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันมีแนวโน้มว่าภายในปลายเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะมีการทดสอบการระบายน้ำ รอบที่ 2 แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกพื้นที่ทดสอบ

ขอบคุณข่าวจาก :: suthichaiyoon.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์