8.6ริกเตอร์ขยาย13รอยเลื่อนไทย

ภาพจาก คมชัดลึกภาพจาก คมชัดลึก



หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริกเตอร์ ลึกลงไปในทะเลประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดเซีย เมื่อบ่ายวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวต้องทบทวนแนวความคิด ที่เคยเชื่อว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะไม่เกิดซ้ำในจุดเดิมหรือบริเวณใกล้เคียง ในระยะเวลาอันสั้นโดยต้องใช้เวลาสะสมพลังงานนาน 50-100 ปีกันใหม่ เพราะย้อนหลังไปยังไม่ทันครบ 8 ปี บริเวณเหนือเกาะสุมาตราแห่งนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์มาแล้วเมื่อปี 2547

        
จาก ความผิดปกติที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวกลับมาให้ความสนใจกับรอยเลื่อนในประเทศไทย ทั้ง 13 รอยเลื่อน โดยรอยเลื่อนเหล่านี้แม้ที่ผ่านมาจะไม่พบประวัติว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่มา ก่อน แต่ความผิดแปลกไปจากเดิมของธรรมชาติในห้วงเวลานี้ คงไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวใหญ่จะไม่เกิดขึ้นใน ประเทศไทย
       
ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้า ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด นักธรณีวิทยาทั้งชาวไทยและต่างชาติ จำเป็นต้องเร่งศึกษาเพื่อหาคำตอบให้ได้โดยเร็วที่สุดว่า ทำไมแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จึงเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดเดิม เพื่อนำความรู้นั้นมาหาแนวทางป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะ เกิดขึ้นในอนาคต
       
ศ.ดร.ปณิธาน บอกด้วยว่า จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นบริเวณใดเมื่อไหร่ แต่จุดที่ต้องเฝ้าระวังคือรอยเลื่อนบริเวณหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ รวมถึงรอยเลื่อนสะแกงซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ไล่ มาตั้งแต่ประเทศพม่าพาดผ่านทะเลอันดามัน ซึ่งจุดดังกล่าวห่างจาก จ.ระนองเพียง 300 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 400 เมตร ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณจุดนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับ ประเทศไทย
       
"แนวรอยเลื่อนที่น่าจับตามองมากที่สุดเวลานี้คือ บริเวณหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ถัดมาคือรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า เพราะรอยเลื่อนทั้งสองห่างจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดไม่มากนัก และ ยังมีแนวภูเขาไฟที่กำลังสะสมพลังงานอยู่พร้อมที่จะปล่อยพลังงานออกมาได้ทุก เมื่อ เมื่อได้รับการกระตุ้นจากแผ่นดินไหวในจุดใกล้เคียงอาจเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา เมื่อไหร่ก็ได้" ศ.ดร.ปณิธานขยายความ
        
ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวรายนี้อธิบายว่า สาเหตุ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริกเตอร์ บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตราครั้งนี้ มีต้นเหตุมาจากการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลันของเปลือกโลก โดยมักเกิดตรงบริเวณ "ขอบ" ของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเกิดจากชั้นหินหลอมละลายที่อยู่ภายใต้เปลือกโลกได้รับพลังงานความร้อน จากแกนโลก และลอยตัวผลักดันเปลือกโลกตอนบนตลอดเวลา ส่งผลให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่างๆ กัน ทำให้ขอบของแผ่นเปลือกโลกชนหรือเสียดสีกันหรือแยกจากกัน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ซึ่งหากขอบของแผ่นเปลือกโลกตั้งอยู่ใกล้หรืออยู่ในเขตของประเทศใด ประเทศนั้นก็จะเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว
       
ศ.ดร.ปณิธาน บอกด้วยว่า พลังงานที่สะสมในเปลือกโลกยังถูกส่งผ่านไปยังบริเวณรอยร้าวของหินใต้พื้นโลก หรือที่เรียกว่า "รอยเลื่อน" เมื่อ ระนาบรอยร้าว ที่ประกบกันอยู่ได้รับแรงอัดมากๆ จะทำให้รอยเลื่อนมีการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลัน เกิดเป็นแผ่นดินไหวได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดียอมรับว่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่ตอนเหนือของเกาะสุมาตรานั้น ทฤษฎีที่อยู่ในตำรานั้นถูกลบล้างไปบางเรื่อง อย่างเช่นการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในบริเวณใกล้เคียงจุดเดิมจะไม่เกิดซ้ำ กันในเวลา 100 ปี ตอนนี้ธรรมชาติแสดงให้เราเห็นแล้วว่าทฤษฎีดังกล่าวนั้นใช้ไม่ได้
       
"จุด ที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดห่างจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ เมื่อปี 2547 ประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าไม่ไกล ตามทฤษฎีแล้วเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่แล้วจะต้องใช้เวลาสะสมพลังงานอีก 50-100 ปี จึงจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ซ้ำจุดเดิมหรือใกล้เคียง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องเร่งศึกษาโดยด่วน" ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวให้ข้อมูล
        
นอกเหนือจากรอยเลื่อนสะแกง และรอยเลื่อนตรงหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์แล้ว ยังต้องเฝ้าระวัง 13 รอยเลื่อนในประเทศไทยด้วย โดย ศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า แม้รอยเลื่อนทั้ง 13 จุดที่อยู่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ห่างจากจุดที่เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงอยู่มาก และยังไม่มีสัญญาณบอกเหตุ แต่เรื่องที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติยังไม่สามารถเรียนรู้ได้หมด ซึ่งรอยเลื่อนทั้ง 13 รอย ยังมีการสะสมพลังงานอยู่ มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้
       
 ทั้งนี้ 13 รอยเลื่อนในประเทศไทยที่อาจส่งผลทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ คือ 1.รอย เลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่ 2.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุม จ.แม่ฮ่องสอน และตาก 3.รอยเลื่อนเมย ครอบคลุม จ.ตาก และกำแพงเพชร 4.รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม จ.เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย 5.รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุม จ.ลำปาง และแพร่
       
6.รอย เลื่อนพะเยา ครอบคลุม จ.ลำปาง เชียงราย และพะเยา 7.รอยเลื่อนปัว ครอบคลุม จ.น่าน 8.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์  ครอบคลุม จ.อุตรดิตถ์ 9.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี 10.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และอุทัยธานี 11.รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุม จ.หนองคาย และนครพนม 12.รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา และ 13.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ และพังงา


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์