ติงฟุตบาธ-ถนนทรุดหน่วยงานขาดความร่วมมือ

ติงฟุตบาธ-ถนนทรุดหน่วยงานขาดความร่วมมือ

'วสท.'ติงเหตุฟุตบาธ-ถนนทรุด หน่วยงานขาดความร่วมมือ จี้กทม.เร่งสำรวจจุดล่อแหลม ป้องกันเหตุซ้ำรอย คาดน้ำเซาะทรายใต้ดิน ทำถนนพระราม 4 ทรุด

4 เม.ย.55 นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงกรณีที่ทางเท้าทรุดถนนพระราม 3 ว่า มีการคาดการณ์สาเหตุ 3 ข้อ 1.เกิดจากกำแพงกันดินพัง และท่อที่อยู่ข้างใต้เกิดการทรุดตัว แล้วทำให้น้ำไหลออกมาแล้ว แล้วเซาะเอาดินหลังกำแพงและใต้ทางเท้าหายไป 2.มีการเสริมทางเท้ายกขึ้น 40 ซม. ซึ่งน้ำหนักนี้ทางผู้ออกแบบเดิมไม่ได้กำหนดเอาไว้ และ 3.กำแพงมีอายุ 20-30 ปี ไม่ได้มีการบำรุงรักษา หรือไม่ได้มีการกำหนดอายุโครงสร้างที่ใช้งาน ซึ่งทางกทม.ต้องทบทวนการออกแบบการสร้างกำแพงกันดิน และการบำรุงรักษาที่จะต้องมีการตรวจสอบอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ด้านนายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายก วสท. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 2 เหตุการณ์ ทั้กรณีฟุตบาทถนนพระราม 3 ทรุด และถนนพระราม 4 ทรุดนั้นเกิดจากการไม่มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งเรื่องของการการใช้งาน และการบำรุงรักษา ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่ขั้นตอนของการออกแบบ การก่อสร้างมักจะถูกต้องตามหลักวิศวกรรม แต่เมื่อมีหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งมาใช้งานในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่รู้ถึงวิธีการให้กลับคืนสู่สภาพเดิมที่ถูกต้อง ก็อาจเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามภารกิจของกทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องการลงสำรวจในจุดที่ล่อแหลม เพื่อปรับปรุงแก้ไขไม่ใฟ้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

"วสท."คาดน้ำเซาะทรายใต้ดิน ทำถนนพระราม 4 ทรุด

นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าการหาสาเหตุการทรุดตัวของถนนพระราม 4 บริเวณใกล้แยกวิทยุ ใต้สะพานไทย-เบลเยี่ยม ว่า ต้องตัดประเด็นจากการกัดเซาะของน้ำจากคลองสาธร และอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินทอยู่ลึกลงไป เพราะเหตุที่เกิดขึ้นอยู่บริเวณผิวดิน ทั้งนี้ สาเหตุคาดว่าอยู่ในจุดที่ปิดทับด้วยพื้นปรับการทรุดตัวหรือ Transition slab ของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ถูกค้ำด้วยท่อประปาของการประปานครหลวง จึงเกิดโพรงด้านใต้ทำให้เกิดการยุบตัว ขณะที่ปัจจัยหลักพบว่าเกิดจากน้ำนำทรายใต้ดินหายไป ลงสู่ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ของกทม. แต่ยังไม่สามารถหาได้ว่าเป็นน้ำมาจากท่อระบายน้ำจุดใด

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขอเสนอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการประปานครหลวง ร่วมกันตรวจสอบประวัติการแตกการรั่วซึมและสถาพปัจจุบันของท่อประปาที่ ผ่านบริเวณสถานีรถไฟฟ้าลุมพินี รวมทั้งที่อื่นๆ ที่ใกล้บริเวณรถไฟฟ้าใต้ดินด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันนี้จะเรียก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กทม. การประปานครหลวง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อหาสาเหตุอีกครั้ง โดยเบื้องต้นวสท.จะขอข้อมูลที่ชัดเจนของท่อใต้ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ แต่ละหน่วยงาน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

" วสท.เห็นว่าจำเป็นให้มีการเปิดผิวการจราจรเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด แต่อยู่ที่หน่วยงานต่างๆ จะเห็นด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าจะเกิดในพื้นที่อื่นได้ โดยเฉพาะที่มีระบบสาธารณูปโภค หรือท่อใต้ดินจำนวนมาก เพราะปัจจัยอาจเกิดจากการรั่วของท่อจ่ายประปา ระบบน้ำท่อข้างถนน และปริมาณน้ำฝน"นายสุทธิศักดิ์ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์