เตรียมรับน้ำก้อนใหญ่ กรมชลฯลุ้นช่วงเดือนตค.

เตรียมรับน้ำก้อนใหญ่ กรมชลฯลุ้นช่วงเดือนตค.

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยระหว่างตรวจพื้นที่น้ำท่วมในเขต อ.บางบาล จ.พระนคร ศรีอยุธยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งว่า การแก้ปัญหาอุทกภัยพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะนี้จะใช้วิธีเร่งผลักดันลงทะเลให้มากที่สุด และในช่วงน้ำทะเลไม่หนุนได้มีการเปิดประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ ช่วยดันน้ำลงทะเลด้วยอีกแรง สำหรับพื้นที่แก้มลิงที่พระนครศรีอยุธยา จะเปิดใช้งานรับน้ำเข้าทุ่งก็ต้องรอให้ถึงเวลาที่มวลน้ำก้อนใหญ่ ซึ่งคาดว่าฝนจะตกหนักในเดือน ต.ค.นี้เท่านั้น

"ขณะนี้ไม่สามารถปล่อยน้ำเข้าทุ่งนาซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้ง 4 ทุ่ง พื้นที่กว่า5 แสนไร่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถเก็บน้ำได้ถึง 1,145 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ก็ตาม เพราะว่ายังมีข้าวบางแปลงเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่เสร็จ ที่สำคัญคือต้องสงวนพื้นที่นี้ไว้เพื่อรองรับน้ำเหนือหลากในช่วงต้นเดือน จนถึงกลางเดือน ต.ค." นายทองเปลว กล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า พื้นที่กรุงเทพฯ รับรองว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีการควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ให้เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที โดยกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบก็ต่อเมื่อมีปริมาณน้ำไหลมากถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที สำหรับพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำจะเริ่มลดลงหรือเข้าสู่ภาวะปกติหลังสิ้นเดือน ต.ค.ไปแล้ว

ด้าน นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหาร สำนักการระบายน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงเรือตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจุดเสี่ยง โดยเห็นว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยายังระบายน้ำไม่เกินกว่ากำหนด ถ้าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมภายใน 2 วันนี้ ระดับน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่หากมีฝนตกลงมาเพิ่มเติมจะทำให้พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำอาจได้รับผลกระทบ สำหรับแนวช่องว่างคันกั้นน้ำ เช่น ชุมชนเขียวไข่กา ได้นำกระสอบทรายสูง 2.5-3.5 เมตร จัดเรียงเป็นแนวคันกั้นน้ำชั่วคราว ความยาว 1 กิโลเมตร
ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำกรุงเทพ มหานคร ได้ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 77 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 76.80 กิโลเมตร ส่วนที่เหลืออีก 200 เมตร บริเวณถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากมีอาคารบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำกีดขวางแนวที่จะก่อสร้าง

ที่มา http://www.posttoday.com/social/env/457742

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์