กรมชลฯ สุดมั่นน้ำจะไม่ท่วม กทม.

กรมชลฯ สุดมั่นน้ำจะไม่ท่วม กทม.


นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่จะมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยมเพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ภาคกลางและกรุงเทพมหานครจะไม่เกิดปัญหาอุทกภัยแน่นอนเนื่องจากระดับน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท อยู่ที่ระดับ 1,300 พันลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที และที่ อ.บางไทร พระนครศรีอยุทธยาอยู่ที่ 701 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งระดับที่จะกระทบกทม.คือ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาทีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วง 23-24 ก.ย. จะมีปริมาณฝนเพิ่มในพื้นที่คาดว่า กรมจะระบายเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลต่อพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น บางบาล โผงเผง โดยกรมชลฯได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไม่กระทบต่อพื้นที่ภาคกลางและปริมณฑล

สำหรับ ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมนั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้นโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะให้มีการแก้ไขปัญหาการขุดลอกคลองระบายน้ำให้กว้างขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพลำน้ำโดยขยายลำน้ำคลอง ยม-น่านจาก 88 ลบ.ม.เป็น 200 ลบ.ม. ต่อวินาทีและขยายคลองยมเก่าจาก 164 ลบ.ม.เป็น 200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการระบายน้ำและบริหารน้ำของกรมชลฯระหว่าง แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาท เพื่อลดผลกระทบอุทกภัยในแต่ละปีทำได้รวดเร็วขึ้น และลดผลกระทบในแต่ละลุ่มน้ำ และลดผลกระทบต่อตัวเมืองสุโขทัย

ทั้งนี้ จะเฝ้าระวังน้ำที่บ้านหาดสะพานจันทร์ไม่ให้เกิน 500 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบตัวเมืองสุโขทัย และเร่งพร่องน้ำจากทุ่งทะเลหลวงเพื่อรับน้ำที่จะตัดยอดมาจากบ้านหาดสะพานจันทร์

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า จะมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยในส่วนของแม่น้ำยมคาดว่าฝนที่ตกใน จ.พะเยา จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย จะมีน้ำหลากประมาณ 1,000ลบ.ม./วินาที ถึงแม่น้ำยมช่วง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ประมาณวันที่ 22 - 23 ก.ย.นี้ จึงได้มีการประชุมเตรียมการป้องกันน้ำหลากให้พร้อมก่อนวันที่ 21 ก.ย.59 โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการ ได้แก่ การซ่อมแนวคันกั้นน้ำ อ.เมือง จ.สุโขทัย ให้สามารถรับน้ำได้ การป้องกันพื้นที่เกษตรกรรมที่ยังไม่เก็บเกี่ยว โดยระดมรถโกยตัก เสริมคันกั้นน้ำรวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนด้วย


Cr.posttoday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์