ไม่ได้มีแต่พิษ!! 5 มุมข่าวที่ก่อประโยชน์ จากกรณีจับกุมตัว “เปรี้ยวกับพวก”

ไม่ได้มีแต่พิษ!! 5 มุมข่าวที่ก่อประโยชน์ จากกรณีจับกุมตัว “เปรี้ยวกับพวก”

ที่ตามมาจากการจับกุม น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือเปรี้ยว กับพวก คือการนำเสนอข่าวจากหลากหลายแง่มุม บางข่าวก็ถูกวิจารณ์ว่ากลายเป็นการทำให้เธอเป็นคนดัง ทั้งที่สถานะจริงๆ คือ "ผู้ต้องหา" ในคดีอุกฉกรรจ์


อย่างไรก็ตาม ถ้าเพ่งพิจารณากันให้ดี ก็จะเห็นว่า ท่ามกลาง "ข่าวเปรี้ยว" กระแสหลัก ก็ยังมี "ข่าวเปรี้ยว" กระแสรอง ที่สื่อฯหลายสำนัก พยายามคิดหาแง่มุมแปลกใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมานำเสนอ ทั้งที่ในวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ไปจนถึงเว็บไซต์

กลายเป็นข่าวตกสำรวจ ที่คุณ (อาจ) ไม่เคยได้เห็นมาก่อน ทีมข่าว "เวิร์คพอยท์ออนไลน์" ขอรวบรวม 5 ข่าวน่าสนใจ แต่ไม่ยักกับมีใครพูดถึง หรือถูกพูดถึงไม่มากนัก เกี่ยวกับการจับกุมตัวเปรี้ยว ดังต่อไปนี

1.ทำไมเปรี้ยวไม่ถูกใส่กุญแจมือ
นี่คือสุดยอดดราม่าที่ชาวเน็ตใช้วิพากษ์ตำรวจอย่างเผ็ดร้อน หลังจากเปรี้ยวกับเพื่อนเข้ามอบตัว ในคืนวันที่ 3 มิ.ย. เมื่อปรากฎภาพเปรี้ยวกับพวกในระหว่างถูกควบคุมตัว ไม่ถูกใส่ "กุญแจมือ" ทั้ง ๆ ที่ก่อคดีร้ายแรงฆ่าหั่นศพเพื่อนร่วมงาน !

แต่หลายสื่อฯ เช่น ไทยรัฐออนไลน์ ก็พยายามคลี่คลายข้อสงสัยนี้ โดยถามไปยังผู้รู้ ทั้งตำรวจ นักกฎหมาย และทนายความ โดยมีการยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตอบว่า "การพันธนาการคนร้ายต้องสมควรแก่เหตุ" หากมีตำรวจ 5 นายขึ้นไป ถ้าผู้ต้องหาเป็นหญิง จะใส่กุญแจมือหรือไม่ก็ได้

กระทั่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยังออกมาอธิบายว่า การใส่กุญแจมือเปรี้ยวกับเพื่อนไม่จำเป็น เพราะอยู่ในสายตาของตำรวจ และเชื่อว่า ไม่มีความคิดที่จะหลบหนี เพราะเดินทางเข้ามอบตัวเอง

ถือเป็นการทำข่าว ที่ให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมายกับประชาชนไปในตัว

2.ตำรวจนำผู้ต้องหาไปทำแผนได้หรือ
ในวันที่ตำรวจนำตัวเปรี้ยวกับพวกไป "ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ" การฆ่าหั่นศพ น.ส.วริศรา กลิ่นจุ้ย หรือ แอ๋ม ที่เขาสวนกลาง จ.ขอนแก่น แทบจะกลายเป็นมหกรรมระดับชาติ ทีวีระดับชาติหลายช่องตัดเข้ารายงานสด หลายทีมข่าวขับรถตามติดขบวนรถของตำรวจที่พาเปรี้ยวกับพวกไปทำแผนฯในพื้นที่ต่าง ๆ ถึง 7 จุด

โดยไม่ยักกับมีใครเอะใจว่า สิ่งที่เรียกว่าทำแผนฯนี้ จำเป็นและสามารถหรือไม่ ตามกฎหมาย ?

นสพ.โพสต์ทูเดย์ ทำสกู๊ปโดยสอบถามผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ต่อการนำเปรี้ยวกับพวกมาทำแผนฯไปจนถึงแถลงข่าว ซึ่ง พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสัวสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่า "ตำรวจไม่มีสิทธิ" ทำเช่นนั้น ส่วนนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และหากยังจำกันได้นายกรัฐมนตรีเคยออกคำสั่งห้ามนำตัวผู้ต้องหามาทำแผนฯหรือแถลงข่าวไปแล้ว

3.ค่าใช้จ่ายในการพาตัวเปรี้ยวเข้ากรุง
เมื่อคดีเปรี้ยวกับพวกเป็น "ข่าวใหญ่ระดับชาติ" จึงเกิดปรากฎการณ์แปลก ๆ อันชวนสงสัย เช่น หลังเปรี้ยวกับพวกเข้ามอบตัว ก็ถูกควบคุมไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยพื้นที่ที่จะต้องถูกส่งไปดำเนินคดีคือ อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เหตุใดถึงต้องบินมาให้นายตำรวจระดับสูงสอบปากคำที่ กทม. ?

ทีมข่าวล่าความจริง ช่องนาว 26 ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ โดยระบุว่า เครื่องบินที่ใช้เป็นพาหนะพาตัวผู้ต้องหาเข้า กทม. คือเครื่องบินลำเลียงแบบฟอกเกอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีค่าใช้จ่ายต่อ 1 ชม.บิน ราว 100,000 บาท หากนับระยะเวลาเดินทางไป-กลับ รวมค่าเบี้ยเลี้ยงนักบิน ค่าเชื้อเพลิง และค่าเสื่อมอื่นๆ น่าจะใช้งบประมาณหลายแสนบาท

"คำถามคือคุ้มหรือไม่กับการปฏิบัติเช่นนี้" ทีมข่าวล่าความจริง ช่องนาว 26 ตั้งเป็นคำถาม

4.ข้อถกเถียงเรื่องโทษประหารชีวิต
ข้อเรียกร้องให้ลงโทษผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ เช่น ฆ่าข่มขืน ด้วยการ "ประหารชีวิต" มีมาหลายปีแล้ว เมื่อเกิดคดีฆ่าหั่นศพแอ๋มขึ้นมา ข้อเรียกร้องนี้ก็กลับมาให้สาธารณชนได้ถกเถียงกันอีกครั้ง

กรณีประเทศไทย หลังจากประหารชีวิตนักโทษคดียาเสพติด 2 คน ช่วงปลายปี 2552 หลังจากนั้น 7 ปี 9 เดือน ก็ไม่เคยมีการประหารชีวิตอีกเลย โดยผู้ที่ถูกศาลตัดสินให้ประหารชีวิต เป็นแค่คำตัดสินในเชิงสัญลักษณ์ แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะเป็นการติดคุกในระยะยาว แต่หากปฏิบัติตัวดีก็มักจะได้รับการลดหย่อนโทษในโอกาสสำคัญ ๆ จนบางคนสามารถกลับไปใช้ชีวิตนอกเรือนจำได้ในท้ายสุด

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กับสื่อฯหลายแห่งว่า ผลวิจัยทั่วโลกระบุตรงกันว่า การประหารชีวิตไม่สามารถช่วยลดอาชญากรรมได้ แถมบางครั้งยังทำให้ก่อเหตุอาชญากรรมรุนแรงขึ้นอีก เนื่องจากทำผิดแค่ไหนก็โดนประหารชีวิตเหมือน ๆ กัน เช่น จากข่มขืนธรรมดา ก็อาจจะข่มขืนแล้วฆ่าเลย เพราะโทษประหารชีวิตเหมือนกัน

ปัจจุบัน จากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 58 ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตเอาไว้

5.ควรแยกแยะ"โรคจิต"กับการก่ออาชญากรรม
ช่วงแรกหลังเกิดเหตุฆ่าหั่นศพแอ๋มใหม่ๆ มีบางสื่อพาดหัวถึงเปรี้ยวกับพวกว่าเป็น "ฆาตกรโรคจิต"

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ นสพ.คมชัดลึกระบุว่า อยากให้แยกระหว่างความเป็นโรคจิตกับการกระทำของเปรี้ยวกับพวกออกจากกัน เพราะอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

"คนเป็นโรคจิตคือคนที่ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ผู้ป่วยโรคจิตจะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ต่างจากเปรี้ยว ที่มีการวางแผนซับซ้อน มีการโต้ตอบซึ่งต่างจากผู้ป่วยโรคจิตทั่วไป ซึ่งปกติจะไม่พูด ไม่โต้ตอบกับใคร" นพ.ณัฐกร ระบุ

ก่อนหน้านี้ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เคยออกมาเรียกร้องให้สื่อฯ ช่วยทำให้สังคมมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับ "โรคจิตเวช"

ทั้งหมดคือ 5 ประเด็นข่าวตกสำรวจ จากรณีจับกุมเปรี้ยวกับพวก ทั้งที่มีข้อมูลและแง่มุมดี ๆ แต่อาจถูกกลบไปด้วยฝุ่นผงจากดราม่าที่ยังชุลมุนอยู่ในช่วงเวลานั้น

ที่มา : Workpoint

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์