ไทยขุดพบปลานักล่ายุคจูราสสิก

ไทยขุดพบปลานักล่ายุคจูราสสิก


ไทยขุดพบปลานักล่ายุคจูราสสิก-คาดเป็นต้นตระกูลปลาจระเข้ในปัจจุบัน

 เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ห้องประชุม 1 อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมแถลงข่าวการค้นพบฟอสซิลปลานักล่าชนิดใหม่ของโลก ชื่อ อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศีž อายุประมาณ 150 ล้านปี อยู่ในยุคจูราสสิก ช่วยปลดล็อกปริศนาการจัดกลุ่มและลำดับสายวิวัฒนาการปลาโบราณชัดเจนขึ้น นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าเอเชียเป็นจุดศูนย์กลางแพร่กระจายพันธุ์สิ่งมีชีวิตไปยังทวีปต่างๆ

 ดร.อุทุมพร ดีศรี นักวิจัยสาขาบรรพชีวินวิทยา (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ศึกษาวิจัยฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ และค้นพบปลาดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของโลก เปิดเผยว่า อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี ที่ขุดพบเป็นปลาน้ำจืดกระดูกแข็ง อยู่ในยุคจูราสสิกตอนปลายหรือประมาณ 150 ล้านปีก่อน มีความยาวประมาณ 90 ซ.ม. มีลักษณะฟันที่เรียงหันคล้ายแท่งดินสอและขากรรไกรแข็งแรงอันทรงพลัง ฟันแหลมคมซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสัตว์นักล่า

 ซากปลาดึกดำบรรพ์นี้ขุดพบที่แหล่งขุดค้นภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ในปีพ.ศ. 2551 โดยนายทองหล่อ นาคำจันทร์ ชาวบ้าน ต.ดินจี่ ค้นพบซากฟอสซิลปลานำมามอบให้ทางอำเภอคำม่วง และทางอำเภอส่งมาให้นักวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณี และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงเข้าสำรวจขุดค้นพบตัวอย่างปลากระดูกแข็งน้ำจืด 4 ตัวอย่าง ซึ่งมีความสมบูรณ์มากโดยเฉพาะส่วนกะโหลกและฟัน เมื่อเทียบเคียงกับตัวอย่างฟอสซิลปลาที่เคยค้นพบ จึงสามารถแยกได้ว่าเป็นปลาชนิดใหม่ของโลก สันนิษฐานว่าจะเป็นต้นสายพันธุ์ปลาจระเข้ในปัจจุบันŽ ดร.อุทุมพรกล่าว

 นักวิจัยสาขาบรรพชีวินวิทยากล่าวอีกว่า การค้นพบครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มเติมชนิดสายวิวัฒนาการของปลากระดูกแข็งโบราณแล้ว ยังจัดกลุ่มปลากระดูกแข็งโบราณให้กระจ่างมากขึ้นจากเดิม ที่มักจัดกลุ่มปลากระดูกแข็งที่ไม่สามารถจำแนกกลุ่มได้เข้าไว้ในสกุลเลปิเทสž แต่จากการวิจัยสามารถระบุลักษณะที่ชัดเจนของสกุลอีสานอิกธิสž สามารถจัดกลุ่มปลาปริศนาที่ค้นพบในประเทศต่างๆ ให้เข้ามาร่วมกลุ่มในสกุลอีสานอิกธิสได้ 2 ชนิด คือ อีสานอิกธิส ลาติฟรอนส์ และอีสานอิกธิส ลูชิวเอนซิส   

 สำหรับชื่ออีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี ปลานักล่าสายพันธุ์ใหม่ที่ขุดพบครั้งนี้ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายเลิศบุศย์ กองทอง อดีตนายอำเภอคำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายอำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ที่มีบทบาทผลักดันให้เกิดการขุดค้นภูน้อย จนสามารถขุดพบซากฟอสซิลปลานักล่าสายพันธุ์ใหม่ของโลกในที่สุดŽ ดร.อุทุมพรกล่าวในตอนท้าย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์