โอละพ่อ!ยึดรง.กรุงเก่าผลิตชิ้นส่วนปืนเอ็ม16 ที่แท้กลาโหมจ้างผลิต ไว้ใช้ฝึกซ้อม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 มี.ค. พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา

พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นายและนายวิญญาณ มาลีวัฒน์ นายอำเภออุทัย นำหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัทที เอส พี ทูล แอนด์ พาร์ท จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนสายอยุธยา-ภาชี เลขที่ 210-211 ม.4 ต.อุทัย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เกิดเหตุเป็นอาคารพาณิชย์สองชั้นจำนวน 2 ห้อง ชั้นล่างตั้งเครื่องจักรและเครื่องกลึง ตรวจค้นพบคนงานทั้งชายและหญิงจำนวน 10 คน กำลังทำงานอย่างปกติเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสั่งหยุดและตรวจสอบพบอะไหล่ชิ้นส่วนของปืน M16 จำนวนมากแบ่งเป็นโครงปืนส่วนบนจำนวน 2,100 ชิ้น  โครงปืนส่วนล่างจำนวน 3,000 ชิ้น  และชิ้นส่วนศูนย์หน้าจำนวน 2,400 ชิ้นทำจากอลูมิเนียมบางส่วนบรรจุใส่กล่องเตรียมส่งแล้วและยังพบลำกล้องจำนวน 9 อัน เข็มแทงชนวนจำนวน 11 อันเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยึดไว้ตรวจสอบ สอบสวน เจ้าของบริษัททราบว่า ชิ้นส่วนปืน M16 นี้ได้รับทำมาประมาณ 2-3 ปี แล้วโดยมีนายทหารมาว่าจ้าง

โดยทำสัญญาอย่างถูกต้อง และทุกครั้งที่ผลิตอะไหล่เสร็จก็จะมีเจ้าหน้าที่จาก ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร จ.ลพบุรี มาตรวจสอบชิ้นส่วนอะไหล่

โดยตนเองรับทำ ค่าแรงประมาณชิ้นละ 300-500 บาท โดยทางผู้ว่าจ้างจะนำชิ้นส่วนที่เป็นอะลูมิเนียมฉีดขึ้นรูปมาแล้วทางโรงงานก็มีหน้าที่เจาะเป็นรู  กลึง และตบแต่งให้ขึ้นรูปตามแบบตัวอย่าง ซึ่งทราบว่าเป็นอาวุธปืนสิ่งเทียมเป็นแบบจำลองนำไปให้ทหารใหม่ฝึกยิงในสนามฝึก  ตนจึงมั่นใจว่ารับงานมาทำโดยถูกต้องไม่ได้หลบหรือซ่อนอะไหล่แต่อย่างใด
    
พล.ต.ต.จารุวัฒน์  กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดของกลางไว้ตรวจสอบ

ก่อนในเบื้องต้นพบว่ามีหนังสือสัญญาว่าจ้างอย่างถูกต้องและกำลังตรวจสอบผู้ว่าจ้างได้รับอนุญาตสั่งให้ผลิตปืนชนิดดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยทราบว่ามีนายทหารยศพันโทเป็นผู้ว่าจ้างและมาตรวจสอบคุณภาพของชิ้นส่วนด้วยตนเอง จะประสานเจ้าหน้าที่ทหารมาตรวจอย่างละเอียดเพื่อจะได้นำเดินการหากถูกต้องก็ไม่เป็นไร
    
ขณะที่พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ได้ว่าจ้างบริษัทดังกล่าวสร้างมา 3 ปีแล้ว เพื่อสนับสนุนภารกิจการฝึกของเจ้าหน้าที่ของกองทัพ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับการใช้อาวุธ ซึ่งมีลักษณะเหมือนจริง แต่ไม่สามารถยิงได้ โดยที่บางชิ้นส่วนที่เป็นงานพลาสติก จำเป็นต้องจ้างเอกชนจัดสร้าง เช่น ฝาประกรับลำกล้อง พานท้ายปืน ส่วนโครงสร้างที่เป็นเหล็ก ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร จะจัดสร้างเอง สำหรับงบประมาณดำเนินการ ใช้งบเงินทุนหมุนเวียนของศูนย์ฯ ซึ่งมีคณะกรรมการจากส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและผู้อำนวยการสำนักบัญชีกลาง ร่วมพิจารณาอนุมัติใช้งบประมาณ



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์