แกะรอยเครือข่าย คลังผลิตเอ็ม 79 จาก“วังน้อย-ปากน้ำ” ใครถือหุ้นใหญ่?

กรณี พล.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) นำกำลังบุกทลายโรงงานของบริษัท ฟูจิออโตพาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด

เลขที่ 129/42 ภายในนิคมอุตสาหกรรมแฟคเตอร์รี่แลนด์ หมู่ที่ 3 ต.วังจุฬา อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ลอบผลิตชิ้นส่วนอาวุธสงคราม คล้ายเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 พร้อมควบคุมตัวนายเชิดยศ จีระวัฒนรักษ์ อายุ 31 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัท และพนักงานภายในโรงงานอีก 30 คน ไปดำเนินคดีเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา


ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2553 ได้ขยายผลจับกุมนายสุภวิทย์ เกศกุล อายุ 38 ปี ผู้จ้างวานได้ที่บ้านพักเลขที่ 201/191 ซอย 6 หมู่บ้านออร์คิดวิลล่า ถนนบางนา-ตราด กม.23 ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าผู้ต้องให้การซัดทอดนายจิรพงศ์ หรือ กุ้ง แก้ววารี อายุ 44 ปี เป็นผู้ว่าจ้างวานอีกทอดหนึ่ง  


 พร้อมกับบุกตรวจค้นโรงงานผลิตอีก 2 แห่ง


 1.หจก.สยาม เค เอส แมชชีน แอนด์ เซอร์วิส ตั้งอยู่เลขที่ 407/41-42 หมู่ 1 ริมถนนเลี่ยงเมืองบางบ่อ พบลำกล้องพร้อมอุปกรณ์ประกอบเครื่องยิงกระสุนปืนเอ็ม 79 จำนวน 600 กระบอก และชุดประกอบอาวุธปืนเอ็ม 79 ประมาณ 1,000 ชิ้น บางส่วนถูกฝังกลบด้วยก้อนหินอยู่บริเวณหน้าตึกคูหา เลขที่ 407/41 ที่เปิดเป็นโรงกลึงและบางส่วนซุกซ่อนอยู่ภายในห้อง คูหาเลขที่ 407/42 ที่ถูกปิดตายด้วยประตูเหล็กม้วนอยู่ติดกับโรงกลึง


2.บริษัท สยาม เคน เท็ค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท พีเอส พาส จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 33/18 หมู่ 10 ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ  พบไกปืนเอ็ม 79 จำนวน 300 ชิ้น และ เครื่องจักรในการผลิตชิ้นงานสำหรับทำปืนเอ็ม 79 อีกจำนวน 20 เครื่อง


 การจับกุมคลังผลิตเอ็ม 79 ในครั้งนี้ ถือเป็นลอตใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา 


โรงงานดังกล่าวเป็นของใคร?


จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า  บริษัท ฟูจิออโต้พาร์ทอินดัสตรี้ จำกัด  ก่อตั้งวันที่  25 กรกฎาคม 2544 ทุนจดทะเบียน 22 ล้านบาท  ที่ตั้งเลขที่  129/42 หมู่ที่ 3 ถนนพหลโยธิน ตำบลวังจุฬา อำเภอวังน้อย นายเชิดยศ จีระวัฒนรักษ์  ถือหุ้นใหญ่ 52.2%  นายสุวิช จีระวัฒนรักษ์ 40.9% นางจิรภัทร์ จันทร์เปล่ง 3.8%  นายเชิดกิจ จีระวัฒนรักษ์ 2.2%  โดยนายเชิดยศ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ


ไม่พบนายเชิดยศเป็นกรรมการบริษัทอื่น


ผลประกอบการปี 2551 มีรายได้ 3 แสนบาทเศษ ขาดทุนสุทธิ 2.6 ล้านบาท  ปี 2550 รายได้ 1.2 ล้านบาท  ขาดทุนสุทธิ 3.1 ล้านบาท


ขณะที่ หจก. สยาม เค.เอส แมชชีน แอนด์ เซอร์วิส ก่อตั้งวันที่  9 กรกฎาคม 2547 ทุนจดทะเบียน  500,000  บาท ที่ตั้งเลขที่  407/42 หมู่ที่ 1 ถนนบายพาส-บางบ่อ ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ  ประกอบกิจการรับจ้างออกแบบเครื่องจักร  นายสมัย การะเกด เป็นหุ้นผู้จัดการ  ร่วมหุ้นกับนางสาวสุราพร ปานดำ


ผลประกอบการปี 2551 รายได้  885,334 บาท กำไรสุทธิ 1 แสนบาทเศษ


ส่วนบริษัท สยาม เคน เทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ก่อตั้งวันที่  26 มิถุนายน 2546  ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 33/18 หมู่ที่ 10 ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ  จำหน่ายเครื่องมือวัดในงานอุตสาหกรรม นายสุภวิทย์ เกษกุล 65 %  นายสมไพร กระสังข์ 10 %   นายพงศ์พัฒน์ พิลึก 5 %   นางสาวพูลศรี กระสังข์ 5 %   นางศุลี เกษกุล 5%   นายอัมพร เกษกุล 5 %  นายอุดม กระสังข์ 5 %


ผลประกอบการปี 2550 รายได้ 26.4 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2.3 ล้านบาท ปี 2551 รายได้ 39.7 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1.3 ล้านบาท


นายสุภวิทย์ เกษกุล ยังเป็นเจ้าของ หจก. พี.ไอ.ที.พรีซิชั่น เซลส์แอนด์เซอร์วิส  ประกอบธุรกิจขาย เครื่องจักร เครื่องมือกล ก่อตั้งวันที่   24 เมษายน 2544  ทุนจดทะเบียน   200,000 บาท ที่ตั้งเลขที่ 201/191 หมู่ที่ 7 ตำบลบางเสาธง อำเภอกิ่งอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ  ร่วมหุ้นกับนายไพศาล กันทะวงศ์ เจ้าของ หจก. เพชรรุ่งเรืองค้าวัสดุ (2551)


ทั้งนี้ หจก. เพชรรุ่งเรืองค้าวัสดุ (2551) ก่อตั้งวันที่   8 พฤษภาคม 2551 ทุนจดทะเบียน  1 ล้านบาท ที่ตั้ง เลขที่   99/464 หมู่ที่ 1 ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี  มีนางพิมพ์พรรณ เกษมวนานิมิต เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ


นางพิมพ์พรรณ เป็นเจ้าของ หจก.ทวีทรัพย์รุ่งเรือง (2551) คอนสตรัคชั่น   ประกอบธุรกิจรับเหมา-จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ก่อตั้งวันที่   29 ธันวาคม 2552  ทุนจดทะเบียน  2 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 99/464 หมู่ที่ 1 ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 


จากการตรวจสอบไม่พบว่าเอกชนกลุ่มนี้เป็นคู่ค้ากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


ขณะที่แกนนำเสื้อแดงต่างก็ออกมาปฏิเสธเชื่อมโยมกับโรงงานทั้ง 2 แห่ง


 กล่าวสำหรับ  “ระเบิดเอ็ม 79”   ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาถูกนำไปใช้ก่อเหตุกับผู้ชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง  อาทิ


กรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯในทำเนียบรัฐบาล และ สนามหลวง ในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  


 กรณียิงถล่มศาลรัฐธรรมนูญ 


 กรณียิงถล่มสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งใกล้ทำเนียบรัฐบาลในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


 เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิด และ สืบหาต้นตอที่มาของอาวุธชนิดนี้ได้แม้เพียงครั้งเดียว 


ล่าสุดกรณีคนร้ายยิงเข้าใส่ ศูนย์รักษาความปลอดภัย กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์(ร.1 รอ.) ถนนวิภาวดี – รังสิต เมื่อวันที่  15 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา 


น่าสังเกตว่า  “เป้าหมาย” วิถีกระสุน ในแต่ละครั้ง มิได้พุ่งไปสู่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง


 

ฉะนั้น “ผู้อยู่เบื้องหลัง” และ “ปลายทาง” ของโรงงานผลิตอาวุธที่ อ.วังน้อย และ จ.สมุทรปราการ อยู่หนใด?   เกี่ยวพันกับการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่?


 

เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานทางด้านความมั่นคงต้องรีบหาคำตอบ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์