เมืองกรุงก็โดน-ลักฝาท่ออุโมงค์ท่าพระ

เมืองกรุงโดนบ้าง ลอบขโมยทรัพย์สินราชการ แก๊งแสบลักตะแกรงฝาท่อระบายน้ำอุโมงค์ลอดถนนแยกท่าพระ ชาวบ้านผ่านไปมาพบหายไปหลายอัน แจ้งตร.ออกตรวจเจอแก๊งถอดฝาอยู่ในอุโมงค์พอดี แต่ 3 โจรเผ่นหนีไปได้ ทิ้งไว้แต่รถและของกลางตะแกรงเหล็กฝาท่อ 10 อัน ก่อนจะเข้ามามอบตัว 1 คน ส่วนอีก 2 รายออกหมายจับแล้ว

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.ท.หอมหวล คงวัน พงส.สบ.2 สน.ท่าพระ ว่าในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

มีประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนร้องเรียนมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าสงสัยว่าจะมีคนร้ายลักฝาตะแกรงเหล็กปิดท่อระบายน้ำ ในอุโมงค์ลอดทางแยกท่าพระ เขตบางกอกน้อย ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก เพราะสังเกตเห็นฝาตะแกรงหายไปเกือบทั้งหมด เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะ

พ.ต.ท.หอมหวลกล่าวว่า หลังจากรับแจ้ง พ.ต.อ. เมธี รักพันธ์ ผกก.สน.ท่าพระ

สั่งการให้พ.ต.ต. บรรเทา อรุณประชารัตน์ สวป. ออกตรวจเพิ่มความถี่ภายในอุโมงค์ดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 29 ก.พ. ขณะเจ้าหน้าที่ออกตรวจตรา ได้พบรถบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้ออีซูซู สีฟ้า เลขทะเบียน 92-8461 กทม. ของบริษัท ส.สัมฤทธิ์ผล มีลักษณะต้องสงสัยจอดอยู่ในอุโมงค์ มีชายสามคนลักษณะมีพิรุธอยู่ในรถ เมื่อเห็นรถสายตรวจก็รีบขับรถหลบหนีอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่จึงไล่สกัดจับไปถึงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน คนร้ายได้จอดรถทิ้งและกระโดดจากรถหลบหนี จึงได้ยึดรถมาตรวจสอบ พบที่เบาะคนนั่งข้างคนขับ มีฝาตะแกรงเหล็กปิดท่อระบายน้ำจำนวน 10 อันวางอยู่

พ.ต.ท.หอมหวลเปิดเผยต่อไปว่า หลังจากนั้นในวันที่ 10 มี.ค. มีนายรณชัย ลิมปิไพบูลย์ อายุ 29 ปี

อยู่บ้านเลขที่ 83/7 หมู่ 10 ถ.อ่อนนุช แขวงและเขตประเวศ กทม. เข้ามอบตัวให้การรับสารภาพว่าทำงานเป็นคนขับรถขนดินของบริษัทดังกล่าวซึ่งอยู่ย่านมหานาค ก่อนเกิดเหตุถูกเพื่อนสองคนชื่อนายสาหน พรหมมะดัน อายุ 30 ปี และนายอภิชาติ ชัยงาม อายุ 30 ปี ชักชวนก่อเหตุลักฝาท่อระบายน้ำในอุโมงค์ลอดแยกท่าพระ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับนายสาหนและนายอภิชาติแล้ว และจะได้ติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป พร้อมกับประสานไปยังฝ่ายการโยธา กทม. ที่รับผิดชอบสะพานลอยและอุโมงค์เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ของหลวงโดยใช้ยานพาหนะเวลากลางคืน มีโทษจำคุก 7 ปี


ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ โฆษกตร. กล่าวถึงมาตรการป้องกันคนร้ายโจรกรรมทรัพย์สินสาธารณะว่า

เรื่องดังกล่าวฝ่ายปกครองได้พูดเกี่ยวกับเรื่องพ.ร.บ.ควบคุมร้านค้าของเก่า จะได้หารือกันเรื่องมาตรการต่างๆ ซึ่งหากตำรวจได้รับความร่วมมือจากเจ้าของร้านรับซื้อของเก่า ในการสอดส่องดูแลคนที่นำของเก่ามาขาย ก็จะเป็นสิ่งที่ดีในการป้องปรามการลักทรัพย์สาธารณะมาขาย เจ้าของร้านจะได้เป็นข้อป้องกันตัวเองว่าไม่มีเจตนารับซื้อของโจร ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ผู้ประกอบการ จะต้องร่วมมือกัน

"ผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่าต้องทำงานของเขาเพื่อให้มีผลกำไร แต่หากธุรกิจของเขาถูกใช้เป็นเครื่องมือให้ผู้ที่ลักเล็กขโมยน้อยเอาทรัพย์สินของราชการ แม้ราคาไม่มาก แต่เกิดความเสียหายมากมาย อย่างกรณีที่ลักนอตเสาไฟฟ้าแรงสูง ได้ราคาไม่มาก แต่เกิดความเสียหายต่อทางราชการและประชาชนอย่างมาก ดังนั้นเราต้องช่วยกันทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ที่สำคัญประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแส เชื่อว่าจะสามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้"
โฆษก ตร.กล่าว

นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวถึงปัญหาโจรขโมยสายไฟว่า ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

กฟภ.ถูกกลุ่มมิจฉาชีพแอบลักขโมยอุปกรณ์ ระบบจำหน่ายไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้าไปถึง 153 ครั้ง จากพื้นที่ กฟภ. 12 เขต ใน 73 จังหวัด ก่อให้เกิดความเสียหายแล้วถึง 4,421,405 บาท โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 จ.เชียงใหม่ มีสถิติการขโมยสูงสุดถึง 35 ครั้ง มีมูลค่าความเสียหาย 510,166 บาท รองลงมาคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 3 จ.นครปฐม มีสถิติการขโมย 30 ครั้ง มูลค่าความเสียหาย 1,228,138 บาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 2 จ.ชลบุรี ถูกขโมย 20 ครั้ง มีมูลค่าความเสียหาย 1,040,161 บาท

นายอดิศรกล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ การพยายามตรวจสอบการขโมยให้เข้มงวดขึ้น

รวมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยสอดส่องดูแล เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกขโมยเป็นทรัพย์สินของภาคหลวง ที่นำเงินรายได้จากภาษีของประชาชนมาซื้อ ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ควรช่วยกันตรวจสอบด้วย นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วยตรวจสอบแหล่งรับซื้อของเก่าให้มีหลักฐานการแสดงรายการรับซื้อสินค้า เพื่อป้องกันการลักลอบนำอุปกรณ์ไฟฟ้าของรัฐมาจำหน่าย

ด้านนายวิเชียร เนียมสอน หัวหน้ากองบำรุงรักษาสายส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า

กฟผ.ได้รับความเสียหายจากการขโมยอุปกรณ์สายส่งไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันแล้วนับ 10 ล้านบาท และยังพบว่ามีการโจรกรรมชิ้นส่วนอุปกรณ์เสาส่งไฟฟ้า แรงสูงของ กฟผ.เพิ่มมากขึ้น โดยจากสถิติความเสียหายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่พาดผ่านอยู่ทั่วประเทศ พบว่า พื้นที่ภาคกลางเกิดการโจรกรรมบ่อยมากที่สุด พื้นที่ภาคอีสานมีแนวโน้มตัวเลขการลักขโมยสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่อุดรธานี หนองคาย เลย และหนองบัวลำภู พื้นที่ภาคเหนือ บริเวณ จ.เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดขึ้นบ่อยครั้ง พื้นที่ภาคใต้ก็มีเช่นกันแต่ไม่บ่อยเหมือนภาคอื่น

ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา

นายอานนท์ พรหมนารท ผวจ.ฉะเชิง เทรา ได้เรียกผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า 350 ราย ประชุมรับทราบและขอความร่วมมือระมัดระวังการพิจารณารับซื้อของเก่า ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่อาจจะถูกขโมยมา ที่มีโทษตามพ.ร.บ.ควบ คุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"การขโมยสิ่งของทรัพย์สินของทางราชการกลายเป็นที่นิยมหรือแฟชั่นไปแล้ว ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก แม้แต่ของที่จวนผู้ว่าฯ ของยังหาย คือตะแกรงเหล็กที่ปิดฝาท่อระบายน้ำเสียหน้าจวนหลายอัน ถูกมือดีขโมยไป"
นายอานนท์กล่าว

นายพลากร บุญห่อ ประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าบาง ปะกง ระบุว่า ช่วงเดือนก.พ.มีอุปกรณ์เสาไฟฟ้าแรงสูง

ซึ่งเป็นเหล็กฉาก นอตต่างๆ ทำด้วยเหล็กกล้า เคลือบด้วยกาไวเนอร์ ไม่เป็นสนิม มีเสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตพาดผ่านเขต อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.บางคล้า อ.แปลงยาว หายไปน้ำหนักรวมประมาณ 8 ตัน ถ้านำไปขายได้ราคาเพียงก.ก.ละ 13 บาทเท่านั้น แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนับสิบล้านบาท ที่ผ่านมาไม่เป็นข่าวแพร่หลายเพราะเสาไฟฟ้าไม่ล้ม ที่ถูกถอนออกมาจนล้มจึงเป็นข่าว ที่ฉะเชิงเทรามีลักถอดนอตเหล็กกันมาก และยากแก่การเฝ้าระวังเพราะเสาไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.ตั้งอยู่ตามกลางทุ่ง กลางท้องไร่ท้องนา

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์