เปิบส้มตำปลาร้าปักเป้าอ้วกแตกหิ้วส่งรพ.3ราย

สยองปลาปักเป้าโผล่ในปลาร้า ชาวบ้านตั้งวงกินส้มตำปลาร้า เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน แขน-ขาชา หามส่ง รพ.บ้านค่าย ระยอง 3 ราย ออกตรวจตลาดเจอขายไปแล้ว 3 ปี๊บครึ่ง ที่เหลือครึ่งปี๊ปสั่งอายัดห้ามจำหน่าย เผยส่งมาขายจากนครสวรรค์


เหตุการณ์ผู้ป่วยกินส้มตำปลาร้าถูกหามส่งโรงพยาบาล หลังพบปลาร้าทำจากปลาปักเป้า เปิดเผยเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 มกราคม นพ.กฤษณ์ ปาลสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญ 8 ด้านเวชกรรม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ระยอง นพ.สมชาย ศุภวาทิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านค่าย อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พร้อมด้วย นายปรเมศร์ อรุณ นักวิชาการประมง เข้าร่วมประชุมที่โรงพยาบาลบ้านค่าย หลังได้รับรายงานว่า มีผู้กินส้มตำปลาร้าแล้วเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง แขน-ขาอ่อนแรง นิ้วมือเกิดอาการชา ถูกนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลบ้านค่าย 3 คน
 

นพ.กฤษณ์ กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลทั้งสามคน เกิดจากการรับประทานปลาร้าในส้มตำที่ทำจากปลาปักเป้า
 
โดยเมื่อมีการนำปลาปักเป้าน้ำจืดมาตำจนเนื้อแหลก ทำให้พิษในปลาปักเป้าแพร่กระจาย เมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายจึงเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แขน-ขาอ่อนแรง เกิดอาการชาตามร่างกาย ซึ่งหลังได้รับการรักษาจากแพทย์แล้วอาการผู้ป่วยเริ่มดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินการควบคุมโรคได้พยายามค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่เพิ่มเติม พร้อมทั้งให้สุขศึกษาเรื่องพิษจากปลาปักเป้า และไปตรวจสอบร้านขายของในหมู่บ้านที่ผู้ป่วยไปซื้อมา โดยเก็บตัวอย่างปลาร้าที่ยังเหลืออยู่ในร้าน ส่งตรวจหาว่ามีปักเป้าปนอยู่ หรือมีสารพิษจากปักเป้าปนอยู่อีกหรือไม่ 


"ได้แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการพบปักเป้าอยู่ในปลาร้า นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองยังให้หน่วยเคลื่อนที่สอบสวนหาแหล่งของปลาร้า เพื่อติดตามหาต้นตอว่าตั้งใจนำปักเป้ามาทำปลาร้าจำหน่ายให้ผู้บริโภคหรือไม่" นพ.กฤษณ์ กล่าว


นพ.กฤษณ์ กล่าวในเวลาต่อมาว่า เมื่อเวลา 14.00 น.

ได้เดินทางไปตรวจสอบร้านขายของชำที่จำหน่ายปลาร้า ที่ตลาดหนองกรับ พร้อมสอบถามแม่ค้าขายปลาร้าจนทราบว่า ก่อนหน้านี้มีคนมาส่งปลาร้า 4 ปี๊บ ขายไปแล้วเหลือเพียงครึ่งปี๊บ จึงได้อายัดห้ามจำหน่าย ขณะเดียวกัน มีพ่อค้ากำลังขนปี๊บปลาร้ามาส่งให้ใหม่ แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีปลาปักเป้าเจือปน สอบถามถึงที่มาของปลาร้าอัดปี๊บ ทราบว่ามาจากโรงงานผลิตปลาร้าจาก จ.นครสวรรค์
 

"จากการตรวจปลาร้าที่ขายตามแผงร้านค้าตลาดหนองกรับที่บรรจุถุงพลาสติกจำหน่าย ไม่พบมีเนื้อปลาปักเป้าเจือปนแต่อย่างใด แต่ได้ขอร้องให้ผู้ค้าปลาร้างดจำหน่าย ส่วนที่ซื้อมาจำหน่ายขอให้นำมาคืนที่สถานีอนามัยหนองกรับเพื่อส่งเข้าตรวจห้องแล็บ ซึ่งก็ได้ประสานความร่วมมือในการเร่งตรวจว่ามีเนื้อปลาปักเป้าเจือปนหรือไม่ เบื้องต้นเห็นว่าโรงงานที่ผลิตน่าจะมีความใส่ใจในรายละเอียดของที่มาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต" นพ.กฤษณ์ กล่าว



นางสมใจ ซื่อตรง อายุ 48 ปี ผู้ป่วยซึ่งยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านค่าย กล่าวว่า

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 12 มกราคม ได้ไปซื้อปลาร้าที่ร้านขายของชำของ นายเสวก บุญระยอง เพื่อนำมาใส่ส้มตำ โดยมี นางบังอร ชูจรัส อายุ 42 ปี เพื่อนบ้าน เป็นคนปรุง ส่วนผู้ที่ร่วมรับประทาน มีทั้ง นางอมรา อ่างแก้ว อายุ 20 ปี บุตรสาวของนางบังอร และหลานของตนอีก 2 คน ระหว่างกินส้มตำปลาร้าอยู่นั้นสังเกตเห็นเนื้อปลาร้าคล้ายหนังคางคก เมื่อกินเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้าน จากนั้นไม่นานก็เกิดอาการคลื่นไส้ มือ-ขาไม่มีแรง มีอาการชาที่นิ้วมือ จึงไปซื้อโซดามากินล้างท้อง และโทรศัพท์บอกเพื่อนบ้านที่กินด้วยกันให้ไปซื้อโซดามากินล้างท้อง
 

ผู้ป่วยรายนี้ กล่าวอีกว่า จนถึงเช้าวันที่ 13 มกราคม อาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ยังไม่ทุเลา
 
กระทั่งเช้าวันที่ 14 มกราคม จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านค่าย ส่วนหลานอีก 2 คนไม่ได้รับผลกระทบเพราะกินไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้านนางบังอร กล่าวว่า ได้ชวนนางสมใจ เพื่อนบ้าน มารับประทานส้มตำปลาร้าด้วยกัน เพราะเห็นว่านางสมใจไม่เคยกินปลาร้ามาก่อน ส่วนที่มาของปลาร้านั้นได้ให้นายเสวก สามี ไปซื้อจากร้านขายของชำในหมู่บ้าน ซื้อมา 2 ถุง ราคาถุงละ 5 บาท ในการปรุงได้แยกตำ 2 ครก ของเด็กครกแรก ใส่พริกน้อย ใส่แต่น้ำปลาร้า ครกที่สองตำเผ็ด ใส่ตัวปลาร้าด้วย พอตำเสร็จกินไปได้สักพักก็เริ่มมีอาการเวียนหัว มึนหัว คลื่นไส้
 

"ตอนแรกเอะใจ คิดว่าเป็นเหมือนคนกินคางคก นางสมใจจึงลองเขี่ยดูในจานส้มตำ เพื่อหาดูว่าในปลาร้าอาจมีคางคก พอเขี่ยไปก็พบปลาตัวหนึ่ง ลักษณะโตกว่าปลาร้าตามปกติ เมื่อหยิบขึ้นมาดูนางสมใจบอกว่า เป็นปลาปักเป้า ไม่ใช่ปลากระดี่เหมือนปลาร้าทั่วไป" นางบังอร กล่าว


ขณะที่ นพ.บัวเรศ ศรีประทักษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า

หลังได้รับการประสานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองจึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบตามแหล่งผลิตปลาร้า เบื้องต้นคาดว่าแหล่งผลิตน่าจะอยู่ที่ อ.พยุหะคีรี ซึ่งในการตรวจสอบยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะพบปลาปักเป้าปนอยู่กับปลาร้า แต่จะตรวจสอบไปตามแหล่งที่น่าสงสัยทุกแห่ง "ยอมรับว่ายังไม่เคยทราบมาก่อนเรื่องการเอาเนื้อปลาปักเป้ามาทำปลาร้า เพราะปลาที่ทำปลาร้าส่วนใหญ่จะใช้ปลาทั้งตัวและเป็นปลามีก้าง ไม่ว่าจะเป็นปลาซิว ปลาสร้อย ดูแล้วน่าจะหาได้ง่ายกว่าปลาปักเป้า ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขเองกำลังเฝ้าระวังในส่วนอื่นมากกว่าว่าจะมีการนำเอาเนื้อปลาปักเป้ามาทำผสมหรือไม่ เช่น เนื้อกะทะ หมูกะทะ" นพ.บัวเรศ กล่าว


ด้าน พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร ผบก.ปศท. ยอมรับว่า ถึงขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการลักลอบนำปลาปักเป้ามาจำหน่าย

ทั้งในรูปแบบของเนื้อสำเร็จรูปและไม่ได้แปรรูป โดยรับมาจากท่าเทียบเรือต่างๆ ในจังหวัดที่มีชายฝั่งติดทะเลและทำการประมง อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีการตรวจสอบจากสถิติการจับกุมของ ปศท. พบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการนิยมแปรรูปเนื้อปลาปักเป้าก่อนออกขาย เนื่องจากจะได้ราคาดีกว่า อีกทั้งยังเป็นการหลบเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ในขณะที่ขนย้ายได้ดีกว่าการขนเป็นตัวปลา โดยจากสถิติเมื่อปีก่อนคาดว่ามีการนำเนื้อปลาปักเป้ากว่า 1 แสนกิโลกรัมออกจำหน่ายในแต่ละวันทั่วประเทศ

"ถึงผมจะโดนหัวเราะเยาะ ถึงจะโดนตั้งฉายาว่าเป็นมือปราบปลาปักเป้า ผมก็จะเฝ้าจับกุมการลักลอบจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้าต่อไป เพราะผมมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบต่อชีวิตพี่น้องประชาชน เวลานี้ยอมรับว่าการจับกุมผู้กระทำความผิดยากมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของ ปศท.มีน้อย ไม่สามารถตรวจสอบจับกุมได้ทั่วถึง อีกทั้งขณะนี้ผู้ประกอบการพยายามส่งเนื้อปลาเข้าโรงแร่ แปรรูปเป็นลูกชิ้น ทอดมันเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากจับกุมก็จะต้องใช้เวลาพิสูจน์หลายวัน อีกทั้งหากตรวจสอบแล้วไม่ใช่เนื้อปลาปักเป้าก็จะมีปัญหาติดตามมาอีก" ผบก.ปศท. กล่าว


พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปกติปลาปักเป้า 1 ตัวจะมีพิษฆ่าคนได้ถึง 30 คน หรือเท่ากับไซยาไนต์ 1,200 กรัม

อีกทั้งพิษของปลาปักเป้ายังทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส หากใครได้รับพิษของปลาดังกล่าวจะมีอาการ 4 ระยะด้วยกัน คือ 1.ผู้รับพิษจะเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า คลื่นไส้ และอาเจียน 2.ผู้รับพิษจะมีอาการชาในบริเวณที่กล่าวไปแล้วมากขึ้น อ่อนเพลีย อ่อนแรง ถึงขั้นเดินและยืนไม่ได้ 3.กล้ามเนื้อกระตุก การออกเสียงลำบากเนื่องจากกล่องเสียงเป็นอัมพาต และ 4.กล้ามเนื้อหยุดทำงาน หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว รูม่านตาขยาย และหัวใจจะหยุดเต้นในที่สุด
   

"ผมเพิ่งเคยได้ยินว่ามีการนำปลาปักเป้าไปทำเป็นปลาร้า ซึ่งเข้าใจว่าพิษในตัวปลาอาจมีการตกค้างอยู่ เนื่องจากขณะที่ผู้ชำแหละไม่มีความชำนาญทำให้พิษตกค้าง อย่างไรก็ดี เราพยายามกวดขันจับกุม แต่ก็ยังมีหลุดเล็ดลอดไปจำนวนไม่น้อย จึงอยากขอร้องให้ผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจมองเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก อย่ามองแต่เพียงประโยชน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะเป็นการทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว หากถูกจับกุมจะถูกดำเนินคดีจำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี พร้อมปรับเงิน 5,000-20,000 บาท ด้วย" พล.ต.ต. วิสุทธิ์ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์