เซ่นรับสงกรานต์วันแรกสังเวยแล้ว 45 ศพ

สังเวยแล้ว 45 ศพ ยอดตายวันแรกใน 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ จากอุบัติเหตุทั้งหมด 557 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 607 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน สาเหตุเมาเหล้า ขับรถเร็วเกินกำหนด มอเตอร์ไซค์มากสุด ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง "ปากน้ำโพ" อุบัติเหตุสูงสุด ขณะที่โคราช นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี ตายสูงสุดจังหวัดละ 3 ศพ ส่วนบรรยากาศเล่นสาดน้ำกลับมาคึกคักเหมือนเดิม ถนนข้าวสารชุ่มฉ่ำ รวมทั้งอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน แถลงว่า

 
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา วันแรกของการรณรงค์ "สงกรานต์นี้ ขับขี่ปลอดภัย คนไทยรักกัน" เกิดอุบัติเหตุ 557 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2552 จำนวน 165 ครั้ง หรือร้อยละ 42.09 ผู้เสียชีวิต 45 คน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2552 จำนวน 9 คน หรือร้อยละ 25 ผู้บาดเจ็บ 607 คน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2552 จำนวน 197 คน หรือร้อยละ 48.05 นายอนุชา กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 40.22 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.78 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.22 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 54.94 บนถนน อบต. หรือหมู่บ้าน ร้อยละ 36.98 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 32.68 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กลางคืน ร้อยละ 62.48 โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 30.16 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 55.53

เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า
 
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 23 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี จังหวัดละ 3 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 27 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ มี 7 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ตราด ยโสธร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อำนาจเจริญ ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 44 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บมี 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ตราด ยโสธร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,528 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,688 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 547,562 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 48,566 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.87 ของการเรียกตรวจ โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 15,948 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 15,373 ราย

นายอนุชา กล่าวต่อว่า

จากสถิติพบว่าการเมาแล้วขับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40 โดยเฉพาะผู้ขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยส่วนใหญ่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และผู้บาดเจ็บสาหัสมีโอกาสพิการสูงถึงร้อยละ 10 อีกทั้ง 1 ใน 3 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันความสูญเสียจากเหตุดังกล่าว จึงสั่งการให้จังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งจุดสกัดในหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อควบคุมผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่สวมหมวกนิรภัย เมาสุรา ไม่ให้ออกไปขับขี่ยานพาหนะสร้างความเดือดร้อนกับผู้ใช้เส้นทางรายอื่น กรณีที่พบว่าผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นเด็กและเยาวชน ให้แจ้งผู้ปกครองรับตัวกลับไปพักผ่อน รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยห้ามนำไปบริโภคในสถานที่จัดงานสงกรานต์ และกำชับให้เข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์