อุทธรณ์ยืน คุก-ปรับ หมอวิชัยนำเข้าปาเจโร่เถื่อน

อุทธรณ์ยืน คุก-ปรับ หมอวิชัยนำเข้าปาเจโร่เถื่อน


อุทธรณ์ยืนคุก 1 ปี ปรับ 6.5 ล้าน หมอ วิชัย ชัยจิตวณิชกุล อดีต สส.อุดรฯ ทรท. นำเข้าปาเจโรเถื่อน ค่าล้านเศษ หลักฐานชัด

  วันนี้ 30 ต.ค.  ที่ห้องพิจารณา 907  ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์  คดีรถปาเจโรเถื่อน หมายเลขดำ อ.3595/49 หมายเลขแดง อ.1080/53 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1  เป็นโจทก์ ฟ้อง นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล อดีต รมช.พาณิชย์ อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคไทยรักไทย และอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111   เป็นจำเลย ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2496 มาตรา 27 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 49  ระบุความผิดจำเลยสรุปว่า

    เมื่อระหว่างเดือน ธ.ค.2540 - 20 มี.ค.2541 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้บังอาจซื้อหรือรับไว้ซึ่งรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นปาเจโร ทะเบียนป้ายแดง ก.-7999 จำนวน 1 คัน ราคา 904,1111.62 บาท คิดเป็นอากรขาเข้า 723,289 บาท รวมราคา 1,627,400.62 บาท โดยมีผู้ลักลอบนำรถยนต์คันดังกล่าวจากต่างประเทศเข้ามาในอาณาจักรไทย และจำเลยรับไว้โดยรู้อยู่แล้วว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อจำกัด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย  และจำเลยได้ใช้แผ่นป้ายทะเบียน (ป้ายแดง) หมายเลข ก-7999 อันเป็นเอกสารราชการที่มีผู้ทำปลอมขึ้นซึ่งได้ติดแผ่นป้ายไว้กับรถยนต์ จนเกิดความเสียหายแก่กรมการขนส่งทางบก ผู้อื่นและประชาชน ต่อมาวันที่ 20 มี.ค.2541 เวลากลางวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบ ยึดรถยนต์คันดังกล่าว พร้อมแผ่นป้ายทะเบียนแดงปลอม จำนวน 2 แผ่น แผ่นป้ายกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสพภัยจากรถ จำนวน 1 แผ่น ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ยึดไว้เป็นของกลางจากบ้านเลขที่ 329/42 ซ.วิลล่า ต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2499 มาตรา 4   ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 33,91,268 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 66 (พ.ศ.2526)มาตรา 4 พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489  มาตรา 4,5,6,7,8,9   จำเลยให้การปฏิเสธ

    คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2553 เห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469ม.27ทวิ ปอ.ม.268 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป   ฐานรับไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับ  6,509,602.25บาท ฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000  บาท เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสโดยรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด  1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี   ให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมร้อยละยี่สิบของเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล  คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ส่วนของกลางอื่นให้ริบ ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์

    ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ได้กระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ ซึ่งจำเลยอ้างว่า หัวคะแนนของจำเลยเป็นผู้นำรถมาเสนอขายให้เพราะต้องการนำเงินไปรักษาโรคไต แต่เมื่อจำเลยขอดูเอกสารการเสียภาษีแล้วไม่มี จึงยังไม่ได้รับซื้อ โดยหัวคะแนนนำสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยไปติดไว้ที่กระจกรถด้านหน้าแสดงการสนับสนุน และขอนำรถมาจอดทิ้งไว้ที่บ้านในวันที่ 19 ม.ค.41 ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยวันที่ 20 ม.ค.41 จำเลยเชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองนั้น    

    ศาลเห็นว่าโจทก์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าตรวจค้นบ้านของจำเลยใน จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 20 ม.ค.41 เบิกความซึ่งข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า การตรวจค้นพบรถมิตซูบิชิ รุ่นปาเจโร่ ป้ายแดง ก-7999 กทม. แต่ที่ด้านกระจกหน้าและด้านหลังรถไม่ติดแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี ส่วนแผ่นป้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ลงหมายเลขทะเบียนรถคนละคัน โดยกระจกด้านหน้ายังมีสติ๊กเกอร์ติดชื่อ นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล ส.ส.อุดรธานี ชื่อของจำเลยด้วย และเมื่อเจ้าหน้าที่เตรียมจะยึด ได้โทรศัพท์แจ้งจำเลยก่อนเนื่องจากขณะตรวจค้นจำเลยไม่ได้อยู่บ้าน ขณะที่จำเลยร้องขอว่า อย่าเพิ่งยึดรถขอกลางไปแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอม จำเลยได้ขอให้ลอกสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยที่กระจกด้านหน้ารถออกก่อน  และในการส่งรถของกลางตรวจที่ กองพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) สตช. พบว่ามีการลบตัวเลขถังและครัชซี ซึ่งรถของกลางคันดังกล่าวมีผู้แจ้งหายไว้ที่ประเทศมาเลเซีย

   คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้โจทก์ยังมีคนเฝ้าบ้านของจำเลย เบิกความว่า จำเลยซื้อรถดังกล่าวมาได้ประมาณ 3-4 เดือน และวันที่ 16 ม.ค.41 จำเลยยังให้คนขับรถไปส่งที่สนามบินอุดรธานีด้วย ซึ่งสอดคล้องกับ อดีตกำนัน ต.เพ็ญ  อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี พยานอีกปากที่เบิกความว่า ระหว่างที่อยู่ในพื้นที่เห็นจำเลยใช้รถดังกล่าว อีกทั้งทางนำสืบยังพบว่า จำเลย เคยตอบผู้ดำเนินรายการคุยข่าวทางโทรทัศน์ด้วยว่า นำรถมาใช้ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.40 – 20 มี.ค.41 รวมเวลาประมาณ 3 เดือน ทั้งโจทก์ยังมีเจ้าหน้าที่จากบริษัท MMC สิทธิผล จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและนำเข้ารถยนต์มิตซูบิชิ เบิกความด้วยว่า รถมิตซูบิชิ รุ่นปาเจโร ที่นำเข้าเมื่อบวกกับภาษีราคาประมาณ 3 ล้านบาท จึงรับฟังได้ว่า จำเลยซึ่งเคยเป็น รมช.พาณิชย์ ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า เมื่อซื้อรถนำเข้าจะต้องชำระภาษี และรถยนต์มิตซูบิชิ จะมีบจก. MMCสิทธิผล เป็นผู้จัดจำหน่าย แต่จำเลยกลับซื้อรถที่ราคาต่ำกว่าครึ่ง และไม่ทราบชื่อ-ที่อยู่เจ้าของรถที่ขาย  ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รางวัลนำจับเจ้าหน้าที่ตำรวจร้อยละ 20 จากมูลค่าค่าปรับ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยได้เข้ามอบตัวเอง ไม่ใช่เป็นการนำจับ จึงเห็นควรแก้เป็นให้งดการจ่ายรางวัลนำจับ  อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น  คง ให้พิพากษาเป็นไปตามศาลชั้นต้น  .


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์