อาชีวะกรุงเก่าเข้ม พบนักเรียนนักเลงไล่ออกทันที

อาชีวะกรุงเก่าเข้ม พบนักเรียนนักเลงไล่ออกทันที

ปิดสองสถาบันอาชีวะกรุงเก่าก่อเหตุตีกัน ระดมสมองวางมาตรการเข้ม หากจับได้ว่าก่อเหตุจริง ถูกไล่ออกทันที เตรียมตั้งศูนย์นักเรียนตีกัน ให้อาจารย์จากทุกสถาบันผลัดเปลี่ยนมาเฝ้า

วันนี้ ( 31 ส.ค. ) ที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา นายบำรุง อร่ามเรือง ผอ.วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา
 
รักษาการ ผอ.ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหานักศึกษาทะเลาะวิวาท กรมอาชีวะศึกษา เป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทกัน โดยมี สถาบันสังกัดอาชีวะศึกษาในจังหวัด 10 แห่ง และสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา ระดับมัธยม 2 แห่ง ร่วมประชุม


โดยที่ประชุมได้นำเหตุการณ์นักศึกษาทะเลาะวิวาทกันต่อเนื่อง 3 วันมาเป็นหัวข้อหลัก ซึ่งมีนักศึกษาบาดเจ็บหลายราย
 
ล่าสุดทางกระทรวงศึกษาได้ขอให้ปิดวิทยาลัยสังกัดอาชีวะศึกษาสองแห่งในจังหวัดแล้ว เปิดวันจันทร์ที่ 3 ก.ย.ทำให้ที่ประชุมเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด เนื่องจากผู้บริหารสถาบันแต่ละแห่งต่างก็มีนโยบายในการจัดการนักศึกษาของตนเอง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีมาตรการคุมเข้ม 11 จุดเสี่ยง แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ยังเกิดเหตุเป็นประจำทุกวันเช่นกัน ถึงขนาดผู้บริหารสถาบันกล่าวว่า เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ล้มเหลว
 

นายบำรุง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาสังกัดอาชีวะใน จ.พระนครศรีอยุธยา 1 หมื่นคน จาก 11 สถาบัน
 
แต่จากการติดตามและรับรายงานมีนักศึกษากลุ่มเสี่ยงที่จะก่อเหตุหรือคาดว่าจะไปร่วมก่อเหตุประมาณ 6 พันคน เท่าที่แก้ปัญหามา ยอมรับว่าเราแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ จะเข้าไปจับกุมหรือดำเนินการหลังจากที่นักศึกษาก่อเหตุแล้ว แต่หลังจากนี้ไปทุกฝ่ายที่มาร่วมประชุมและมีมติร่วมกันในการที่จะตั้งศูนย์นักเรียนตีกันที่สนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีอาจารย์และเจ้าหน้าที่จาก 10 สถาบันผลัดเปลี่ยนไปทำหน้าที่ตั้งแต่ประสานงานและออกตรวจร่วมตามจุดต่างๆ โดยการตรวจจะเน้นการสลายกลุ่มนักศึกษาเป็นหลัก เมื่อพบว่าการรวมตัวของนักศึกษาเกิน 4 คน ก็ให้ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการรวมตัวเพื่อก่อเหตุ จะต้องให้สลายกลุ่ม หรือทำประวัติเอาไว้


การป้องกันของตำรวจที่ผ่านมาที่วางกำลังเอาไว้ และเห็นว่าล้มเหลวนั้น เนื่องจากขณะนี้นักศึกษาจะก่อเหตุไม่เลือกจุด

เมื่อเจอที่ไหนก็มีโอกาสทำร้ายกันทันที โดยไม่เลือกว่าเป็นสถาบันใด  เมื่อจับกุมผู้ก่อเหตุได้หากเป็นนักศึกษา ก็จะพิจารณาโทษสูงสุดคือไล่ออก ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นนักศึกษาหรือเป็นศิษย์เก่า ก็ถือเป็นอาชญากรให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามความผิดขั้นสูงสุด และจะต้องติดตามไปยังบ้านเพื่อพบผู้ปกครอง ดูเรื่องความผูกพันในครอบครัว ความสนใจของผู้ปกครอง นอกจากนี้จะได้วางมาตรการควบคุมสถานการณ์แบบยั่งยืน ด้วยการแบ่งเขตตามความรุนแรง เช่นจุดเสื่ยงที่สุดเช่นท่ารถโดยสาร ก็จะให้ตำรวจดูแล จุดรองลงมาก็ให้ อ.ส.หรืออาจารย์ฝ่ายปกครองไปดูแล เชื่อว่าหากทุกฝ่ายดำเนินการอย่างจริงจัง จะแก้ไขปัญหาได้แน่นอน.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์