ศิริราชเจ๋งใช้หุ่นยนต์ ช่วยผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากครั้งแรก

การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์


ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ. อนุพันธ์ ตันติวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ (ยูโรวิทยา) รศ.นพ.ไชยยงศ์ นวลยง และคณะแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ร่วมแถลงข่าว การใช้หุ่นยนต์มือกลช่วยผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic Surgery) รุ่น Da Vinci S ประกอบด้วย console (ชุดควบคุมหรือสั่งการ)

และ surgical cart (ตัวหุ่นยนต์) มีแขน 4 แขน โดย 1 แขน ทำหน้าที่ถือกล้องที่มีคุณภาพสูง และอีก 3 แขน ใช้ในการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะควบคุมการผ่าตัด โดยนั่งที่ชุดควบคุมมองผ่านภาพ 3 มิติ และถ่ายทอดสัญญาณไปยังแขนของหุ่นยนต์ ซึ่งจะมีเครื่องมือเล็กยาวผ่านรูที่เจาะผ่านเข้าช่องท้องและทำการผ่าตัดอย่างที่แพทย์ต้องการ เช่น กรีด ตัด หรือเย็บเนื้อเยื่อ โดยเครื่องมือกลจะเคลื่อนไหวตามการหมุนของมือแพทย์ผ่าตัดที่ควบคุมอยู่ที่ชุดควบคุม เหมือนการเอามือเข้าไปผ่าตัดในช่องท้องอย่างอิสระ

สำหรับข้อดีของการใช้หุ่นยนต์มือกลผ่าตัดนี้ คือความแม่นยำสูงกว่า ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นกว่า มีโอกาสเสียเลือดน้อยกว่าและผลการผ่าตัดน่าจะดีกว่า การผ่าตัดด้วยกล้องเจาะผ่านหน้าท้องแบบเดิม เมื่อแพทย์มีความสามารถมากขึ้น จะเพิ่มขีดความสามารถในการตัดเลาะแยกเก็บเส้นประสาทที่ควบคุมการกลั้นปัสสาวะ และการแข็งตัวขององคชาต โดยที่ผลของการควบคุมมะเร็งยังดีอยู่

มะเร็งต่อมลูกหมากไม่สามารถป้องกันได้


ผอ.รพ.ศิริราช กล่าวอีกว่า ได้ทำการผ่าตัดผู้ป่วยรายแรกของประเทศไปแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา (16 ก.พ.) จากการพูดคุยกับผู้ป่วยเมื่อเช้าวันนี้ ผู้ป่วยกล่าวว่า ร่างกายแข็งแรงดี ไม่เจ็บมากนัก ทั้งนี้ มีผู้ป่วยรอการผ่าตัดขณะนี้ประมาณ 2-3 ราย อย่างไรก็ตาม การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดนี้ ทางโรงพยาบาลศิริราช จะพิจารณาใช้เฉพาะกับผู้ป่วยที่มีลักษณะตรงตามข้อบ่งชี้เท่านั้น เช่น เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตได้มาก สามารถควบคุมมะเร็งได้ อายุไม่สูงมากนักและยังต้องการสมรรถภาพทางเพศ หรืออายุประมาณ 50 ปี หรือกรณีที่มีร่างกายอ้วน ผ่าตัดโดยเปิดช่องท้องทำได้ยาก และจะใช้เกณฑ์นี้กับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพด้วย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หุ่นยนต์ผ่าตัดมีต้นทุนต่อเครื่อง 75 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดอยู่ในหลักแสนบาท นอกจากนี้ การผ่าตัดด้วยหุ่น มือกล ดังกล่าว ยังสามารถพัฒนาใช้ในการผ่าตัดชนิดอื่น ๆ สาขาอื่น ๆ ได้ เช่น การผ่าตัดทางเดินอาหาร หัวใจ และผ่าตัดทางนรีเวช ยืนยันว่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชได้ตัดสินใจเลือกเครื่องมือรักษาด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้เป็นไปตามกระแส ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดถือเป็นอีกทิศทางหนึ่งของการรักษาโรค

ด้าน รศ.นพ.อนุพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีอุบัติการณ์มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งในเพศชาย แต่ที่โรงพยาบาลศิริราช กลับสูงเป็นอันดับ 2 และพบว่ามีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น คือ ช่วงระหว่างวัย 60 79 ปี แนวโน้มพบมากขึ้น เพราะคนไทยอายุยืนขึ้น สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถติดตามอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากพบมะเร็งในระยะแรกจะได้มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจต่อมลูกหมากประจำปีด้วย.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์