วิจิตรเมินถอนร่างพรบ.จุฬาฯ อ้างเลยขั้นตอน-ตั้งอนุกมธ.เคลียร์

ไทยรัฐ

นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พ.ศ. วันนี้ (19 ธ.ค.) กรณีมีกรรมาธิการบางคนให้ความเห็นให้ถอดร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อนภายหลังจากสภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติด้วยเสียงข้างมากให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ ว่า กรณีนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการใดๆ ไม่ได้แล้ว เพราะเรื่องได้ผ่านร่างแล้วยอมรับในหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษาแล้ว

ขั้นตอนจากนี้คงไม่มีใครดำเนินการให้มีการถอดร่างได้ และที่ประชุมได้ตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาปัญหานี้ร่วมกัน โดยอนุกรรมาธิการจะเชิญมาจากทุกภาคส่วนที่เห็นข้อเด่นและข้อบกพร่องของร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อย่างไรก็ตาม เสียงคัดค้านที่ออกมาจากทุกฝ่าย ผมคงไปดำเนินการอะไรไม่ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความกังวลจากนิสิตนักศึกษาว่าครม.รีบนำเรื่องนี้เข้าทั้งๆ ที่ไม่ใช่กฎหมายสำคัญ ผลสุดท้ายจะจบลงเหมือน พ.ร.บ.สลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ที่ต้องถอนร่างออกไป นายวิจิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ครม.ไม่ได้เป็นคนเร่งให้นำเข้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านสภาที่แล้วมาตั้ง 4 ปี ผ่านมานานแล้ว แต่เพิ่งหยิบขึ้นมาพิจารณา และไม่ใช่ว่าครม.จะเร่งรีบในการนำเข้าด้วย แต่เป็นจุฬาลงกรณ์เสนอขึ้นมาเองว่ามหาวิทยาลัยพร้อมที่จะออกนอกระบบ

เราไม่ได้ไปเร่งหรือผลักดันเขา ตอนนี้เราควรจะพูดเรื่องที่จะทำให้อนาคตดำเนินไปได้มากกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

เมื่อถามว่ากังวลว่าเหตุการณ์การคัดค้านของนักศึกษาจะบานปลายกลายเป็นความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯหรือไม่

เพราะขณะนี้กระแสการคัดค้านเริ่มขยายออกไปมาก นายวิจิตร กล่าวว่า จะไปกังวลในเรื่องอะไร ในเมื่อครม.ไม่ได้เป็นคนเร่งนำเรื่องดังกล่าวเข้า เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย ส่วนเสียงคัดค้านนั้นต้องไปจัดการกันเอง

ด้าน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนรู้สึกพอใจที่กรรมาธิการได้บทสรุปออกมาเช่นนี้ โดยมีการตั้งอนุกรรมาธิการฯ ขึ้นมาเพื่อที่จะนำบุคคลากรจากหลายภาคส่วนเข้ามาชี้แจงและปรึกษาหารือถึงผลกระทบที่แต่ละฝ่ายได้รับ อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในครั้งนี้ ตนจะเปิดเวทีให้นิสิตเข้ามาแสดงความคิดเห็นและชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะในร่างที่สภาคณาจารย์นำเสนอไม่ใช่ว่าไม่ต้องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพียงแต่ต้องการให้ชะลอและนำหลายส่วนมาศึกษาให้ละเอียดว่าส่วนใดมีข้อบกพร่อง เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์

ขณะที่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวก่อนหน้านี้ กรณีสภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติเป็นเอกฉันท์ 31 ต่อ 3 เสียง ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า จะขอหารือต่อที่ประชุมกรรมาธิการฯ วันเดียวกันนี้ เพื่อขอให้หยุดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไปก่อน จนกว่าสภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย กับสภามหาวิทยาลัยจะตกลงกันได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่เคยมีการถอนร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ออกจากการพิจารณา แต่หากพิจารณาตามขั้นตอนสามารถทำได้ หากรัฐมนตรีหรือรัฐบาลขอถอนร่างกฎหมายกลับ เนื่องจากมีผู้ข้องใจ

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวต่อว่า เมื่อสภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติเช่นนี้

ควรทำให้เกิดความชัดเจนก่อนจะเดินหน้าต่อไป หากปล่อยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง จะทำให้เกิดผลเสียหายในภายหลัง อาจกลายเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไปปะทะกับสภาคณาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เดิมคิดว่าเป็นแค่นิสิตกับอาจารย์บางส่วนออกมาเคลื่อนไหว มีน้ำหนักระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นสภาคณาจารย์ฯ ซึ่งเป็นที่รวมของอาจารย์ทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ เราต้องหยุด เพื่อไตร่ตรองให้ชัดว่าจะเดินหน้ากฎหมายนี้อย่างไร หากเดินหน้าไปแล้วไม่ดีกลายเป็นไปปะทะกับอาจารย์จุฬาฯ กระบวนการจะแรงขึ้น หากมีการตีกฎหมายตกในวาระสามจะยิ่งแย่ไปใหญ่ อย่าลืมว่าสภามหาวิทยาลัยเป็นบุคคลภายนอก ขณะที่สภาคณาจารย์เป็นบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยทั้งหมด หน้าที่เราคือให้หยุดก่อนให้เขากลับไปคุยกันให้เรียบร้อย นายวัลลภ กล่าว

นายวัลลภ กล่าวต่ออีกว่า หากเสนอความเห็นต่อกรรมาธิการฯ แล้วที่ประชุมยังยืนยันที่จะพิจารณาต่อ

ตนจะขอวอล์คเอาท์ เพราะไม่ต้องการรับภาระพิจารณาเรื่องนี้ และถือเป็นการไม่ควรที่นำเรื่องที่ยังไม่ตกผลึกมาพิจารณา ตนเห็นว่าคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภามหาวิทยาลัยควรฟังเสียงคัดค้านของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะหากไม่รับฟังจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกมาเคลื่อนไหวชัดเจนเช่นนี้

เรื่องนี้จะไม่ธรรมดาแน่ เพราะนิสิตนักศึกษาทุกสถาบันทำกิจกรรมเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว เผลอๆ จะกลายเป็นชนวนทำให้เกิดการเดินขบวนเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และอาจจะเลยเถิดไปกระทบต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต้องล้มลงด้วยเหตุนี้ นายวัลลภ กล่าว

ต่อข้อถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรีบเร่งนำกฎหมายเข้ามาพิจารณาจนเกินไปใช่หรือไม่

นายวัลลภ กล่าวว่า คงไม่ใช่ความผิดของใคร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของมหาวิทยาลัยจะดำเนินการหรือไม่ หากมหาวิทยาลัยเสนอมา เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่หากมหาวิทยาลัยไม่เสนอมา ก็ไม่มีใครที่สามารถบังคับได้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังเป็นมหาวิทยาลัยที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นสถาบันที่มีรากฐานมายาวนาน ทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยพระราชทาน สินทรัพย์ของมหาวิทยาลัยก็เป็นของพระราชทาน การนำเรื่องนี้เข้ามาก่อนเหมือนเป็นการเอาเรื่องใหญ่เข้ามาโยกระบบทั้งหมด ถือเป็นเรื่องลำบาก ผิดกับมหาวิทยาลัยที่เปิดใหม่ไม่นาน ผมอยากให้ลองดูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประกาศว่าหากจะนำเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับเข้า จะขอเป็นมหาวิทยาลัยสุดท้าย ที่เขาคิดเช่นนี้เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รู้ตัวเองดีว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน นายวัลลภ กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์