วางเพลิงรอบตำหนักดอยตุงผู้การลั่นติดตามจับกุมตัวให้ได้โดยเร็ว

คม-ชัด-ลึก

17 เมษายน 2550 20:39 น.

ตำรวจเชียงรายพบหลักฐานวางเพลิงบริเวณรอบพระตำหนักดอยตุง สอดคล้องกับผลการสอบปากคำพยาน ผู้การลั่นติดตามจับกุมตัวให้ได้โดยเร็ว ขณะที่ชาวบ้านเดือด วอนถ้าจับตัวได้ให้นำมามัดกับต้นไม้ ขอเวียนเทียนเตะคนละที

กรณีเกิดเพลิงไหม้ป่าดอยตุง บริเวณพระตำหนักดอยตุง ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่ตั้งพระตำหนักของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนทำให้บริเวณรอบพระตำหนักได้รับความเสียหายบางส่วน เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาดอยตุง และชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือมนุษย์ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจังหวัดทหารบกเชียงราย ต้องเร่งสืบหาข้อมูลเพื่อหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เมษายน พล.ต.ต.ทรงธรรม อัลภาชน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย (ผบก.ภ.จว.เชียงราย) กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนภูธรจังหวัดเชียงราย ได้พบพยานวัตถุ คือกระดาษสาเปื้อนคราบผงดินปืน ตกอยู่บริเวณริมถนนสายสันกอง-ดอยตุง ต.แม่ฟ้าหลวง พร้อมก้านไม้ขีดไฟ 9 ก้านมัดติดกันด้วยยางรัด นอกจากนี้ยังมีก้านไม้ขีดไฟอีกจำนวนหนึ่งมัดติดกับแท่งยากันยุงและก้อนหิน

พล.ต.ต.ทรงธรรม กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนปากคำพยาน 66 ราย

และหลักฐานที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ทำให้เชื่อว่าเพลิงไหม้ในครั้งนี้เกิดจากฝีมือของมนุษย์อย่างแน่นอน โดยได้ตั้งประเด็นการลอบเผาไว้ 6 ประเด็นคือ 1.โครงการพัฒนาดอยตุงเกิดความขัดแย้งกับประชาชน หรือชาวบ้านในพื้นที่ 2.ความขัดแย้งในการบริหารของเจ้าหน้าที่โครงการควบคุมไฟป่าดอยตุง และผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการควบคุมไฟป่า 3.การสร้างสถานการณ์เพื่อของบประมาณในการดับไฟเพิ่มสูงขึ้น 4.ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 5.ปัญหากลุ่มวัยรุ่นภายในพื้นที่ และ 6.ด้านความมั่นคงหรือสร้างสถานการณ์ทางการเมือง

"ขณะนี้ได้กำชับคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และจะติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ให้เร่งดำเนินการเนื่องจากเป็นกรณีที่กระทบจิตใจประชาชน" พล.ต.ต.ทรงธรรม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดอยตุง ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จากอดีตซึ่งเคยเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชันและมีประชากรเผ่าต่างๆอาศัยกันอยู่เป็นจำนวนมาก

อาทิ เผ่า ลั่วะ ไทยใหญ่ อาข่า จีนยูนาน บนพื้นที่ต่างๆและได้ประกอบอาชีพทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยรวมถึงการปลูกฝิ่นซึ่งเป็นพืชยาเสพติดที่ชาวเขาในอดีตนิยมปลูกกันมาก จนทำให้ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์บนดอยตุงกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมและพื้นดินก็ไม่สามารถปลูกพืชสวนทางเกษตรได้

แต่ภายหลังสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ได้มีพระราชดำริในการสร้างพระตำหนักไว้บนดอยตุง พร้อมกับส่งเสริมอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น ด้วยการนำโครงการฝึกอาชีพการส่งเสริมการทำการเกษตรด้วยการแบ่งจัดสรรที่ดิน รวมถึงนำนักวิชาการเข้ามาให้ความรู้กับคนในท้องถิ่น และรณรงค์ช่วยกันปลูกป่า จนพบว่าในปัจจุบันประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริเวณดอยตุงและบริเวณใกล้เคียง ทุกคนมีอาชีพและความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ พร้อมกับป่าไม้ที่เคยกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมได้กลับกลายเป็นป่าไม้ธรรมชาติเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ทำให้ประชากรในพื้นที่ทุกคนรักสมเด็จย่า และเทิดทูนแผ่นดินที่สมเด็จย่าให้อาชีพและฟื้นคืนชีวิตประชากรขึ้นมาใหม่

นายชื่น ไมตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า

พระตำหนักดอยตุงได้ตั้งอยู่ในเขต ต.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งภายในตัวรอบพระตำหนักดอยตุง ได้มีหมู่บ้านของประชากรเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่กันถึง 19 หมู่บ้าน โดยหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับพระตำหนักดอยตุงนั้น ได้แก่ หมู่บ้าน อีก้อป่ากล่วย และหมู่บ้านขาแหย่งพัฒนา ส่วนหมู่บ้านที่ไกลที่สุดได้แก่หมู่บ้านจะลอ ซึ่ง ต.แม่ฟ้าหลวง มีประชากรอาศัยอยู่จำนวน 13,000 คน อาชีพส่วนใหญ่ก็ทำการเกษตรและรับจ้างทั่วไป ประชากรบางส่วนจำนวน 6,000 คน ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาดอยตุงด้วยการฝึกอาชีพต่างๆ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ทุกคนรักในแผ่นดินแห่งนี้อย่างมาก เนื่องจากเป็นแผ่นดินที่สร้างรายได้ และชีวิตให้กับประชากร

"ถ้าจับกุมผู้วางเพลิงได้ ทางชาวบ้านอยากขอให้เจ้าหน้าที่นำตัวมามัดติดกับต้นไม้ใหญ่ และชาวบ้านจะขออยู่นอก กฎหมายสักครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยการเข้าแถวกันประมาณ 500 คน แตะผู้วางเพลิงคนละที ฐานที่กล้ามาทำกับแผ่นดิน ของสมเด็จย่า ซึ่งเป็นที่รักและให้ชีวิตแก่ชาวบ้านทุกคน" นายชื่น กล่าว

ดังนั้นจึงเชื่อว่าการที่ประชากรในพื้นที่จะเข้าทำลายเผาป่าเหมือนในอดีตนั้นไม่มีอย่างแน่นอน

หากมีการเผาป่าจะทำให้ไฟป่าลามไปติดพืชสวนทางการเกษตรของพวกเขาจนได้รับความเสียหาย และทางเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาดอยตุงก็ได้มีกฏบังคับห้ามมีการเผาป่าโดยอย่างเด็ดขาด ซึ่งหากจะมีการเผาต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาดอยตุงก่อน

รายงานข่าวแจ้งว่า หน่วยงานดับไฟป่าที่อยู่บนพื้นที่ดอยตุงมีอยู่จำนวน 3 หน่วย คือ หน่วยดับไฟป่าประจำโครงการควบคุมไปป่าดอยตุง หน่วยดับไฟป่าสนับสนุจากหน่วยควบคุมไฟป่าในภาคอีสาน หน่วยงานในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอหากเกิดเหตุการณ์ไฟป่าในพื้นที่ดอยตุงอีก จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาพบว่าได้มีราษฏรจากหมู่บ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง และเจ้าหน้าที่ดับเพลิง รถดับเพลิงจากโครงการพัฒนาดอยตุง เทศบาลจันจว้า และ อบต.ใกล้เคียงเข้ามาช่วยเหลือกันเป็นจำนวนมาก

เบื้องต้นได้มีกลุ่มราษฏร์ได้พูดคุยกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนบางกลุ่มที่ต้องการงบประมาณมายังหน่วยงานของตน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้งบประมาณน้อย เบี้ยเลี้ยงน้อย และเงินตกเบิกรวมถึงเงินเดือนนานถึง 3 เดือน ทำให้อุปกรณ์และความเป็นอยู่ขัดสนอย่างยิ่ง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์