ล่าทุบพนมรุ้ง รางวัล 5 หมื่น!

จากเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายบุกเข้าไปทุบทำลายโบราณสถานปราสาทหินพนมรุ้ง หมู่ 2 ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ได้รับความเสียหายหลายจุด

โดยเน้นทุบทำลายเฉพาะเทวรูปที่เป็นเทพคุ้มครองปราสาทหินพนมรุ้ง ทั้งเศียรนาค สิงห์ ทวารบาลผู้รักษาประตู และโคนนทิ นอกจากนี้ ยังได้มีการเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ออกจากแท่น คล้ายจะจงใจทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองปราสาทหินแห่งนี้ โดยกลุ่มคนร้ายได้นำบุหรี่ยาเส้น และแก้วน้ำ วางบนดอกบัว 8 กลีบ เป็นเครื่องเซ่นไหว้เพื่อขอขมา ก่อนจะลงมือทุบทำลาย ตำรวจมุ่งประเด็นเป็นฝีมือของกลุ่มไสยศาสตร์ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ นั้น 

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 พ.ค. ที่อุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง

พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข ผบก.ภ.จ.บุรีรัมย์ พ.ต.อ.วิชัย สังข์ประไพ รอง ผบก.ชุดสืบสวน สภ.เฉลิมพระเกียรติ และเจ้าหน้าที่กองวิทยาการ ได้เข้าตรวจสอบพร้อมเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุอย่างละเอียด ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่ทราบข่าวเดินทางมาดูที่เกิดเหตุ เมื่อเห็นสภาพโบราณสถานโบราณวัตถุถูกทำลาย ต่างพากันสาปแช่งคนร้ายให้รับผลกรรม โดยมีการนำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความสะเทือนใจ


พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข ผบก.ภ.จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า

ขณะนี้ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นกลุ่มผู้ทำไสยศาสตร์ มากที่สุด เนื่องจากลักษณะการก่อเหตุมีการจงใจทุบทำลายเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ และมีการจัดเครื่องเซ่นไหว้เป็นลักษณะไสยศาสตร์เขมร คาดว่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านนี้เป็นพิเศษ ได้จัดกำลังตำรวจและชุดสืบสวนติดตามความเคลื่อนไหวทั้งกลุ่มในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์และ จ.สุรินทร์


“ล่าสุดได้เบาะแสจากซองยาเส้นที่นำมามวนบุหรี่เซ่นไหว้ที่ถูกทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ เป็นซองยาเส้นยี่ห้อ “ระบำลาติน” ทราบแหล่งขายส่งแล้วอยู่ใน อ.นางรอง และมีขายหลายร้านในเขตใกล้ปราสาทพนมรุ้ง นอกจากนี้ ยังเก็บลายนิ้วมือแฝงได้จากมวนบุหรี่ แก้วน้ำ และซองยาเส้น โดยจะนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ต้องสงสัย ซึ่งสันนิษฐานว่ากลุ่มเหล่านี้อาจได้รับการจ้างวานจากบุคคลบางกลุ่ม อาจเป็นกลุ่มการเมือง กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ หรือจากความขัดแย้งภายใน เพราะการกระทำดังกล่าวมีลักษณะความเชื่อว่าเป็นการทำลายพลังศักดิ์สิทธิ์และสิ่งลี้ลับ โดยได้ตั้งรางวัลนำจับให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส 5 หมื่นบาท” ผบก.ภ.จ.บุรีรัมย์กล่าว



นายดุสิต ทุมมากรณ์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง ระบุถึงสาเหตุการทุบทำลายโบราณสถานครั้งนี้

คาดว่าน่าจะมาจาก 3 ประเด็นหลักคือ ความขัดแย้งกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบริเวณทางขึ้นปราสาทที่ตั้งร้านค้าบดบังทัศนียภาพ ความขัดแย้งกรณีนักการเมืองระดับชาติพยายามจะรุกพื้นที่อุทยานเพื่อทำธุรกิจ และประเด็นสุดท้ายคือกลุ่มผู้ทำวัตถุมงคลโทรศัพท์มาว่าจะขอทำพิธีปลุกเสกในคืนวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา แต่ได้ปฏิเสธ เพราะจะไปทำความเสียหายและสร้างความเสื่อมเสียกับปราสาท
 

“ขณะนี้ได้เตรียมประชุมวางแผนเพื่อบูรณะซ่อมแซมปราสาทส่วนที่เสียหาย โดยนายช่างศิลปกรรมของอุทยานฯ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเศียรนาคจำลองจะเป็นผู้บูรณะ ขณะนี้อยู่ในขั้นจัดหาและเตรียมวัสดุโดยใช้หินทรายเทียม จะเริ่มซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายมากก่อน ทั้งแขนทวารบาล ส่วนหัวของโคนนทิ และหัวสิงห์ ก่อนจะซ่อมแซมส่วนปากของหัวพญานาค คาดว่าใช้เวลาซ่อมแซมราว 1 เดือนจะแล้วเสร็จ” นายดุสิตกล่าว


ที่ จ.นครราชสีมา นายศักดิ์ชัย พจน์นันท์วานิชย์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา กล่าวว่า

จะนำคณะเดินทางไปตรวจสอบกรณีประติมากรรมปราสาทเขาพนมรุ้งถูกทำลาย เบื้องต้นมีเศียรนาค 11 เศียร การซ่อมบำรุงคงใช้เวลาไม่นาน เพราะมีของแท้ดั้งเดิมแค่ 2 เศียร ที่เหลือเป็นเศียรที่จำลองให้ดูสมบูรณ์ การซ่อมไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไร และใช้เวลาไม่นาน อาจจะต้องขอความร่วมมือไปยังช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร แต่ที่พนมรุ้งเองก็มีช่างที่เคยทำงานถอดแบบอยู่แล้ว อาจแค่ขอคำแนะนำจาก ผอ.ช่างสิบหมู่บ้างเท่านั้น ส่วนวัตถุโบราณ หรือประติมากรรมไม่มีอะไรสูญหาย เป็นแต่เพียงถูกทำลายชำรุดเสียหายและต้องซ่อมแซมเท่านั้น สำหรับมูลค่าความเสียหายมีมากพอสมควร แต่อย่าไปทำลายจะดีกว่า เพราะคุณค่าของโบราณวัตถุเป็นคุณค่าทางจิตใจมากกว่าเงินทอง และประติมากรรมที่พนมรุ้งแห่งนี้อยู่ในศตวรรษที่ 16 อายุกว่า 1 พันปี


ด้านนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงกรณีการทุบทำลายโบราณสถานปราสาทหินเขาพนมรุ้ง

ทำให้หลายคนเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลก ว่า ขณะนี้กรมศิลปากรได้กำหนดแผนพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 10 แห่ง นำไปสู่ ความเป็นมรดกโลก ทั้งนี้ ปราสาทหินพนมรุ้งก็เป็น 1 ในอุทยานฯที่มีแผนจะพัฒนาสู่มรดกโลก 2 ส่วน คือ 1. การพัฒนาจัดการกับโบราณสถานและสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานของมรดกโลก และ 2. การพัฒนาในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น การจัดการสภาพแวดล้อม การขายของ หรือการดูแลต่างๆ โดยในส่วนที่ได้รับความ เสียหาย ซึ่งโบราณสถานทุกแห่งจะมีลักษณะความเสียหายก่อนการบูรณะก็สามารถซ่อมแซมได้ ปกติความเสียหาย หากไม่ทราบข้อเท็จจริงจะไม่ซ่อมให้เหมือนเดิมเพราะกลัวความผิดพลาด
 

“แต่ในส่วนความเสียหายของนาคทวารบาลมีต้นแบบเดิมอยู่ จึงสามารถซ่อมคืนเหมือนเดิมได้ สำหรับการเช่าร้านค้าในบริเวณอุทยานนั้น ปกติเงื่อนไขสัญญาจะเป็นปีต่อปี และมีการประมูล ส่วนนี้เป็นส่วนบริการให้ความสะดวก ซึ่งร้านค้าต่างๆจะอยู่บริเวณด้านล่างไม่ได้อยู่ในเขตโบราณสถาน แต่เป็นส่วนที่จำเป็น เพราะ การอนุรักษ์จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน เป็นส่วนการบริหารจัดการตามมาตรฐานที่กำหนด ไม่เช่นนั้นการพัฒนาไปสู่มรดกโลกค่อนข้างจะลำบาก จึงต้องมีกฎเกณฑ์ในการดำเนินการ ส่วนมาตรการดูแลความปลอดภัยในโบราณสถานนั้น กรมศิลปากรได้มีมาตรการกำชับให้ดูแลเข้มงวดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีบุคลากรน้อย จำเป็นจะต้องใช้ส่วนของประชาชนหรืออาสาสมัครเฝ้าระวังมรดกศิลปวัฒนธรรม (อสมศ.) เข้ามาช่วย พร้อมประสานตำรวจในการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้น” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าว


วันเดียวกัน ที่กระทรวงมหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ได้สอบถามนายสันทัด จัตุชัย ผวจ.บุรีรัมย์

ถึงเรื่องการทำลายเทวรูปสำคัญที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง โดยนายสันทัดได้รายงานว่า วันเกิดเหตุเป็นคืนวันวิสาขบูชา คาดว่ามีคนร้ายไม่ต่ำกว่า 3-4 คน บุกเข้ามาทำลาย ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 3 ประเด็น คือ 1. เป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปประกอบพิธีกรรมในการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง 2. เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการจะเป็นข่าว เหมือนกับการขโมยปี่พระอภัยมณี ที่ จ.ระยอง และ 3. อาจจะเป็นผู้มีความรู้ในการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ โดย รมว.มหาดไทย กล่าวว่า อย่าไปยกย่องคนกลุ่มนี้เพราะเป็นคนชั่ว และจะสั่งให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เข้าไปดูแลในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวัง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์