ระดมกำลังกว่าหมื่นเฝ้าระวัง464จุดทั่วกรุงเทพฯ

ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 ก.ย.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นประธานในการประชุม ศอฉ. มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ. ทหารสูงสุด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. พล.อ.อ. อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดย พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกบช.น. แถลงว่า นายธาริต ได้รายงานความคืบหน้า ในการตั้งคณะกรรมการ 12 ชุด ในการตรวจสอบการเสียชีวิตของเหตุการณ์การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ทางผู้แทน สตช.ได้ชี้แจงความคืบหน้าในการติดตามรวบรวมพยานหลักฐาน เหตุระเบิดที่เอ็นบีที

วาง 3 มาตรการคุมเข้ม
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า เหตุที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน

รวมถึงกระทบต่อความมั่นคงโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ กองทัพภาคที่ 1 บช.น. และกทม. ได้ร่วมกันวางมาตรการหลักออกเป็นแผนปฏิบัติการในภาพรวมของ ศอฉ.ในการดูแลพื้นที่ กทม. 3 มาตรการ คือ 1.การป้องกันแก้ไขเหตุการณ์ และปิดช่อง โอกาสในการก่อเหตุ 2.การกดดัน เข้าไปตรวจสอบกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะก่อเหตุ 3.มาตรการเชิงรุกหรือการปฏิบัติการจิตวิทยา ในการขอความร่วมมือจากมวลชนฝ่ายต่าง ๆ

แยก 3 พื้นที่ดูแลพิเศษ
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า มีการวิเคราะห์กำหนดพื้นที่ต่าง ๆ ในกทม. ที่มีจุดเสี่ยงแบ่งเป็น 3 ระดับ 1.พื้นที่เฝ้าพิเศษคือ พื้นที่ที่มีแนวโน้มการก่อเหตุสูงหรือพื้นที่ที่เคยมีเหตุเกิดขึ้น และมีแนวโน้มการก่อภัยคุกคาม และพื้นที่ที่ต้องมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด เช่น เขตพระราชฐาน สถานที่ราชการสำคัญ บ้านบุคคลสำคัญ ที่เป็นเป้าหมาย แหล่งพลังงานอื่น ๆ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งต่าง ๆ รวม 130 จุด สำหรับวิธีการในการดำเนินการจะให้ตำรวจลงไปปฏิบัติ ร่วมทหาร และเทศกิจ ลงไปตรวจสอบและวางกำลังตลอด 24 ชั่วโมง
 
“ส่วนพื้นที่นอกเหนือจากนี้จะมีการจัดกำลังออกตรวจตรารอบพื้นที่เป็นระยะ 400 เมตร ในพื้นที่บริเวณโดยรอบ โดยจัดชุดตรวจเดินเท้า วางกำลังซุ่มโป่ง และจัดระบบกล้องวงจรปิดในพื้นที่เฝ้าพิเศษใหม่ โดยให้จับจุดในพื้นที่สาธารณะมากที่สุด เน้นการบันทึกให้เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน ทั้งนี้จะให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติใกล้ชิดมากขึ้น 2.พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ ซึ่งมีภัย   คุกคามน้อยกว่าระดับที่ 1 คือสถานที่ราชการอื่น ๆ หรือบ้านพักบุคคลสำคัญ  อื่น ๆ เป้าหมายที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ รวมทั้งจุดต่าง ๆ ที่เคยมีเหตุประปราย รวม 198 จุด จะมีการจัดจุดตรวจ และมีสายตรวจเข้าไปเสริม โดยให้ รปภ.ในพื้นที่เข้าไปดูแลด้วย” โฆษกฯ กล่าว

เฝ้าทั่วกทม.464จุด
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า 3.พื้นที่เฝ้าระวังคือห้างสรรพสินค้า ธนาคาร รวม 136 จุด ซึ่งรวมพื้นที่ต้องดูแลทั้งหมด 464 จุด จะเน้นการอบรมและให้ความรู้ รปภ. กำหนด ช่องทางการติดต่อสื่อสาร ส่วนการประสานงาน ทั้ง 3 พื้นที่เราได้กำหนดชุดปฏิบัติการพิเศษ 10 ชุด ในการเข้าคลี่คลายสถานการณ์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามในเวลา 13.00 น. ศอฉ.จะเรียกระดับผู้ปฏิบัติ คือผบก.น.1-9 เจ้าหน้าที่กองทัพภาคที่ 1 เทศกิจและสันติบาลและหน่วยที่รับผิดชอบพื้นทื่อื่น ๆ เช่น รถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิ้งก์ เข้ามารับทราบและกำหนดภารกิจร่วมกัน โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการ ทหารบก เป็นประธานในการประชุม

จัดกล้องวงจรปิดใหม่
 
“ทั้งนี้ ศอฉ. ได้ให้กทม. ได้มีการสำรวจกล้องวงจรปิดทั่วกทม. 2,928 แห่ง ว่าจุดไหนที่มีปัญหา ชำรุด เสียหาย ให้ปรับปรุงซ่อมแซม รวมถึงกล้องวงจรปิดของภาคชน ประมาณเกือบ 10,000 กล้อง เช่น สถานบริการน้ำมัน 792 แห่ง ห้างสะดวกซื้อ ห้างมินิมาร์ท 2,533 ธนาคาร 1,908 ร้านทอง 1,324 และร้านอินเทอร์เน็ต ประมาณ 2,000 กว่าแห่ง รวมทั้งหมดเกือบ 9,000 แห่ง ที่จะเข้าร่วม โดยกล้องทั้งหมดจะเปิดเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ได้มีการกำชับไปยังกระทรวงมหาดไทยและกทม. ให้ใช้มาตรการเชิงรุกผ่านมวลชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ให้เข้าใจสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือดูแลทำงานร่วมกัน และให้ฝ่ายกฎหมายของศอฉ. ตรวจสอบการละเมิดข้อกฎหมายในระดับต่าง ๆ ทั้งนี้จะมีการใช้กำลังไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นนาย ซึ่งตำรวจจะประชุมหารือใน   วันที่ 4-5 ก.ย.นี้” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์