บล็อกน้ำด้วยกระสอบทรายทำให้น้ำแห้งเร็วขึ้น?

บล็อกน้ำด้วยกระสอบทรายทำให้น้ำแห้งเร็วขึ้น?


บล็อกน้ำด้วย'กระสอบทราย'...แบ่งโซนให้เครื่องสูบทำงาน น้ำแห้งเร็วขึ้น...
จากที่รัฐบาลได้ตรวจสอบพบว่ามีการนำกระสอบทรายเข้ามาอุดตามท่อระบายน้ำในถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นถุงกระสอบทรายของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ที่ทางสำนักการระบายน้ำอ้างว่าเป็นเทคนิคในการระบายน้ำออกจากพื้นที่

ขณะที่ทางนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จะสั่งให้ กทม. รื้อกระสอบทรายที่บล็อกอยู่ทั้งหมดออกเพราะเป็นการกีดขวางการระบายน้ำ

ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงขั้นจะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่มารื้อถุงทรายดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า กระสอบทรายไปอยู่ในท่อนั้นเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำอย่างไร

การใช้กระสอบทราย ในการบริหารจัดการระบายน้ำนั้น จะใช้เพื่อจำกัดบริเวณพื้นที่โดยใช้แนวท่อใต้ถนนและคลองที่เชื่อมต่อกันเป็นตัวกำหนด ในการทำเป็นพื้นที่ปิดล้อมแยกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการระบายน้ำออกจากพื้นที่ จะเน้นในพื้นที่ต่ำที่เป็นจุดอ่อนน้ำท่วมขังและพื้นที่ที่ด้านกายภาพความสูงต่ำของพื้นที่ไม่อำนวยต่อการระบายน้ำ สำหรับจุดอ่อนน้ำท่วมที่ กทม. เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทั่วกรุงเทพฯ มี 15 จุด คือ 1. ถนนจันทน์ เซ็นหลุยส์ สาธุประดิษฐ์ เขตสาทร 2. ถนนพหลโยธิน ช่วงจากคลองสามเสนถึงคลองบางซื่อ เขตพญาไท 3. ถนนสุขุมวิท จากคลองพระโขนง ถึงซอยลาซาล เขตพระโขนง 4. ถนนสุขุมวิท บริเวณ ซอยสุขุมวิท 39 และ 49 เขตวัฒนา 5. ถนนลาดพร้าว จากคลองลาดพร้าวถึงเดอะมอลล์บางกะปิ เขตวังทองหลางและเขตบางกะปิ 6. ถนนนวมินทร์ จากคลองดอนอีกาถึงแยกประเสริฐมนูกิจทั้ง 2 ฝั่ง เขตบึงกุ่ม 7. ถนนรัชดาภิเษก หน้าโรบินสัน เขตดินแดง 8. ถนนรัชดาภิเษก บริเวณแยกลาดพร้าว เขตจตุจักร 9. ถนนเพชรบุรี จากถนนบรรทัดทองถึงแยกราชเทวี เขตราชเทวี 10. ถนนนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี 11. ถนนพระรามที่ 6 หน้าตลาดประแจจีน เขตราชเทวี 12. ถนนเพชรเกษม บริเวณซอยเพชรเกษม 63 (ซอยวัดม่วง) เขตบางแค 13. ถนนเย็นอากาศ จากถนนนางลิ้นจี่ถึงซอยศรีบำเพ็ญ เขตยานนาวา 14. ถนนศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาสาดถึงคลองตาช้าง เขตประเวศ และ 15. ถนนสนามไชยและถนนมหาราช เขตพระนคร

ส่วนการแก้ปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ทั้งกรุงเทพฯ กทม.ได้กำหนดพื้นที่ปิดล้อมเพื่อติดตั้งเครื่องสูบและบริหารการระบายน้ำเป็น 18 พื้นที่ คือ 1. พื้นที่ปิดล้อมหมู่บ้านเมืองทองธานี พื้นที่ 13.7 ตร.กม. 2. พื้นที่ปิดล้อมหมู่บ้านชินเขต ท่าทราย พื้นที่ 4.9 ตร.กม. 3. พื้นที่ถนนรัชดาภิเษก ช่วงคลองบางน้ำแก้ว 28 ตร.กม. 4. พื้นที่ปิดล้อมบางกะปิ 8.30 ตร.กม. ถนนลาดพร้าวกับสุขาภิบาล 1 บ่อสูบ และประตู หน้านิด้าเป็นแบบชั่วคราว ศรีบูรพา 5. พื้นที่ปิดล้อมรามคำแหง 10.6 ตร.กม. 6. พื้นที่ปิดล้อมราชเทวี ช่วงสถานทูตอินโดนีเซีย 1.90 ตร.กม. 7. พื้นที่ ปิดล้อมราชเทวี ช่วงโรงภาพยนตร์เพชรรามา 0.5 ตร.กม. 8. พื้นที่ปิดล้อมราชเทวี ช่วงมิตรสัมพันธ์ พื้นที่ 0.6 ตร.กม. 9. พื้นที่ปิดล้อมห้วยขวาง ถนนเพชรบุรี พื้นที่ 0.8 ตร.กม. 10. พื้นที่ปิดล้อมปทุมวัน 2.6 ตร.กม. 11. พื้นที่ปิดล้อมคลองเตยและวัฒนา 23 ตร.กม. 12. พื้นที่ปิดล้อมพระโขนง บางนา ประเวศ 26 ตร.กม. 13. พื้นที่ปิดล้อมราชเทวี ถนนพระราม 6 พื้นที่ 2.2 ตร.กม. 14. พื้นที่ปิดล้อมพญาไท 9.1 ตร.กม. 15. พื้นที่ปิดล้อมพระนคร 1 ตร.กม. 16. พื้นที่ปิดล้อมยานนาวา สาทรและบางคอแหลม พื้นที่ 16.30 ตร.กม. 17. พื้นที่ปิดล้อมตลิ่งชัน 5.6 ตร.กม. และ 18. พื้นที่ปิดล้อมธนบุรี คลองสาน 12.9 ตร.กม.

ทั้งนี้การกำหนดพื้นที่เป็นพื้นที่ย่อย ๆ บางจุด มีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบหรือบานประตูปิดเปิดเป็นการถาวรแล้ว แต่บางจุดที่ยังไม่มีระบบถาวรจะต้องใช้กระสอบทรายเข้าไปบล็อกเพื่อแบ่งน้ำ ให้เครื่องสูบแต่ละจุดที่ติดตั้งอยู่สูบน้ำออกจากพื้นที่ที่กำหนด ไม่ทำให้น้ำไหลวนผ่านคลองเข้าท่อกลับมาที่เดิมอีก นอกจากนี้ยังใช้กระสอบทรายเข้าบล็อกในท่อ ในกรณีของน้ำทะเลหนุนสูงด้วย เพื่อไม่ให้น้ำในแม่น้ำที่มีแรงดันมากไหลย้อนเข้ามาในท่อ เช่น บล็อกปลายท่อในถนนทหาร ที่ปลายท่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา


นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การจัดการแก้ปัญหาโดยการใช้กระสอบทรายอุดตามท่อระบายน้ำนั้น เป็นวิธีการที่กทม.ใช้มานาน 20
30 ปีแล้ว เพื่อบล็อกแยกน้ำเป็นพื้นที่ ๆ เพื่อให้น้ำแห้งได้เร็วขึ้น แต่การบล็อกท่อโดยใช้กระสอบทรายเข้าไปอุดไว้ ในปัจจุบันนี้จะน้อยลงจากในอดีตเนื่องจากมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ บานประตูปิดเปิดอัตโนมัติ และมีเครื่องสูบน้ำถาวรหลายแห่งแล้ว ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ถนนพหลโยธิน ช่วงซอยแอนเน็กซ์ ซึ่งบล็อกท่อ เพื่อให้เครื่องสูบสูบน้ำไปลงคลองลาดเป็ดและคลองสอง ถนนศรีนครินทร์ช่วงต้น (แยกลำสาลี) บล็อกเพื่อสูบน้ำลงคลองโต๊ะยอ ถนนรามคำแหงและถนนลาดพร้าวบริเวณแยกลำสาลี บล็อกเพื่อสูบน้ำออกคลองแสนแสบ ถนนพ่วงสิริ บล็อกเพื่อสูบน้ำลงคลองโต๊ะยอ ถนนประดิษฐมนูธรรม บล็อกเพื่อสูบน้ำลงคลองเจ้าคุณสิงห์ เป็นต้น. 

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์