ท่วมที่พิจิตรตายสลดดญ.ม.2โดนงูเห่าฉก นครสวรรค์หนีน้ำช็อก

"น้ำท่วมงูเห่าบุกบ้านกัดเด็ก 14 แพทย์สุดยื้อชีวิต"


ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) ว่า ที่ จ.ตาก ระดับน้ำในแม่น้ำวังยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องรับน้ำจากเขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง ล่าสุดระดับน้ำสูงหลายเมตรทะลักเข้าท่วมพื้นที่ ต.ยกกระบัตร ต.วังจันทร์ และ ต.วังหมัน อ.สามเงา ถนนสายหลักถูกน้ำท่วมหนักจนรถสัญจรผ่านไปมาไม่ได้ ชาวบ้านต้องใช้เรือสัญจรแทนขณะที่พื้นที่ อ.บ้านตาก ที่รองรับน้ำจาก อ.สามเงา ถูกน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่เช่นกัน บางจุดน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร ต้องตัดไฟฟ้าเนื่องจากหม้อแปลงอยู่ในระดับต่ำเกรงว่าจะมีอันตราย ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนักต้องขนย้ายข้าวของและสัตว์เลี้ยงไปนอนบนถนน

ที่ จ.พิจิตร น้ำในแม่น้ำยมไหลทะลักเข้าท่วมท้องที่บ้านเนินยุ้ง หมู่ 7 ต.รังนก อ.สามง่าม บางพื้นที่ระดับน้ำสูง 2-3 เมตร ชาวบ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมาขณะที่ ด.ญ. ประภัสสร ทองเพ็ง อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 รร.เนินปอชนูปถัมป์ กำลังนอนหลับในบ้าน หมู่ 7 ต.เนินยุ้ง ถูกงูเห่าบุกกัดขาขวา กว่าญาติจะช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลสามง่ามใช้เวลาหลายชั่วโมง แพทย์สุดความสามารถยื้อชีวิตสิ้นใจตายอนาถ

"นำของบรรเทาสาธารณะภัยเข้าช่วยเหลือ"


ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำน่านที่ไหลผ่าน อ.เมืองพิจิตร ได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนบริเวณชุมชนหลังสถานีรถไฟพิจิตร กว่า 100 หลังคาเรือน นอกจากนั้นแม่น้ำน่านยังไหลเข้าท่วมบ้านเรือนในเขตเทศบาลเมืองตะพานหิน อ.ตะพานหิน รวมทั้ง รพ.สมเด็จพระยุพราชตะพานหิน ถูกน้ำท่วมสูงถึง 60 ซม. นพ.กิตติโชติ กิตติถาวร ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชตะพานหินได้ออกประกาศงดรับผู้ป่วยในแล้ว เย็นวันเดียวกัน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยม รพ.สมเด็จพระยุพราชตะพานหิน พร้อมมอบยาตำราหลวง 1 หมื่นชุด ยาน้ำกัดเท้า 5 พันชุด และถุงดำอีก 1 หมื่นชุด

ด้าน จ.พิษณุโลก หลายพื้นที่ยังถูกน้ำท่วมขัง อย่างเช่น อ.วัดโบสถ์ อ.บางระกำ และ อ.เมืองพิษณุโลก เฉพาะ อ.บางระกำ หลายหมู่บ้านยังจมอยู่ใต้บาดาล ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก ต่อมาบ่ายวันเดียวกัน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ในฐานะองค์ประธานศูนย์ปฏิบัติการบินอาสาอนุรักษ์และกู้ภัยสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จประทานถุงยังชีพแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในเขตอำเภอบางระกำ จำนวน 1,000 ชุด พร้อมเสด็จตรวจสภาพน้ำท่วม และทรงเยี่ยมราษฎรที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำยมในเขตเทศบาลตำบลบางระกำก่อนเสด็จกลับ

"เร่งระบายน้ำ 24 ชม."


ส่วน จ.นครสวรรค์ น้ำจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านไหลทะลักเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองชุมแสง ระดับน้ำสูงเกือบ 1 เมตร ทางเทศบาลเมืองชุมแสง ร่วมกับชาวบ้านและพระภิกษุ นำกระสอบทรายทำพนังกั้นน้ำกันโกลาหล พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ล่าสุดโรงเรียนถูกน้ำท่วมสั่งปิดเรียนแล้ว 5 โรง วัดถูกน้ำท่วมหนัก 7 แห่ง เช่นเดียวกับ อ.ตาคลี น้ำทะลักท่วมหลายหมู่บ้าน เป็นเหตุให้นางฉลอง ภู่โต อายุ 57 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 ต.ตาคลี ตกใจขนข้าวของหนีน้ำ จนช็อกเสียชีวิตอีก 1 ราย

ที่ จ.อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ อ.ไชโย เรือกสวนไร่นาจมอยู่ใต้บาดาลกว่า 3 พันไร่ ขณะที่พื้นที่ อ.ป่าโมก ถูกน้ำท่วมหนักเช่นกัน ทางนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ.อ่างทอง เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนรับมือเต็มที่ หลังรับแจ้งว่า ทางเขื่อนเจ้าพระยาจะมีการปล่อยน้ำมากขึ้น จนทำให้ลำคลองบางแห่งรับน้ำไม่ไหวทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนเป็นพื้นที่กว้าง

"กรุงเก่า น้ำเจ้าพระยาเอ่อท่วมสูง 1-1.5ม."


ขณะที่ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมวัดและชุมชนต่างๆตลอดจนถนนทางเข้าหมู่บ้านในเขตอำเภอบางบาล ระดับน้ำสูง 1-1.5 เมตร ชาวบ้านต้องพายเรือเข้าออกแทน ล่าสุดระดับน้ำยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านเชื่อว่าระดับน้ำอาจสูงเท่าปี 2538 ที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุด และท่วมนานกว่า 2 เดือน ครูและนักเรียนโรงเรียนบางบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ นำกระสอบทรายกั้นแนวประตูทางเข้าโรงเรียน เพื่อป้องกันน้ำไหลทะลักเข้าโรงเรียนตรงประตูทางเข้า เนื่องจากระดับน้ำตามชุมชนต่างๆ สูงกว่าพื้นที่ของโรงเรียนกว่า 1 เมตรแล้ว

ส่วนวัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแนวเขื่อนป้อมกันน้ำท่วมสูงถึง 2.5 เมตร พร้อมเสริมนั่งร้านเหล็ก พร้อมวางผ้าใบคลุมและทับชายเขื่อนด้วยกระสอบทรายอีกชั้น หลังระดับน้ำล้นตลิ่งแล้วประมาณ 10 ซม. มีบางจุดเกิดน้ำซึมทะลุผ้าใบและแนวเขื่อน เจ้าหน้าที่ต้องเร่งซ่อมแซม ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานโบราณคดีที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ยืนยันว่า แนวกั้นน้ำของวัดไชยวัฒนารามสามารถป้องกันน้ำท่วมได้แน่นอน

"ควบคุมได้เพียงไม่ให้ท่วมฉับพลัน"


นายสัณหพงศ์ ก้านเหลือง ผอ.ส่วนจัดสรรน้ำ และบำรุงรักษาสำนักชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท เผยว่า วันเดียวกัน ระดับน้ำเหนือเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 16.43 เมตร ถือว่าระดับน้ำปานกลาง ส่วนท้ายเขื่อนระดับน้ำสูง 14.35 เมตร ระดับน้ำปานกลางเช่นกัน ทางเขื่อนระบายน้ำทิ้ง 2,082 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากต้องรับน้ำจากเขื่อนภูมิพล 34 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนสิริกิติ์ 56 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกและพายุเข้าบางพื้นที่ ทำให้ท้ายเขื่อนจะมีระดับน้ำล้นตลิ่งและถูกน้ำท่วมบ้าง ทางสำนัก งานชลประทานที่ 12 พยายามรักษาการระบายน้ำทิ้งท้ายเขื่อนให้อยู่ในระดับ 2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ก็ขึ้นอยู่กับน้ำที่ไหลทะลักจาก จ.นครสวรรค์ เป็นหลักด้วย

ด้านนายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรักษาการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางบางจังหวัด ว่า ขณะนี้ทางกรมชลประทานได้ควบคุม อัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้อยู่ที่ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอยู่ในระดับที่ยังไม่เกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงจะยังไม่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลลงจากแม่น้ำน่านมายัง จ.อุตรดิตถ์สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตรนั้น หากการพาดผ่านของพายุดีเปรสชันลูกใหม่ที่จะเข้ามายังประเทศไทย ไม่มีความรุนแรงมาก มั่นใจว่าระดับน้ำจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 สัปดาห์

"ป้องกันไม่ให้ท่วม กทม.เต็มที่ แต่อยู่ดีเปรสชั่นลูกใหม่"


สำหรับความกังวลเรื่องน้ำจะเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น นายบรรพตกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯจะ ทำให้ดีที่สุดในการป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯได้รับความเดือดร้อน แต่ปัญหาสำคัญจะอยู่ที่พายุดีเปรสชันลูกใหม่ที่จะเข้าประเทศไทยว่าจะรุนแรงหรือไม่ หากมีฝนตกในกรุงเทพฯมากก็จะทำให้น้ำท่วมได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะรีบจัดการปัญหาให้จบโดยเร็วที่สุด ทั้งเครื่องสูบน้ำที่เตรียมไว้พร้อมแล้ว และพร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ขณะนี้ได้ติดต่อกับนายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เกือบทุกชั่วโมง เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ที่ บก.ทหารสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 15.00 น. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ รอง ผบ.ทหารสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ได้เรียกประชุมผู้แทนส่วนราชการที่รับผิดชอบในการช่วยเหลือน้ำท่วมเข้าหารือ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ใช้เวลาประชุมกว่า 3 ชั่วโมง จากนั้น พล.อ.บุญสร้างให้สัมภาษณ์ ว่า

"งบประมาณช่วยเหลือมีเพียงพอ"


ได้เชิญคณะกรรมการฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องมาหารือ และเท่าที่รับฟังรายงาน สรุปได้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทำงานอย่างดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องงบประมาณรัฐบาลชุดที่แล้วได้อนุมัติงบไว้มากพอสมควร มีทั้งงบที่จัดให้แต่ละจังหวัด จังหวัดละ 50 ล้านบาท กรมบรรเทาสาธารณภัย 50 ล้านบาท และงบที่อดีตนายกฯอนุมัติอีก 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ จ.นครสวรรค์ ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ โดยปริมาณน้ำในภาคเหนืออีกระยะหนึ่งจะไหลลงสู่ กทม. ซึ่งทาง กทม.ได้เตรียมรับปัญหาไว้พร้อมแล้ว สำหรับตนกำลังจะจัดเวลาลงพื้นที่ภาคเหนือ ที่เหลือขณะนี้หน่วยทหารในพื้นที่ทำงานเต็มที่อยู่แล้ว ทหารคล่องแคล่วที่สุดในการช่วยเหลือประชาชน เพราะเรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนให้เราช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ



แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์