ตายเพิ่มอีกศพเหยื่อลาบหมูดิบ

ชี้ติดเชื้อแบคทีเรียสธ.ระดมฉีดพ่นยา



ตายเพิ่มอีกศพ เหยื่อกินลาบหมูดิบ เป็นเฒ่าวัย 72 เผยอาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไตวายเฉียบพลัน หลังเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเชียงคำ นอกจากนี้ยังมีคนไข้นอนรักษาที่ร.พ.หลายแห่งรวม 55 คน

หมอต้องให้กินยาเพนิซิลลินฆ่าเชื้อนาน 4 สัปดาห์

ปลัดสาธารณสุขส่งเจ้าหน้าที่ระดมฉีดยาฆ่าเชื้อทั่วอำเภอ ป้องกันเชื้อระบาด พร้อมเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหมูไปตรวจสอบ

จากกรณีชาวบ้านหมู่ 4, 5 และ 9

ต.ทุ่งกล้วย กิ่งอ.ภูซาง จ.พะเยา เกิดอาการป่วยทยอยเข้ารับการรักษาตัวกว่า 300 คน หลังกินลาบและหลู้หมูดิบในงานศพเมื่อวันที่ 25-26 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ล้มป่วย และมีผู้เสียชีวิต 2 รายนั้น

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าว่า

ขณะนี้เป็นวันที่สามที่มีชาวบ้านจากหมู่บ้านดังกล่าวทยอยเดินทางมาเข้ารับการตรวจที่ร.พ.เชียงคำ อ.เชียงคำ จ.พะเยา ไม่ขาดสาย โดยตั้งแต่วันที่ 1-2 พ.ค.ที่ผ่านมา

มีจำนวน 457 คน และจนถึงเช้าวันนี้

ยังมีชาวบ้านหมู่ที่ 4 ทั้งหมู่บ้านเข้ามาตรวจ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 200 คน และมีผู้ป่วยหนักเข้ามาเพิ่มอีก 1 ราย คือนายมอล แสนศิริ อายุ 62 ปี บ้านอยู่หมู่ 5 มีอาการช็อกเพราะมีไข้สูง



นายพิทยายุทธ อยู่ดี สาธารณสุขกิ่งอ.ภูซาง

กล่าวว่า สำหรับชาวบ้านต.ทุ่งกล้วยที่เข้ารับการคัดกรองเบื้องต้นที่ สถานีอนามัยต.ทุ่งกล้วย ในวันนี้มีประมาณ 40 คน คาดว่าจะเริ่มเบาบางเพราะชาวบ้านทยอยมาตรวจครบทุกหมู่บ้านแล้ว ไม่พบผู้มีอาการแต่อย่างใด

ด้านน.พ.ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ผู้เสียชีวิต 2 รายนั้นเป็นผู้ชำแหละหมูและกินเลือดสดๆ จึงได้รับเชื้อจำนวนมาก เนื่องจากเชื้อจะอยู่ในคอ จมูก และเลือดหมู เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

จะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วัน

จึงเริ่มป่วย ระยะแรกจะมีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะรุนแรง ปวดตามข้อ ต่อมาเชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยินถึงขั้นหูหนวก ในรายที่อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

น.พ.ชำนาญกล่าวต่อว่า

ขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาตัวในร.พ.เชียงคำ ทั้งหมด 55 ราย อาการหนักอยู่ในห้องไอซียู 3 ราย รายหนึ่งช็อกจากโลหิตเป็นพิษจากการติดเชื้อ อีก 2 รายเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และนอนรักษาตัวในหอผู้ป่วยสามัญอีก 27 ราย

นอนสังเกตอาการ 25 ราย

และอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนในเชียงราย 1 ราย ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เมื่อวานนี้มีประชาชนเดินทางมารับการตรวจเพื่อความมั่นใจที่โรงพยาบาลกว่า 500 คน



คาดว่าจะควบคุมโรคได้

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่ไปร่วมงานและรับประทานอาหารในงานดังกล่าว มีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ขอให้ไปรับการตรวจรักษาได้ที่โรงพยาบาลเชียงคำหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน กระทรวงสาธารณสุขให้การรักษาฟรีทั้งหมด

"สำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล

เชียงคำเป็นผู้ป่วยหนักอยู่ห้องไอซียู จำนวน 3 ราย คือ 1.นายมา บัวลา 2.นายบุญมี หอมนาน และ 3.นายมอล แสนศิริ ส่วนนายนา ผาลา อาการดีขึ้น จึงแยกไปนอนพักรักษาตัวห้องแยกแล้ว

ด้านผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวขณะนี้จำนวน 28 ราย

และผู้ป่วยนอนสังเกตอาการ จำนวน 26 ราย นอกจากนี้ยังจัดการประชุมเกี่ยวกับโรคระบาดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ซูอิส ในหมูขึ้นที่ห้องประชุมฝ้ายคำ โรงพยาบาลเชียงคำ

ซึ่งเป็นการประชุมชี้แจงสถานการณ์

และเฝ้าระวังรับมือโรคดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ทุกแห่งในจ.พะเยา จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางสสจ.เชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาเป็นวิทยากรบรรยายให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับทราบโดยละเอียด" น.พ.ชำนาญกล่าว

น.พ.ชำนาญกล่าวด้วยว่า

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเชียงคำส่งตัวอย่างเชื้อจากตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลมหาราชจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นเชื้อที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการจนถึงแก่ความตายได้ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินวันที่ 9-10 พ.ค.นี้จะทราบผล



ด้านนางเกี๋ยง อินปั๋น อายุ 55 ปี

น้องสาวของนายมา เปิดเผยว่า หมอแจ้งว่านายมามีอาการช็อก ประกอบกับมีไตข้างเดียว ดังนั้น ทางแพทย์จึงเรียกญาติผู้ป่วยทุกคนให้มาพบเพื่อแจ้งอาการและฟอกไตให้กับนายมาด้วย ขณะนี้ทุกคนกำลังรอลุ้นว่านายมาอาจจะได้รับกำลังใจ เกิดพลังสามารถพลิกวิกฤตชีวิตในครั้งนี้ไปได้ แต่พวกตนก็ทำใจไว้เบื้องต้นแล้ว

ส่วนนางแก้ว หอมนาน ภรรยานายบุญมี

กล่าวว่า ขณะนี้นายบุญมี หอมนาน อาการดีขึ้นเป็นระยะ แต่ยังต้องนอนพักในห้องไอซียูอยู่เพื่อให้อาการปลอดภัยจนกว่าหมอจะอนุญาตให้แยกนอนห้องแยกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้า

มีทีมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดพะเยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จังหวัดลำปาง สัตวแพทย์จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหมู เลือดหมู เพื่อตรวจสอบหาประเภทของเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ซูอิส

นายอนิรุทธ์ เนื่องเม็ก นายสัตวแพทย์ 7 วช.

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหมู ซีรั่ม เลือด เพดานปาก เนื้อเยื่อจมูกจากหมูในพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณที่เลี้ยงหมูของประชาชนประมาณ 29 ราย

หมูประมาณ 40-50 ตัว ในพื้นที่หมู่ 4, 5, 9

และพื้นที่ใกล้เคียงด้วย สำหรับตัวอย่างเนื้อเยื่อในหมูที่เก็บทั้งหมด เจ้าหน้าที่จะนำส่งไปเพาะเชื้อและทำการสวอพเพื่อตรวจหาชนิดของเชื้อแบคทีเรียให้เป็นที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่าสเตรปโตคอคคัส ซูอิส



ชนิดใดที่ทำให้ประชาชนล้มป่วยถึงกับเสียชีวิต

เนื่องจากเชื้อดังกล่าวมีอยู่ทั้งหมด 29 ชนิด แต่มี 2 ชนิดที่เป็นปัญหา คือไทพ์ 1 และไทพ์ 2 ซึ่งไทพ์ 2 จะรุนแรงกว่า คือหากเข้าสู่คน จะทำให้เกิดอาการกระแสเลือดติดเชื้อ เชื้อลุกลามไปที่สมอง

ดังอาการที่เกิดกับผู้ตายมาแล้ว

เพื่อความชัดเจนจะต้องส่งไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการฯ จ.ลำปาง คาดว่าวันที่ 8 พ.ค.นี้ จะทราบผล โดยจะเป็นเวลาเดียวกันกับผลของการตรวจพิสูจน์เชื้อจากผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเชียงคำที่ส่งไปตรวจที่จังหวัดเชียงใหม่ออกมา ถึงเวลานั้นจะทราบชัดเจน

นายอนิรุทธ์กล่าวต่อว่า

สำหรับแผนงานในวันที่ 4 พ.ค. ทางทีมงานทั้งหมดต้องลงพื้นที่เพื่อทำการควบคุมโรคโดยการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อต่อในพื้นที่เกิดเหตุที่ยังไม่ครอบคลุมและใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยลง

รวมถึงการสอบสวนโรคด้วยการติดตาม

ที่มาของหมูตัวที่นำมาจากนอกพื้นที่เพื่อติดตามควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะประการสำคัญที่สุดคือการไม่ทานเนื้อหมูดิบ

ด้านนายจรัล มะโน นายแพทย์ 8

โรงพยาบาลเชียงคำ เปิดเผยว่า ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. มีผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยหนักหรือไอซียู เสียชีวิตอีก 1 ราย คือนายมา บัวลา อายุ 72 ปี บ้านหมู่ 5 ต.ทุ่งกล้วย เนื่องจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไตวายเฉียบพลัน



วันเดียวกัน น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนมอบหมายให้น.พ.ทนงสรรค์ สุทธาธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวง เดินทางไปดูแลการควบคุมโรคในพื้นที่ และหามาตรการป้องกันโรคนี้ในระยะยาว

เบื้องต้นคาดว่าการป่วยและเสียชีวิตครั้งนี้

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย "สเตรปโตคอคคัส ซูอิส" จากการกินเนื้อหมูและเลือดหมูดิบ เชื้อดังกล่าวมีอันตราย ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิต หรืออาจหูหนวกถาวรได้

"ขอเตือนประชาชน

หากจะบริโภคเนื้อหมูต้องปรุงให้สุก อย่ากินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อย่างเด็ดขาด ส่วนผู้ชำแหละหรือสัมผัสหมูควรสวมถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ" น.พ.ปราชญ์ กล่าว

ด้านน.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขส่งทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วจากสำนักระบาดวิทยา 4 คนลงไปควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา และร.พ.เชียงคำ

โดยแบ่งออกเป็น 2 ทีม

ทีมแรกสอบสวนที่ร.พ.เชียงคำ ส่วนอีก 1 ทีมไปที่หมู่บ้านจุดเกิดเหตุ พบว่าสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตครั้งนี้ ทุกรายกินลาบและหลู้หมูดิบที่เจ้าภาพในงานศพฆ่าหมูดำที่เลี้ยงไว้มาทำอาหารเลี้ยงแขกเมื่อวันที่ 25 เม.ย.

และอาจจะมีไปร่วมงานแต่งงาน

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หลังจากนั้นเริ่มป่วยเป็นไข้ หนาวสั่น ในจำนวนนี้เสียชีวิตในวันที่ 28 เม.ย. และ 29 เม.ย. จำนวน 2 ราย ขณะนี้นอนในโรงพยาบาล 55 ราย ทั้งนี้การรักษาผู้ติดเชื้อดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้ โดยให้กินยาเพนิซิลลินฆ่าเชื้อเป็นเวลา 4 สัปดาห์



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์