ตรวจหมอเผ่าซ้ำ ตะลึง!! ที่แท้เข้าใจผิดว่ามีอีเฟดรีน

นำปัสสาวะตรวจซ้ำอีกรอบเจอแต่สารผสมยาแก้หวัด หรืออีเฟดรีนปลอม ระบุเรื่อง "200 เท่า" เข้าใจผิดทั้งยวง เพราะแค่เม็ดเดียวก็พบได้


ป.โล่งอกทำคดีเปมิกาง่าย หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ยันชัด ไม่พบสารอีเฟดรีนในตัว หมอประกิตเผ่า หลังนำปัสสวะมาตรวจซ้ำ แต่เจอ สูโดอีเฟดรีนหรืออีเฟดรีนปลอมแทน พบได้ในยาแก้หวัด คัดจมูก ที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป เหตุคนไข้กินเป็นประจำ ชี้กินแล้วไม่ส่งผลต่อจิตประสาท ระบุเรื่อง "200 เท่า" เข้าใจผิดทั้งยวง เพราะแค่เม็ดเดียวก็พบได้ ขณะที่พนักงานสอบสวนกองปราบฯ ยังเร่งสอบหาที่มาของสาร พอทราบผลตรวจจากแพทย์ล่าสุด โล่งอก เชื่อทำคดีง่ายขึ้น แต่อาจต้องเชิญแพทย์ผู้ตรวจมาสอบปากคำไว้เป็นพยาน

น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต เพื่อนสาวคนสนิทของ นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์



ยืนยันตรงนี้เลยว่า น.ส.เปมิกา ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด


ภายหลังทนายความของ น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต เพื่อนสาวคนสนิทของ นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ผู้บริหารและอาจารย์สถาบันกวดวิชา แอพพลายด์ฟิสิกส์ เสนอให้นำคนกลางมาร่วมสอบสวนกรณีการตรวจหาสารอีเฟดรีน 200 เท่าในตัว "หมอเผ่า" เนื่องจากไม่มั่นใจในความเป็นกลางของพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ผู้รับทำคดี

ความคืบหน้าที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 มี.ค. พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร ผบก.ป.กล่าวถึงกรณีนายอภิชาติ จรสาย ทนายความของ น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานกองปราบปราม ถึงการเรียกตัวน.ส.เปมิกา ไปสอบปากคำเพื่อหาความเกี่ยวข้องกับสารอีเฟดรีนในร่างกายของ นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ซึ่งน่าเคลือบแคลงสงสัย

รวมทั้งให้ตำรวจคอมมานโดไปส่งหนังสือเชิญตัวที่คอนโดมิเนียมที่พักกลางดึกว่า เป็นสิทธิของใครก็ตามที่สามารถวิจารณ์การทำงานของตำรวจได้ ตนไม่ตอบโต้ รวมทั้งความคืบหน้าของคดีไปถึงไหน ก็ไม่สามารถบอกได้เช่นกัน ส่วนจะมีการเรียกตัว น.ส.เปมิกา อีกหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่กำลังดำเนินการอยู่

ด้าน พ.ต.อ.อนุชัย เล็กบำรุง รองผบก.ป. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดี นพ.ประกิตเผ่า กล่าวในกรณีเดียวกันว่า การ ดำเนินการคดีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการสืบสวนหาข้อเท็จจริง เนื่องจากญาติของ นพ.ประกิตเผ่า มาร้องเรียนให้สืบสวนหาสารอีเฟดรีนที่อยู่ในตัวของ นพ.ประกิตเผ่า ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นเรื่องของการสืบสวน ยังไม่เป็นคดี และยังไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้ใด

การที่มีบางคนออกมาวิจารณ์ เกี่ยวกับการทำงานของตำรวจนั้นอาจจะเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะตำรวจรู้ดีว่าคดีนี้ยังอยู่ในขั้นตอน การทำความจริงให้ปรากฏเท่านั้น "การออกหนังสือ เชิญตัว น.ส.เปมิกา มาสอบปากคำ เพราะตำรวจต้องการข้อมูลจากทุกฝ่าย เป็นการสอบปากคำทั้งสองฝ่าย

ก่อนหน้านี้ได้สอบปากคำครอบครัวทมทิตชงค์ไปแล้ว เลยเชิญตัว น.ส.เปมิกา มา สอบ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อทาง น.ส.เปมิกา ซึ่งตำรวจยืนยันตรงนี้เลยว่า น.ส.เปมิกา ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด" พ.ต.อ.อนุชัย กล่าว

น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต เพื่อนสาวคนสนิทของ นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์



ทนายความของ น.ส.เปมิกา เรียกร้องให้ตั้งหน่วยงานที่มีความเป็นกลาง


ส่วนกรณีทนายความของ น.ส.เปมิกา เรียกร้องให้ตั้งหน่วยงานที่มีความเป็นกลางมา สอบสวนหาข้อเท็จจริงคดีนี้นั้น พ.ต.อ.อนุชัย กล่าวว่า ตนไม่มีหน้าที่ตัดสินใจว่าคดีจะนำไปให้ใครดำเนินการต่อ แต่ตนก็พยายามให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาก็กำชับมาให้ดำเนินคดีอย่างรอบคอบ และตรงไปตรงมา เพราะคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน

ครอบครัวทมทิตชงค์



ตรวจสอบสถานะทางการเงินทั้งครอบครัวเปมิกา และครอบครัวทมทิตชงค์


ด้านความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชุดสืบสวน กก.1 บก.ป.กำลังเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือพยานผู้เชี่ยวชาญ และแพทย์ที่มีความรู้เกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทส่วนกลาง เพื่อพิสูจน์ถึงผลการออกฤทธิ์ของสารอีเฟดรีน รวมทั้งเพื่อพิสูจน์ว่าสารอีเฟดรีนเข้าไปในร่างกายของ นพ.ประกิตเผ่า ทางใดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการกิน สูดดม หรือฉีดเข้าเส้นเลือด ส่วนที่ 2 ชุดสืบสวนได้ตรวจสอบประวัติส่วนตัว และประวัติทางการเงินของผู้ใกล้ชิด น.ส.เปมิกา อย่างน้อย 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นมารดาผู้ให้กำเนิด น.ส.เปมิกา ซึ่งพบว่าเป็นชาวมุสลิม เดิมมีบ้านพักอยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ต่อมาแยกทางกับบิดา และบิดาไปมีภรรยาใหม่ ซึ่งเป็นคนปัจจุบัน และได้นำตัว น.ส.เปมิกา ไปรับเลี้ยงดูด้วย ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับ น.ส.เปมิกา เข้าข่ายที่ต้องถูกตรวจสอบทั้งหมด เช่นเดียวกับฐานะทางการเงินของครอบครัวทมทิตชงค์ ก็กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบด้วยเช่นกัน

หลายฝ่ายมีความเข้าใจผิดมาตลอดว่าพบสารอีเฟดรีน จริง ๆ แล้วไม่ใช่ แต่เป็นสารสูโดอีเฟดรีน ที่มีอนุพันธ์คล้ายคลึงกัน


ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ศ.นพ.สมิง เก่าเจริญ หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึงผลการตรวจหาสารอีเฟดรีนในร่างกายของ นพ.ประกิตเผ่า ครั้งล่าสุดว่า ตามที่หลายฝ่ายมีความเข้าใจผิดมาตลอดว่าพบสารอีเฟดรีนในร่างกายคนไข้นั้น ตนได้นำตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยที่ส่งตรวจในครั้งแรกมาตรวจซ้ำอีกครั้ง ผลออกมาเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าสารที่ตรวจพบนั้นไม่ใช่อีเฟดรีน แต่เป็นสารสูโดอีเฟดรีน ที่มีอนุพันธ์คล้ายคลึงกัน ซึ่งตนได้รายงานให้ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับทราบแล้ว


"ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คำว่า สูโดแปลว่าปลอม ดังนั้น สูโดอีเฟดรีน ก็คืออีเฟดรีน ปลอมนั่นเอง สารชนิดนี้มักพบในยาแก้หวัดคัดจมูกทั่วไป ซึ่งมีอยู่หลายตัว และไม่มีผลทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางจิตแต่อย่างใด

สำหรับเหตุผลที่ผมนำปัสสาวะของผู้ป่วยมาตรวจซ้ำในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับทราบประวัติของ คนไข้ว่ามีการรับประทานสูโดอีเฟดรีน หรือ ยาแก้หวัด คัดจมูก เป็นประจำ ดังนั้นจึงต้องตรวจซ้ำเพื่อยืนยันอีกครั้ง เพราะอีเฟดรีน และสูโดอีเฟดรีนมีโครงสร้าง หรืออนุพันธ์คล้าย ๆ กัน ดังนั้นจึงต้องตรวจให้แน่ชัด และผลที่ออกมาก็ยืนยันว่าไม่ใช่อีเฟดรีนแน่นอน" ศ.นพ.สมิง ยืนยัน

เข้าใจผิดกันไปเอง !! กินยาแก้หวัด 1 เม็ด ก็พบได้แล้ว ระดับสารที่พบในร่างกายถึง 200


หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาฯ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายเข้าใจว่า ระดับสารที่พบในร่างกายถึง 200 เท่านั้น ความจริงแล้วเป็นความเข้าใจผิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง ขอเรียนว่าในครั้งแรกที่เรานำตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยมาตรวจ พบปริมาณสูโดอีเฟดรีนประมาณ 13.7 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร แต่เมื่อนำปัสสาวะมาตรวจซ้ำ พบปริมาณสูโดอีเฟดรีนประมาณ 16 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งปริมาณดังกล่าว คนไข้รับประทานยาแก้หวัด คัดจมูก ที่ผลิตยาสูโดอีเฟดรีนแม้เพียง 1 เม็ด ก็สามารถตรวจพบได้

ต้องขอบคุณ ศ.นพ.สมิง ที่ช่วยไขความกระจ่างเรื่องสารอีฟรีดีน ให้สังคมได้ทราบข้อความจริง


สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับการประสานจาก โรงพยาบาลศรีธัญญา ให้ช่วยตรวจตัวอย่างปัสสาวะ และเลือดของ นพ. ประกิตเผ่า หลังจากที่มารดาและพี่ชายนำเข้ารับการรักษาตัวเมื่อวันที่ 19 ก.พ. โดยทางโรงพยาบาลศรีธัญญา ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ เบื้องต้นมีการรายงานผลว่าน่าจะเป็นสารอีเฟดรีน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสารอีเฟดรีน และสูโดอีเฟดรีน มีอนุพันธ์ที่คล้ายคลึงกัน เมื่อทาง ศ.นพ.สมิง ทราบ ประวัติคนไข้ว่ามีการรับประทานยาแก้หวัดคัดจมูกเป็นประจำ จึงได้นำปัสสาวะที่ตรวจในครั้งแรกมาตรวจยืนยันซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผลออกมาว่า สารที่พบในตัว นพ.ประกิตเผ่า มิใช่สารอีเฟดรีนแต่อย่างใด


พ.ต.อ.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบก.ป. กล่าวอีกครั้งหลังทราบผลการตรวจหาอีเฟดรีน ล่าสุดว่า ทางพนักงานสอบสวนกองปราบปราม คงต้องประสานไปยังแพทย์ผู้ตรวจ เพื่อขอผลตรวจโดยละเอียดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แล้วนำมาประกอบในสำนวนคดี ซึ่งหากเป็นข้อมูลที่ยืนยันได้ ก็จะทำให้การพิจารณาคดีง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามเราอาจจะต้องเชิญแพทย์ผู้ตรวจมาให้ปากคำด้วยตนเองด้วย.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์