ตม.เข้มสกัดโรคมือเท้าปากแพร่เข้าไทย

ชาวกัมพูชาแห่นำลูกหลานข้ามมาฝั่งไทย หนีภัยโรคร้ายคร่าชีวิตเด็กไป 60 กว่าคน ด้าน ตม.สระแก้วร่วมทหาร ตรวจเข้มสกัดโรคมือเท้าปากสายพันธุ์รุนแรงที่ระบาดในกัมพูชาแพร่เข้าประเทศ ขณะที่ สธ.ยันรับมือได้

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 10 ก.ค. 55  จากสถานการณ์จังหวัดตอนใต้ของกัมพูชา
 
เกิดโรคปริศนาคล้ายโรคมือเท้าปากของไทยแต่รุนแรงกว่า ได้คร่าชีวิตเด็กชาวเขมรไปแล้วกว่า 60 คน ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้ชาวเขมรที่เข้ามาค้าขายในตลาดโรงเกลือ และชาวเขมรที่อยู่ติดชายแดนไทย ด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ต่างตื่นกลัวโรคปริศนาที่ยังไม่มียารักษา ได้นำบุตรหลานที่มีอายุไม่เกิน 12 ปี เข้ามานอนค้างในฝั่งไทยจำนวนมาก 

โดยบริเวณหน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว
 
ตั้งแต่เปิดด่านมีชาวเขมรพาบุตรหลาน ซึ่งเข้ามานอนในฝั่งไทยเดินข้ามด่านพรมแดนอรัญประเทศไปส่งเข้าเรียนในฝั่งกัมพูชากันอย่างคึกคัก โดยส่วนใหญ่จะติดตามมาส่งบุตรหลานจนถึงโรงเรียนในฝั่งกัมพูชา 

         
ขณะเดียวกัน ที่ตลาดปอยเปต ประเทศกัมพูชา ที่อยู่ตรงข้ามด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว

ได้มีชาวเขมรแห่ออกมาหาซื้อหนังสือพิมพ์กัมพูชากันอย่างคึกคัก เพื่อติดตามข่าวสารการระบาดของโรคมือเท้าปากพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้เด็กชาวกัมพูชาเสียชีวิตไปแล้วถึงกว่า 60 คน โดยหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชาได้ลงข่าวพาดหัวยักษ์หน้าหนึ่ง มีภาพเด็กชาวกัมพูชาที่กำลังป่วยด้วยโรคมือเท้าปากพันธุ์ใหม่ที่ร้ายแรง นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกัมพูชา โดยขึ้นหัวข่าวว่า นายมอม บุญเฮง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา ยอมรับว่า ได้เกิดโรคระบาดทำให้มีเด็กกัมพูชาป่วยจำนวน 66 คน และเสียชีวิตจำนวน 64 รายจริง โดยผู้ป่วยและเสียชีวิตอยู่ที่โรงพยาบาลกนบุปผา ในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาทั้งหมด 


ตม.เข้มสกัดโรคมือเท้าปากแพร่เข้าไทย

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น เกิดจากติดเชื้อโรคมือเท้าปาก

ชนิดเอนเทอโรไวรัส 71 (Entero Virus 71) หรือ อี วี 71 ร่างกายอ่อนแอ รักษาโรคไม่ถูกวิธี และแพ้ยาจนทำให้เกิดอาการสมองบวม ทางเดินหายใจมีปัญหา ทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นขอให้ประชาชนชาวกัมพูชาระมัดระวังดูแลสุขภาพให้ดี เพราะโรคดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีร่างกายแข็งแรง ส่วนกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชากำลังเร่งศึกษาวิธีรักษาและควบคุมโรคมือเท้าปาก อี วี 71 แต่ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งข่าวดังกล่าวยิ่งทำให้ชาวกัมพูชาบริเวณชายแดนปอยเปตตื่นกลัวมากขึ้น ต่างพาบุตรหลานไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายจำนวนมาก

         
นายโบ ยิม อายุ 35 ปี พ่อค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดในตลาดโรงเกลือ ฝั่งไทย และมีบ้านพักอยู่ในตลาดปอยเปต ฝั่งกัมพูชา

เปิดเผยว่า พ่อค้าแม่ค้าชาวเขมรที่เข้ามาค้าขายในตลาดโรงเกลือ และมีลูกหลานยังอยู่ในวัยเรียนต่างตื่นกลัวเกรงลูกหลานจะติดโรคร้ายจึงนำมานอนค้างในฝั่งไทยจำนวนมาก พอตอนเช้าก็ต้องรีบนำกลับไปเรียนในฝั่งกัมพูชา เพราะเชื่อว่าปลอดภัยกว่า อีกทั้งฝั่งไทยยังมีหมอรักษาได้ ผิดกับฝั่งกัมพูชาหาแพทย์ยาก  

         
ด้าน พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ตม.จว.สระแก้ว ได้นำเจ้าหน้าที่ ตม.จว.สระแก้ว
 
ร่วมกับ ร.อ.อภินันท์ สงครามชัย ผบ.ร้อย.ทพ.1206 ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา (ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 1206 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 กองกำลังบูรพา) นำกำลังร่วมกันตรวจคัดกรองเด็กชาวเขมร โดยสุ่มตรวจเด็กชาวเขมรทุกคนที่พ่อแม่พาเข้ามาฝั่งไทย เพื่อตรวจสอบว่ามีอาการเป็นไข้หรืออาการต้องสงสัยหรือไม่ เป็นการคัดกรองเบื้องต้น เนื่องจากยังไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศมาตรวจคัดกรองแต่อย่างใด และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กัมพูชาในฝั่งปอยเปต ได้รับแจ้งว่าโรคดังกล่าวยังไม่ระบาดเข้ามาใน จ.บันเตียเมียนเจย หรือในปอยเปต

         
นอกจากนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ ตม.ทำการประชาสัมพันธ์ด้วยเครื่องขยายเสียงเป็นภาษาเขมร เตือนให้ชาวเขมรรู้จักป้องกันตนเองด้วยการหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
และพยายามสังเกตลูกหลานหากพบมีไข้สูงขอให้นำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดังกล่าวลุกลามเข้ามาในฝั่งไทย

         
ด้าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า ยังไม่มีการแพร่ระบาดในไทยและสามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ ล่าสุดพบโรคดังกล่าวที่โรงเรียนอนุบาลใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งได้สั่งให้ปิดโรงเรียนเพื่อเป็นการเฝ้าระวังแล้ว ส่วนตามแนวชายแดนได้กำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขจะสามารถควบคุมดูแลได้ และเชื้อที่พบก็ไม่รุนแรงเท่าที่พบในประเทศกัมพูชาอย่างแน่นอน

         
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
 
ในรอบ 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 กรกฎาคม 2555 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในไทย 10,813 ราย ร้อยละ 72 เป็นเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกระจายหลายจังหวัด แต่ยังไม่พบการระบาดของโรคเป็นกลุ่ม ซึ่งตรวจเชื้อพบว่าเกิดจากเชื้อ 2 ชนิด คือคอกซากี เอ 16 (Coxsackie A16) และเอนเทอโร ไวรัส 71 (Entero Virus 71) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ และที่พบในไทยเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง นอกจากนี้ ในเด็กที่เสียชีวิตในกัมพูชา พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในพนมเปญด้านประเทศเวียดนาม และพบส่วนน้อยประมาณ 5 ราย อยู่ที่เสียมราฐ จึงขอให้ไม่ต้องตื่นตระหนก 

         
ทั้งนี้ กระทรวงจะติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด และประสานหน่วยงานต่างประเทศ เช่น

ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) และองค์การอนามัยโลก (ฮู) อย่างต่อเนื่อง และได้ทำหนังสือขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในพื้นที่ ดูแลความสะอาดของสถานที่ โดยเชื้อโรคมือเท้าปากจะอยู่ในอุจจาระของเด็กที่ป่วยได้นานถึง 6 สัปดาห์ หากพบว่ามีอาการขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อควบคุมโรคไม่ให้ติดไปยังเด็กคนอื่น

         
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม 

         
วันเดียวกัน นพ.อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี

เปิดเผยกรณีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ติดเชื้อโรคมือเท้าปากว่า เด็กที่มารักษาที่โรงพยาบาลมี 5 ราย ตรวจพบ 4 รายป่วยเป็นโรคปากเท้าเปื่อยติดเชื้อคอกซากี ไวรัส ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ส่วนอีกหนึ่งรายป่วยเป็นไข้ตัวร้อนธรรมดา อย่างไรก็ตามได้แนะนำให้ปิดศูนย์เป็นเวลา 7 วัน และได้ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ล้างทำความสะอาดห้องเรียน และอุปกรณ์เด็กเล่นทุกชิ้น รวมทั้งแก้วน้ำดื่มทั้งหมด ส่วนการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตามแนวชายแดนไทย-พม่า ยังไม่พบการแพร่ระบาดแต่อย่างใด


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์