ดอกไม้ปลายปืน ผลิบานกลาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวคราวสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


ที่เราได้รับรู้แต่ละครั้งล้วนมีแต่ความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ โรงเรียนที่ถูกลอบวางเพลิง และอีกหลายเหตุการณ์ที่สร้างความรู้สึกเศร้าสลดและเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แต่ในฐานะผู้สื่อข่าวพวกเราก็อยากจะลองลงไปสังเกตการณ์พื้นที่จริงด้วยตนเองสักครั้ง แม้จะทราบว่าอันตรายก็ตาม

โชคดีที่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา


พวกเราได้มีโอกาสลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นครั้งแรก โดยได้ติดตามตามไปกับคณะของ พล.ต.ท.เอก อังสนานนท์ ผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (ผบช.สนว.) ที่ได้ลงไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ที่นั่นซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นตำรวจวิทยาการ หรือที่เรารู้จักกันในนามของกองพิสูจน์หลักฐาน แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่การที่ได้ไปสัมผัสการทำงานจริง ก็ทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ในการทำงานของตำรวจในอีกหลายด้าน

ก่อนไปถึง พล.ต.ท.เอก เล่าให้เราฟังว่า


การทำงานของตำรวจที่นั่นเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ตลอดเวลา การลงไปของผู้บังคับบัญชาแต่ละครั้งพวกเขาก็จะรู้สึกดีใจ เพราะเหมือนผู้ใหญ่ยังให้ความสนใจ ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ด้วยภารกิจของผู้บังคับบัญชาที่ต้องดูแลลูกน้องทั้งประเทศจึงไม่สามารถที่จะลงไปเยี่ยมบ่อยๆ ได้ แต่ก็พยายามจะหาโอกาสลงไปเสมอ

พล.ต.อ.เอก กล่าว


การได้ไปเยี่ยมลูกน้องแต่ละครั้งพวกเขาก็จะดีใจมาก แต่บางครั้งก็ทำให้ผมใจหาย เพราะกว่าจะหาโอกาสลงไปเยี่ยมพวกเขาได้อีกครั้ง ก็ไม่รู้ว่าจะได้เห็นหน้าพวกเขาครบทุกคนอีกหรือเปล่า เพราะทุกพื้นที่นั้นมีอันตรายอยู่ตลอด

คณะของเราได้เดินทางมาถึง จ.นราธิวาส เป็นที่แรก


เมื่อได้มาสัมผัสก็รู้สึกว่าที่นี่เป็นเมืองที่สวยงาม ธรรมชาติทุกอย่างยังอุดมสมบูรณ์ มีทั้ง ทะเล ภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ แต่ก็เงียบสงบ เงียบจนน่ากลัวเพราะบางเส้นทางที่เราผ่านก็เคยเกิดเหตุรุนแรงมาก่อน เราจึงไม่ได้แวะที่ไหนเลย เพราะอาจเป็นอันตรายจึงต้องไปตามเส้นทางหน่วยรักษาความปลอดภัยกำหนดเท่านั้น

ที่แรกที่คณะของเราได้มาเยี่ยมคือ


วิทยาการ จ.นราธิวาส ซึ่งเราได้เยี่ยมชมหน่วยงานและทักทายกับตำรวจที่นั่น ทำให้เราได้รู้จักกับ ร.ต.ต.(หญิง)อาซีซะ ตะยีจะโซะ ตำรวจหญิงตัวเล็กๆ ซึ่งสืบทอดอุดมการณ์จากตำรวจผู้เป็นพ่อที่ทุ่มเทให้กับหน้าที่ตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนต้องเสียชีวิตไปในการทำงาน

ร.ต.ต.(ญ)อาซีซะ เล่าให้เราฟังว่า


เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2549 ด.ต.ดนัย ตะยีจะโซะ ซึ่งเป็นบิดา กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าจุดยุทธศาสตร์เตาะบอน อ.สายบุรี ได้ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบุกมายิงเสียชีวิตถึงภายในป้อมตำรวจ ขณะนั้นเธอทำงานเป็นครูสอนด้านวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ เมื่อทางตำรวจเห็นว่าเธอมีวุฒิทางด้านวิทยาศาสตร์ จึงได้ติดต่อมาให้มาทำหน้าที่เป็นตำรวจวิทยาการ เธอจึงตัดสินใจวางชอล์กและลุกขึ้นมาเป็นตำรวจเพื่อสานต่ออุดมการณ์ของพ่อทันที

ร.ต.ต.(ญ)อาซีซะ กล่าว


เคยถามพ่อว่าไม่กลัวหรือที่ต้องทำงานในพื้นที่อันตรายอย่างนี้ แต่พ่อกลับตอบว่าพ่อเป็นคนในพื้นที่ พ่อไม่กลัวหรอก พ่อสอนเราอยู่เสมอว่าเราต้องเข้มแข็งและช่วย 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้กลับมาสงบสุขเหมือนเมื่อก่อน ถ้าเราไม่ช่วยแล้วใครจะช่วยได้ เมื่อพ่อเสียชีวิตลงและได้รับการติดต่อให้มาเป็นตำรวจจึงไม่ลังเลเลย เพราะอยากจะใช้ความรู้ความสามารถของเราช่วย 3 จังหวัดชายแดนใต้เหมือนที่พ่อเคยสอนไว้

จุดยุทธศาสตร์เตาะบอนที่ซึ่งพ่อของ ร.ต.ต.(ญ)อาซีซะ เสียชีวิต


ในวันที่เราได้ไปเยือนถูกเปลี่ยนไปมาก จากเมื่อก่อนแม้ว่าจะเป็นป้อมตำรวจที่ติดถนนใหญ่ก็ตาม แต่ก็มีการวางรั้วลวดหนามและสร้างบังเกอร์อย่างเตรียมพร้อมรับมือ โดยผลมาจากการเรียนรู้ความสูญเสียในครั้งนั้น ที่ถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีทำทีเป็นชาวบ้าน และลอบเข้ามาสอดแนมถึงในป้อมได้โดยง่าย อาศัยความไว้ใจเข้ามายิงตำรวจถึงในป้อมแม้จะเป็นตอนกลางวันก็ตาม

สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้เห็นว่า


สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุความไม่สงบนั้น ไม่ได้มีเพียงความสูญเสียเท่านั้น แต่เราเรียนรู้ที่จะป้องกัน และพร้อมก้าวต่อไปเพื่อจะต่อสู้ ให้ได้มาซึ่งความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และถ้าเราไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับสิ่งชั่วร้าย และช่วยกันปกป้องแผ่นดินของเรา เหมือนที่พ่อของ ร.ต.ต.(ญ)อาซีซะ ได้สอนไว้สักวันเราก็จะได้ความสงบกลับคืนมา

ต่อมา พวกเราได้เดินทางต่อไปยังวิทยาการ จ.ปัตตานี


และได้พูดคุยกับ พ.ต.ต.หญิง ทรงรัตน์ ถิ่นหนองจิก หัวหน้าหน่วยวิทยาการที่นี่ ซึ่งเธอไม่ใช่คนในพื้นที่ และเพิ่งเข้ามาอยู่ได้เพียงประมาณ 1 ปี เท่านั้น แต่ 1 ปีที่เธอได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานของเธอให้เราได้ฟัง พวกเราเห็นว่า เป็นงานที่หนักมากสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอ

พ.ต.ต.หญิง ทรงรัตน์ เล่าว่า


การก่อความไม่สงบในปัจจุบันนั้น ดูจะรุนแรงกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะเมื่อก่อนเป็นเพียงแค่การสร้างสถานการณ์เช่นเผาโรงเรียน วางระเบิด แต่ตอนนี้มีการลอบสังหารชีวิตคนอยู่เสมอ ทำให้งานตรวจสอบหลักฐานนั้นยากและอันตรายมากขึ้น ยอมรับว่า กลัวบ้าง เพราะเราต้องเสี่ยงชีวิต

แม้จะมีการเคลียร์พื้นที่ก่อนเข้าตรวจแล้ว แต่ก็มีการวางระเบิดลูกที่ 2 อยู่เป็นประจำ แต่ก็มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไป เพราะเชื่อว่างานของเราจะช่วยจับคนร้ายโดยใช้นิติวิทยาศาสตร์เพื่อเอาผิดตามกฎหมายได้ และนำความสงบมาสู่ภาคใต้อีกครั้ง

พ.ต.ต.หญิง ทรงรัตน์ ถิ่นหนองจิก หัวหน้าหน่วยวิทยาการจ.ปัตตานี ตรวจสอบที่เกิดเหตุ



พ.ต.ต.หญิง ทรงรัตน์ กล่าว


ปัญหาอีกอย่างหนึ่งการปฏิบัติงานในพื้นที่ก็คือเรื่องกำลังคน โดยปกติการตรวจสอบที่เกิดเหตุทีมหนึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวิทยาการ 2-3 คน แต่ที่นี่ทุกคนต้องทำงานได้ทุกกอย่าง ต้องช่วยๆ กัน ตั้งแต่งานธุรการไปจนถึงงานภาคสนาม เพราะมีกำลังคนเพียงแค่ 11 นาย ทั้งที่มีอัตราบรรจุทั้งหมด 34 นาย

เพราะบางคนที่ได้บรรจุที่นี่ก็ไม่กล้าลงมาทำงาน เราก็ต้องทำไปตามกำลังที่มี เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีการก่อความไม่สงบพร้อมกันเป็นร้อยจุดเราก็ต้องแบ่งกันไปตรวจต้องวิ่งวุ่นเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ท้อนะค๊ะ เราอยากจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

หลังจากนั้น พวกเราได้เดินทางต่อไปเข้ายังพื้นที่สีแดง


และแวะเยี่ยมตำรวจ สภ.อ.กระพ้อ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุก่อความไม่สงบมาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งยังเคยมีเหตุการณ์ที่ชาวบ้านนับร้อยปิดล้อมโรงพักถึง 3 ครั้ง แต่ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเคล็ดลับอยู่ที่บรรดาตำรวจหญิงทั้ง 7 นาย ของ สภ.อ.กระพ้อ ที่อาศัยความนุ่มนวลเข้าช่วยในการเจรจาเพื่อสลายการชุมนุมนั่นเอง

ส.ต.ต.หญิง ปาริตา ชูกลิ่น


ตำรวจหญิง 1 ใน 7 ของโรงพักพื้นที่สีแดงแห่งนี้ เล่าให้เราฟังว่า ตำรวจหญิง 6 ใน 7 คนไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ทั้งหมดนั้นก็เต็มใจและขันอาสาที่จะลงมาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ ตามโครงการของตำรวจ เป็นเวลา 6 ปี ทุกคนจบปริญญาตรีและมีงานดีๆ ติดต่อเข้ามา แต่ก็ปฏิเสธไปหมด โดยเลือกที่จะมาเป็นตำรวจแม้ยศจะต่ำกว่าวุฒิที่เรียนจบมา เพราะทุกคนคิดเหมือนๆ กันว่าอยากจะช่วยพื้นที่ตรงนี้ของเราให้กลับมาสงบสุขเหมือนเมื่อก่อน

ส.ต.ต.หญิง ปาริตา กล่าว


ตำรวจหญิงที่นี่มีประโยชน์ในเรื่องการเข้าหาประชาชนมากนะคะ เพราะตามหลักศาสนาอิสลามการพูดคุยกับผู้หญิงในพื้นที่ก็เป็นเรื่องลำบากอยู่แล้ว ยิ่งเวลาต้องค้นตัวก็ถือเป็นเรื่องที่ห้าม พวกเราตำรวจหญิงจึงเป็นกำลังในการเข้าหาคนในพื้นที่โดยอาศัยความเป็นผู้หญิงของเราก็ได้ผลมากทีเดียว

ส.ต.ต.หญิง สุจิตรา เม่งเอียด ตำรวจหญิงอีกคนกล่าว


เราได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้เดือนละ 2 ครั้ง บางเดือนยุ่งมากๆ ก็ไม่ได้กลับ แต่พวกเราก็ไม่ท้อนะคะ ไม่กลัวด้วยเพราะทั้งตำรวจหญิงและชายที่นี่ช่วยเหลือกันตลอด รวมทั้งผู้กำกับก็ให้การดูแลเป็นอย่างดีเหมือนครอบครัว แม้เราจะไม่ได้เป็นกำลังหลักในการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่พวกเราก็จะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อให้ 3 จังหวัดกลับมาสงบเหมือนเดิม

น่าเสียดายที่เรามีเวลาอยู่ในแต่ละที่ที่ไปเยี่ยมด้วยเวลาที่จำกัด

เพราะเราต้องไปหลายที่ในเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะที่ สภ.อ.กระพ้อ ที่มียังมีตำรวจอีกมากที่เราอยากจะพูดคุยซักถาม แต่ก็ต้องถูกตำรวจที่นี่แนะนำให้รีบเดินทางออกไปยังที่พักเพราะเป็นเวลาเย็นมากแล้ว จึงเป็นห่วงในความปลอดภัยของพวกเรา เราจึงต้องรีบเดินทางออกมาและมุ่งหน้าสู่ที่หมายสุดท้าย คือ ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปก.ตร. เพื่อพักผ่อนและเดินทางกลับในเช้าวันรุ่งขึ้น

สำหรับ ศปก.ตร. นั้น


ก่อนหน้านี้เปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการในการแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ทำหน้าที่ทั้งการจัดกำลังคน วางแผนปฏิบัติการ และสั่งการ โดยมี พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการแห่งนี้ และแม้ในวันนี้หน้าที่ของ ศปก.ตร. จะลดบทบาทลงเหลือเพียงการสนับสนุนกำลังพลตำรวจในพื้นที่

แต่ พล.ต.ท.อดุลย์ ก็ยังยืนยันที่จะกุมบังเหียนที่นี่ต่อไป

จนกว่าจะถูกเรียกตัวกลับ พร้อมให้ความมั่นใจในการแก้ปัญหาใต้ว่าเรากำลังเดินมาถูกทางแล้ว แม้ที่นี่จะมีบทบาทเป็นส่วนสนับสนุนการทำงานเราก็พร้อมที่จะทำเพราะขณะนี้เรามีแหล่งข้อมูล รวมทั้งบุคลากรที่เชี่ยวชาญในพื้นที่ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถฝึกเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พล.ต.ท.อดุลย์ กล่าวถึง


นโยบายการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ของตำรวจในขณะนี้ว่า แม้การจับตัวคนร้ายจะยังไม่สามารถนำมาดำเนินคดีได้มากเนื่องจากปัญหาเรื่องประชาชนในพื้นที่ แต่ตำรวจก็เน้นที่จะใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการจัดการปัญหา เพราะเป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือ และใช้ดำเนินคดีในชั้นกับผู้ก่อความไม่สงบได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยที่ไม่มีข้อโต้แย้ง และนำไปสู่การแก้ปัญหาภาคใต้อย่างยั่งยืนในที่สุด


คืนนั้นเราได้พักผ่อนกันที่ ศปก.ตร. ด้วยความรู้สึกที่ปลอดภัย


เพราะเห็นกองกำลังที่เข้มแข็งของตำรวจที่นี่ และเดินทางกลับในเช้าตรู่ของอีกวัน โดยมีตำรวจถือปืนกระบอกใหญ่คอยคุ้มกันให้พวกเรา และ ร.ต.ต.(ญ)อาซีซะ เดินทางมาส่งถึงสนามบิน


ก่อนกลับ พวกเราได้บอกลาและขอบคุณตำรวจที่เดินทางมาส่ง


รวมทั้ง ร.ต.ต.(ญ)อาซีซะ และตำรวจ รปภ. พวกเขายังบอกให้พวกเรากลับมาเยี่ยมพวกเขาได้อีกเมื่อมีโอกาส เขาจะคอยดูแลความปลอดภัยของพวกเราเป็นอย่างดี พวกเรากล่าวขอบคุณพวกเขาอีกครั้ง ไม่ใช่ขอบคุณที่พวกเขาที่ได้คอยดูแลความปลอดภัยให้พวกเราจนเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย แต่ขอบคุณที่พวกเขายอมเสี่ยงอันตรายช่วยกันปกป้องผืนแผ่นดินที่สวยงามแห่งนี้ของคนไทยทุกคน ให้คงอยู่


พวกเราเห็นว่า พวกเขาคือ ดอกไม้ปลายปืน
ที่งดงามที่จะคอยผลิดอกและออกผลให้คนในพื้นที่ได้เข้าใจถึงความเป็นคนไทยในผืนแผ่นดินเดียวกัน และนำความสงบสุขกลับคืนมาให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อีกครั้ง


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์