Cover Song อัพลงโซเชียล ถือว่า ละเมิดลิขสิทธิ์

Cover Song อัพลงโซเชียล ถือว่า ละเมิดลิขสิทธิ์

การนำเพลงของศิลปินมาร้องใหม่ อัดคลิปและอัพโหลดลงโซเชียลมีเดีย ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ การคัฟเวอร์เพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์ต้องติดต่อไปยังค่ายเพลงเพื่อขอใช้สิทธิ์
  
“เพลง” เป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ผู้ใดนำเพลง มาทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่สู่สาธารณะชน ย่อมถือเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้น การร้องเพลงคัฟเวอร์ ถ่ายวีดีโอ และนำไปเผยแพร่ จึงเป็นทั้งการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่สู่สาธารณะชนซึ่งเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของศิลปินหรือค่ายเพลง ผู้คัฟเวอร์จึงมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27

คลิปของฉัน ‪- ‎ลิขสิทธิ์ของฉัน‬
คลิปคัฟเวอร์ที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียมีหลายลักษณะ บางคลิปเป็นการถ่ายวีดีโอขณะตนกำลังเล่นดนตรีและร้องเพลงในห้อง บางคลิปถ่ายในห้องอัดเสียง บางคลิปถ่ายนอกสถานที่ ไล่ระดับไปเรื่อยๆ จนบางคลิปถึงขั้นมีการตัดต่อใส่เรื่องราวคล้ายเป็นมิวสิกวีดีโอขึ้นมาใหม่ ซึ่งทุกๆ คลิป จะมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ คลิปนั้นๆ ผู้คัฟเวอร์เป็นผู้ขับร้อง ถ่ายทำ รวมถึงตัดต่อขึ้นมาเอง แต่รู้หรือไม่ คลิปนั้นไม่ถือเป็นลิขสิทธิ์ของผู้คัฟเวอร์!

เงื่อนไขหนึ่งของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ คือ การริเริ่มด้วยตนเอง (Originality) ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น แม้คุณจะขับร้องด้วยเสียงของคุณเอง หรือคุณเป็นผู้เรียบเรียงดนตรีใหม่ ถ่ายทำและตัดต่อคลิปคัฟเวอร์ขึ้นด้วยฝีมือของคุณเอง แต่ในเมื่อเพลงที่นำมาร้องเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่นซึ่งคุณไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาคัฟเวอร์แล้ว คลิปนั้นก็ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของคุณอยู่ดี

คัฟเวอร์เพลงอย่างไรให้ถูกลิขสิทธิ์
การคัฟเวอร์เพลงให้ถูกลิขสิทธิ์ ผู้คัฟเวอร์จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนั้นๆ ก่อน โดยต้องเข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิพร้อมทั้งจ่ายค่าสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งตามนโยบายทั่วไปของค่ายเพลงในประเทศไทย ศิลปินและนักแต่งเพลงจะทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ให้ค่ายเพลงโดยได้รับค่าตอบแทน ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงได้แก่ ค่ายเพลง การคัฟเวอร์เพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์จึงเริ่มจากการตรวจสอบว่าเพลงที่ต้องการคัฟเวอร์อยู่ในสังกัดของค่ายเพลงใด จากนั้นให้ติดต่อไปยังค่ายเพลงนั้น สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิและค่าสิทธิ และเข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและชำระค่าสิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยแต่ละค่ายเพลงก็จะมีนโยบายการอนุญาตให้ใช้สิทธิต่างกันไป

ทำไมคลิปคัฟเวอร์เพลงยังมีอยู่มากมายบน YouTube 
ถึงแม้ว่าการคัฟเวอร์จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่คลิปคัฟเวอร์ก็ยังคงปรากฏอยู่มากมายบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเว็บไซต์ YouTube สาเหตุหลักมาจากเหตุผลทางการตลาด การมีผู้คัฟเวอร์เพลงหลายรายบ่งบอกได้ว่าเพลงนั้นเป็นที่นิยมมาก และยิ่งมีคลิปคัฟเวอร์มาก ก็จะเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์และกระตุ้นยอดขายของค่ายเพลงให้ดีขึ้นได้ด้วย

นอกจากนี้ YouTube มีระบบ Content ID ซึ่งเป็นบริการสำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการเลือกให้จัดการกับวีดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของตน โดยเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถเลือกบล็อกวิดีโอไม่ให้สามารถดูได้ (Block) ปิดเสียงที่ตรงกับดนตรีของเจ้าของลิขสิทธิ์ (Mute) หรือ สร้างรายได้จากวิดีโอโดยการเล่นโฆษณาบนวิดีโอ (Monetize) คลิปคัฟเวอร์จึงเป็นหนทางสร้างรายได้ให้แก่ค่ายเพลงอีกทางหนึ่ง

แม้การคัฟเวอร์จะเป็นผลดีแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในแง่การตลาดและการสร้างรายได้ค่าโฆษณาผ่านระบบของ YouTube แต่ผู้เขียนย้ำขอให้นักร้องคัฟเวอร์ทั้งหลายอย่างลืมว่า การคัฟเวอร์เพลงยังคงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของสิทธิอยู่เช่นเดิม หากเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการจะฟ้องร้อง เค้าย่อมใช้สิทธิของเค้าได้ ดังนั้น ควรทำให้การคัฟเวอร์ของคุณถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์โดยการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 ระบุว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15(5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1)ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2)เผยแพร่ต่อสาธารณชน

ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ในส่วนของคำถาม-คำตอบ ประเด็นที่สำคัญมีดังนี้

ข้อ 1. งานงานลิขสิทธิ์ คืออะไร
 
งานลิขสิทธิ์มี 9 ประเภท ได้แก่ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ

ข้อ 5. การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษตามกฎหมายอย่างไร
 
การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษทางอาญาทั้งจำคุกและโทษปรับแล้วแต่กรณี และเจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย โทษทางอาญา เช่น การทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และหากทำเพื่อการค้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่  6 เดือนถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่100,000-800,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

และข้อ 7. การดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
 
การดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

หลังจากที่เว็บไซต์วอยซ์ทีวีนำเสนอข่าวนี้ มีเพจดังในโลกออนไลน์ได้นำข่าวไปเผยแพร่ต่อทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก โดยหนึ่งในผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็น คือ แอดมินเพจ 'กรมทรัพย์สินทางปัญญา' ที่เข้ามาชี้แจงตอบข้อสงสัยเรื่องดังกล่าว

ที่มา voice tv

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์