ดีเอสไอ เชิญ13หน่วยงานจัดซื้อจีที200หารือเอาผิดฉ้อโกง

ขอบคุณภาพจาก "เดลินิวส์"ขอบคุณภาพจาก "เดลินิวส์"

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต  เพ็งดิษฐ์  อธิบดีดีเอสไอ
 
กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 และอัลฟ่า 6 ว่า ล่าสุด ทราบว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าวแล้ว  แยกเป็น 13 คณะตามจำนวนหน่วยงานที่จัดซื้อ  ดังนั้น จากนี้ป.ป.ช.จะเป็นผู้รับผิดชอบการตรวจสอบความผิดในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ  และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา(26 ก.ค.)ดีเอสไอเพิ่งส่งข้อมูลเพิ่มเติมกับป.ป.ช. ประเด็นที่พบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฮั้วประมูลมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในกรณีที่พบว่าการดำเนินการของบริษัทที่เป็นตัวแทน บริษัทแม่ในประเทศอังกฤษ และบริษัทตัวแทนช่วง มีพฤติกรรมสมรู้ร่วมคิดกระทำความผิดฐานฮั้วประมูล 

อย่างไรก็ตาม  ดีเอสไออยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการเอาผิดฐานฉ้อโกงกับบริษัทเอกชนที่เป็นผู้เสนอขายสินค้า
 
โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรทำหนังสือเชิญตัวแทนหน่วยงานทั้ง 13 หน่วยงานเข้าสอบถามความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องมือและหารือเรื่องการเอาผิดคดีฉ้อโกง  เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าร้องทุกข์กับดีเอสไอ มีเพียงบางหน่วยงานที่แจ้งมาอย่างไม่เป็นทางการ บางหน่วยงานก็เงียบหาย และบางหน่วยมีทีท่าไม่ยอมรับผลสอบของดีเอสไอทั้งที่ดีเอสไอสอบสวนโดยยึดตามพยานหลักฐานการตรวจสอบใช้เครื่องมือดังกล่าวของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)แล้วปรากฏว่าเครื่องมือทั้ง 2 ชนิด ไม่มีประสิทธิภาพใช้งาน  ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจตรงกันจึงควรเข้าหารืออย่างเป็นทางการ  คาดว่าจะนัดหารือได้อีก 2 สัปดาห์หลังจากนี้  โดยการตรวจสอบของดีเอสไอพบว่าหน่วยงานที่จัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวมาใช้มีมากกว่า 13 หน่วยงาน
 

ด้านพ.ต.ท.พงษ์อินทร์  อินทรขาว  ผบ.สำนักคดีความมั่นคง  กล่าวว่า 

ดีเอสไอได้ตรวจสอบข้อมูลการดำเนินคดีกับบิษัทผู้ขายเครื่องมือที่มีการอวดอ้างว่ามีคุณสมบัติตรวจสอบวัตถุระเบิดระยะไกลพบว่ามีการผลิตในประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งทุกบริษัทถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงหลอกลวงทั้งหมดแล้ว  ดังนั้นจะประสานข้อมูลกับต่างประเทศเพื่อนำสำนวนมากพิจารณาการดำเนินคดีบริษัทเหล่านี้   โดยในประเทศสหรัฐฯพบมีการจำหน่ายเครื่อง โมล(M.O.L.E) ตรวจพิสูจน์จากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯเมื่อปี 2002 แล้วว่าลวงโลก จากนั้นบริษัทผู้ผลิตจึงหนีไปเปิดบริษัทผลิตจีที 200 แล้วมาหลอกจำหน่ายให้กับประเทศด้อยพัฒนา ต่อมาเมื่อปี 2007 ได้มีการผลิตเครื่อง สนิฟ เฟ็กซ์ (Sniffix) ซึ่งมีในประเทศไทยเช่นกันโดยกองทัพเรือสหรัฐฯพิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้ผลอย่างที่อวดอ้าง  ในปี 1966 เครื่องคาลโตร  แทรคเกอร์ (Quartro Tracker) ซึ่งถูกเปิดโปงว่าเป็นเครื่องลวงโลก และถูกเอฟบีไอสหรัฐฯดำเนินคดี  
 

พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศอังกฤษอัยการอังกฤษได้สอบสวนกรณีดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2007-12 ก.ค. 2012
 
แจ้งข้อหากับนายเกรย์รี่ บอลตัน , นายแซมมวล ทรี , นายโจน ทรี ,นายไซม่อน   เชอร์ราด ,นายจิม  แมคคอร์มิค และนายแอนโทนี่ วิลเลียมสัน  โดยหลอกลวงขายเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6  ผ่านบริษัทโกลบอล เทคนิคคอล บริษัท คอนแทคและบริษัท เอทีเอสซี โดยในบริษัทไทยได้เข้ามาก่อตั้งบริษัทเอวีเอ แซดคอม จำกัด , บริษัท แจ๊คสัน อิเลคทรอนิกส์ และบริษัท  เปโตร กรุงเทพฯ ซึ่งขายเครื่องให้กับหน่วยงานของรัฐเฉลี่ยราคาตั้งแต่ 424,800-1,850,588 บาท และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการจำหน่วยเครื่องเอดีอี 651 ราคาประมาณ 500,000-1,000,000 บาทโดยรัฐบาลประเทศอิรักทุ่มงบประมาณกว่า 3,000ล้านบาท แต่เกิดเหตุระเบิดพลีชีพน้ำหนัก 2,000 กิโลกรัมเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 155 รายกลางกรุงแบกแดด เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2009 จนกลายเป็นประเด็นให้มีการตรวจสอบบริษัทถึงประสิทธิเครื่องมือดังกล่าว  สำหรับประเทศไทยในปี 2009 เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องจีที 200 ตรวจที่เกิดเหตุในอ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาสและอ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยเครื่องยืนยันว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยไม่มีระเบิดแต่กลับเกิดเหตุระเบิดจนทำให้มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์