เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่จ.อ่างทอง พบแล้ว 7 ราย หลังเจอหวัดนกในไก่ชน

กรมปศุสัตว์ ยืนยันพบเชื้อไข้หวัดนกแล้วเป็นจุดที่ 3 ในไก่ชนและไก่พื้นเมือง ที่ จ.อ่างทอง สั่งทำลายสัตว์ปีกยกฝูง พร้อมคุมเข้มการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออก ด้านสธ.เร่งเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงสัมผัสไก่ชน ไก่พื้นบ้านมีเชื้อไข้หวัดนก 2 ครอบครัว รวม 7 ราย เป็นเวลา 14 วัน อาการทุกคน ณ วันนี้ปลอดภัย เตือนผู้เลี้ยงไก่ชนอย่าดูดเสมหะปากไก่ชนโดยตรง พร้อมโรคระบุพบเด็กเป็นไข้หวัดใหญ่ H.N2 จำนวน 31 ราย ที่อำเภอใกล้เคียง






นายภิรมย์ ศรีจันทร์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า


ค่ำวานนี้ ได้รับยืนยันผลการตรวจสอบตัวอย่างสัตว์ปีกจากห้องปฏิบัติการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ว่า ได้พบเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 เพิ่มเติม โดยพบ 6 ตัวอย่าง จากไก่ชนและไก่พื้นเมือง จำนวน 16 ตัว ซึ่งป่วยตายไป 6 ตัว ในพื้นที่ ต.มงคลธรรมนิมิต อ.สามโก้ จ.อ่างทอง

ซึ่งได้ดำเนินการทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดในฝูงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในจุดพบโรคและจุดเสี่ยง ตั้งจุดตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออก บริเวณจุดเกิดโรค 24 ชั่วโมง รวมทั้งเฝ้าระวังและค้นหาโรคในบริเวณพบโรค และประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัดและประชาชนในพื้นที่ทราบแล้ว ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยพบเชื้อไข้หวัดนกในปีนี้แล้ว 3 จุด คือ ที่พิษณุโลก หนองคาย และอ่างทอง


ด้าน นพ.นิรันดร สันนิษฐานเบื้องต้นถึงสาเหตุ ว่า


ด้าน นพ.นิรันดร เอื้องตระกูลสุข ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ สันนิษฐานเบื้องต้นถึงสาเหตุ ว่า ไก่ชนของเกษตรกรน่าจะรับเชื้อมาจากนกธรรมชาติและนกอพยพ เนื่องจากในช่วงกลางเดือน ม.ค.ในพื้นที่ดังกล่าวมีนกบินตกมาตายจำนวนมาก แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ให้ความสนใจแจ้งทางการเพื่อเก็บซากไปตรวจสอบ ประกอบกับในพื้นที่ยังมีการชนไก่ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ชะลอกิจกรรมชนไก่แล้ว

สรุปสถานการณ์ควบคุมเฝ้าระวังไข้หวัดนก ยังคงมีตัวอย่างสัตว์ปีกรอผลตรวจอีก 12,144 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่เก็บมาทั้งหมด 53,196 ตัวอย่าง ให้ผลบวก (พบเชื้อไข้หวัดนก) 3 ตัวอย่าง นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) ดำเนินการจับกุมผู้ลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก 6 ราย ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 3 ราย และที่นครนายก หนองคาย กำแพงเพชร จังหวัดละ 1 ราย ทั้งเป็ดไข่ เป็ดเนื้อ เป็ดไล่ทุ่ง และไก่ชน


จับมือลาว-เขมรสกัดการระบาด


นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมการจัดทำแผนปฏิบัติงานในการป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อบริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา และประเทศไทยและลาว ว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ

และผู้บริหารจากทั้ง 3 ประเทศ ร่วมกันพิจารณาความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติงานในปี 2550 ตามแผนความร่วมมือเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และไข้หวัดนก เพื่อลดอัตราป่วยและอัตราตายในกลุ่มประชากรข้ามเขตแดนและแรงงานต่างด้าว รวมทั้งเพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเอกชน

"สำหรับแผนความร่วมมือในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนกตามแนวชายแดน ไทย-ลาว-กัมพูชา ประกอบด้วย การฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของหน่วยตรวจสอบโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือ SRRT ในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค และจัดทีมสอบสวนโรคร่วมในจุดชายแดน การแลกเปลี่ยนข้อมูลโรคติดต่อชายแดน โดยมีเว็บไซต์ www.svkumk.com ของมุกดาหาร และสะหวันนะเขต และในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการซักซ้อมแผนเตรียมรับสถานการณ์การระบาดตามแนวชายแดนระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงด้วย" นพ.ธวัช กล่าว


อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า


สำหรับการควบคุมโรคไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ได้มีการซักซ้อมแผนระดับจังหวัดไปแล้ว 56 จังหวัด คาดจะครบทุกจังหวัดในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งการที่เดือนแรกของปีพบผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่แล้ว 3 ราย ก็เป็นสัญญาณว่าจะประมาทไม่ได้ เพราะแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตน้อยมากเพียงกว่า 10 คนเท่านั้น ด้านการติดต่อของไข้หวัดนกยังเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ทั้งในสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และคน แต่ยังไม่พบการระบาดติดต่อเพิ่มเติม

"ในอินโดนีเซียเริ่มมีการระบาดของไข้หวัดนกสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น แมว สุนัข แต่เรื่องนี้ไม่ใช่องค์ความรู้ใหม่ เรามีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว ซึ่งที่พบเชื้อไข้หวัดนกในพิษณุโลกและหนองคาย ก็ได้เข้าไปเฝ้าระวัง ตรวจสอบเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่บริเวณพบโรค แต่ก็ยังไม่พบเชื้อแต่อย่างใด ซึ่งถ้าพบเราจะไม่ปิดบังแน่นอน นอกจากนั้น ยังไม่พบว่ามีการระบาดติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาสู่คน" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว


"อภิรักษ์"คุมเข้มหวัดนกกทม.


วันเดียวกัน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม.และคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมด่านควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์สุวินทวงศ์ เขตหนองจอก โดยรถทุกคันที่ขนย้ายสัตว์ปีกผ่านด่านดังกล่าว จะต้องมีเอกสารการเคลื่อนย้ายสัตว์ มีผลการทดสอบทางห้องปฏบัติการว่าปลอดเชื้อไข้หวัดนก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารพร้อมลงบันทึกในสมุดควบคุม

สัตวแพทย์ประจำจุดตรวจลงนามในเอกสารจากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโดยรอบตัวรถ ซึ่งรถแต่ละคันจะใช้เวลา ประมาณ 10 นาที จึงจะปล่อยรถผ่านด่านตรวจได้

จากนั้นนายอภิรักษ์ ได้ไปตรวจเยี่ยม สุจิตราฟาร์ม ถนนราษฎอุทิศ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี ซึ่งฟาร์มดังกล่าวเป็นฟาร์มปิด เลี้ยงไก่เนื้อประมาณ 25,000 ตัว ในโรงเรือนจำนวน 15 หลัง ทั้งนี้ ก่อนที่จะนำไก่กลับฟาร์มแล้วนำไปโรงเชือดจะมีการแจ้งปศุสัตว์ เขตมีนบุรี เพื่อออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ (ร.3) เพื่อนำไก่ไปโรงฆ่าสัตว์ปีก อย่างไรก็ตามสุจิตราฟาร์มเป็นฟาร์มที่ผ่านการประเมินและตรวจรับรองมาตรฐานฟามจากกรมปศุสัตว์ทุกครั้ง


นายอภิรักษ์ให้สัมภาษณ์ว่า


พื้นที่เขตหนอกจอก มีนบุรี เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์ปีกมากที่สุดในพื้นที่กทม.รวมทั้งมีด่านตรวจสัตว์สุวินทวงศ์ ซึ่งปกติเฉลี่ยทุกเดือนจะมีไก่เนื้อกว่า 5 ล้านตัว ไข่ไก่ 27 ล้านฟอง ชิ้นส่วนไก่ 157,000 กิโลกรัมและเป็ดสดแช่แข็ง 76,000 กิโลกรัมฯ ผ่านจุดตรวจด่านดังกล่าวซึ่งผู้ที่ขนย้ายต้องมีใบอนุญาต

มีผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่าปลอดเชื้อไข้หวัดนก แต่หากไม่มีใบอนุญาต จะต้องถูกกักขังไว้ก่อน 21 วัน พร้อมกับถูกตรวจสอบหาเชื้อไข้หวัดนก หากมีผลเป็นบวก ก็จะทำลายทิ้งทันที รวมทั้งจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย อย่างไรก็ตามกทม.เตรียมเปิดด่านแห่งใหม่ที่เขตดอนเมือง หลังจากที่มีอยู่เดิมแล้วที่ถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม และตลิ่งชั่น รวมทั้งสุวินทวงศ์

ผู้ว่าฯกทม.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ได้กำชับให้ผอ.เขตเฝ้าระวัง ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกของเกษตรกรพร้อมให้ความรู้แก่เครือข่ายในชุมชนโดยเฉพาะชาวบ้านที่ยังคงเลี้ยงสัตว์ปีกด้วยวิธีธรรมชาติ ให้นำเข้าสู่ระบบปิด คือมีโรงเรือนให้เรียบร้อย เพื่อให้ได้มาตรฐาน และป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อข้อถามที่ว่าขณะนี้ที่ประเทศอินโดนีเซียมีการแพร่ระบาดของเชื้อมายังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในพื้นที่กทม.พบหรือไม่ นายอภิรักษ์กล่าวว่าในกทม.ยังไม่มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่ก็ได้มีการสุ่มตรวจในเชิงลึกพร้อมกับประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่าขณะนี้พบปัญหาว่ากทม.ไม่มีสถานที่พักสัตว์ หากต้องกักขังสัตว์ ไว้ 21 วัน ทางกทม.จะแก้ไขอย่างไร นายอภิรักษ์กล่าวว่าจะมอบหมายให้เขตพื้นที่ประสานกับปศุสัตว์แก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวต่อไป


เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 7 คนที่อ่างทอง


นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงค่ำวันนี้ว่า จุดที่พบเชื้อไข้หวัดนกในอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทองนั้น เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ทำลายไก่ชนและไก่พื้นบ้านตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา แต่ผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพิ่งออกวันนี้

ยืนยันว่าไก่มีเชื้อไข้หวัดนก HSN1 ซึ่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ได้ลงพื้นที่ทันที รายงานเบื้องต้นมายังศูนย์ปฏิบัติการไข้หวัดนกกระทรวงสาธารณสุขว่า มีผู้อยู่ในข่ายสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย 2 ครัวเรือน รวม 7 คน ซึ่งมีเด็กอายุ 11 เดือนด้วย หากได้รับเชื้อไข้หวัดนกจะแสดงอาการภายใน 7 วัน มาตรฐานการเฝ้าระวังโรคขององค์การอนามัยโลกกำหนดให้ติดตามอาการเป็นเวลา 14 วัน

ซึ่งตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ที่พบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติจนถึงวันนี้ พบว่า ทั้ง 7 คนปลอดภัยไม่มีผู้เจ็บป่วย อย่างไรก็ตาม จะติดตามเฝ้าระวังอาการจนครบตามกรอบเวลา


นพ.ธวัชกล่าวว่า


ผู้เลี้ยงไก่ชน ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่คน เพราะบ่อนไก่ชนถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางสาธารณสุขยังเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชนทุกกลุ่มให้รู้จักดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากไข้หวัดนก ที่ผ่านมาพบผู้เลี้ยงไก่ชนใช้ปากดูดเสมหะจากปากไก่ ทำให้ติดเชื้อไข้หวัดนกจนเสียชีวิต ดังนั้น ผู้เลี้ยงไก่ชนต้องรู้จักระมัดระวังดูแลตนเองด้วย

31 ผู้ป่วยหวัดใหญ่น่าเป็นห่วง

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า พบเด็กนักเรียนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ H3N2 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง จำนวน 31 ราย ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับอำเภอสามโก้ที่พบไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ตรงนี้ต้องเฝ้าระวังอย่าให้มีการติดเชื้อไข้หวัดนก เพื่อป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดนกจนกลายเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม เด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวทุกรายปลอดภัยแล้ว เพราะไม่มีอาการรุนแรง


ขอขอบคุณ


ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์