หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพฟรี24ชั่วโมง

ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา


ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรืออาการป่วยเฉียบพลันจากโรคภัย หากรักษาไม่ทันการณ์โอกาสรอดชีวิตอาจมีไม่มาก ´หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน´จึงพร้อมปฏิบัติหน้าที่ 24 ชม. เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที พวกเขาอุทิศตัวเพื่อคนไข้โดยไม่หวังผลตอบแทน ทันทีที่โทร. แจ้ง 1669 พวกเขาจะไปถึงที่ เป็นบริการฟรีที่ไม่เกี่ยงว่าน้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ หรือต้องฝ่าเข้าไปในเขตระเบิด


จุดเริ่มของแพทย์ฉุกเฉิน


ย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคต่างๆ เช่น โรคหอบหืด หัวใจล้มเหลว อาการช็อกเพราะปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็น รถชน ไฟไหม้ จมน้ำ หรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด ถึงปีละ 12 ล้านราย

แต่การนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยถึงร้อยละ 10 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งผลักดันมาตรฐานการบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นและมีการบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยลดอัตราการสูญเสียชีวิตโดยไม่จำเป็นลงได้


แม้ว่าในอดีตโรงพยาบาลและมูลนิธิต่างๆของเอกชน


จะมีหน่วยกู้ชีพที่เข้าไปให้การช่วยเหลือและนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์นเรนทร ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่การทำงานก็เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องการประสานงาน ต่อมาในปี 2544

นพ.มงคล ณ สงขลา ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นเห็นว่าน่าจะมีการวางระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Service : EMS) ให้เป็นแผนงานระดับชาติ โดยให้ศูนย์นเรนทรเป็นแม่ข่ายในการบริหารจัดการ และใช้ชื่อใหม่ว่า ´สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน´

"ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยจากอุบัติเหตุและผู้ป่วยฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การช่วยเหลือผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ผ่านมายังไม่ทันการณ์และไม่เหมาะสมตามหลักวิชาแพทย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและพิการมากขึ้น

สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด และสนับสนุนให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

จัดตั้งหน่วยกู้ชีพเพื่อกระจายการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์นเรนทร) พูดถึงทิศทางการทำงานสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน


ป่วยฉุกเฉินแจ้ง 1669


สิ่งหนึ่งที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินหรือหน่วยกู้ชีพให้ความสำคัญอย่างมากก็คือการเข้าถึงผู้ป่วยให้เร็วที่สุดไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ที่ไหน เหตุเกิดในเวลาใด ดังนั้นนอกจากหน่วยกู้ชีพที่มีหน้าที่เข้าไปให้การช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว จึงต้องมีศูนย์รับแจ้งเหตุที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

และทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานต่างๆซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเมื่อศูนย์รับแจ้งเหตุได้รับแจ้งจากผู้ป่วยหรือบุคคลใกล้ชิดก็จะต้องสอบถามรายละเอียดต่างๆให้ชัดเจน เช่น ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือมีอาการป่วยจากโรคประจำตัว , อาการของผู้ป่วย , อายุ-เพศ และจำนวนของผู้ป่วย ,สถานที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งเบอร์โทร.ที่สามารถติดต่อได้

จากนั้นจึงแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินซึ่งใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกหรือเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยในเบื้องต้น เช่น แจ้งให้ตำรวจจราจรช่วยเคลียร์เส้นทาง ให้อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน(อพปร.)ช่วยงัดรถยนต์เพื่อนำผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุ

ปัจจุบันได้กำหนดให้มีการใช้เลขหมายโทรศัพท์


ในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ คือ หมายเลข 1669 เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ โดยเมื่อผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดโทร.เรียก 1669 ระบบจะเชื่อมโยงไปยังหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด จากนั้นหน่วยกู้ชีพในพื้นที่รับผิดชอบก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

โดยระหว่างทางเจ้าหน้าที่จะทำการช่วยเหลือผู้ป่วยในเบื้องต้นตามความจำเป็น เช่น ห้ามเลือด ให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน และภายในรถกู้ชีพจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆครบครัน ไม่ว่าจะเป็น เพลทหรือเตียงลำเลียงผู้ป่วย เครื่องมือปฐมพยาบาล เครื่องวัดความดัน เครื่องปั๊มหัวใจ สายน้ำเกลือ ฯลฯ


ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงผู้ป่วยขณะนี้ทางสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจึงได้เร่งดำเนินการจัดทำโปรแกรมซอร์ฟแวร์เพื่อใช้ในการบอกตำแหน่งของผู้ป่วย โดยเมื่อมีการโทร.แจ้งเหตุ ระบบจะทำการเชื่อมโยงข้อมูลว่าผู้แจ้งอยู่ ณ จุดใด

พร้อมทั้งปรากฏภาพแผนที่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อบอกตำแหน่งที่มีการโทร.แจ้ง ซึ่งจะช่วยให้หน่วยแพทย์ฉุกเฉินสามารถเดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุได้เร็วยิ่งขึ้น และเมื่อรถกู้ชีพเดินทางออกจากโรงพยาบาลไปยังจุดเกิดเหตุก็จะปรากฏภาพขึ้นบนหน้าจอว่ารถเคลื่อนที่ไปถึงจุดใด มีอุปสรรคใดหรือไม่ เพื่อที่หน่วยรับแจ้งเหตุจะได้ทำการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา โดยระบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2551 และนำมาใช้กับหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมถึงข้อดีของการใช้หมายเลข 1669 ในการแจ้งเหตุป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศ

ว่า "ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีทั้งเหตุลอบวางระเบิด ไข้หวัดนกก็กำลังจะกลับมา ในขณะที่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นอยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความตื่นตระหนกของประชาชน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเองได้สั่งให้หน่วยแพทย์ฉุกเฉินเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา และการใช้หมายเลขแจ้งเหตุกรณีป่วยฉุกเฉินเป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศก็สามารถช่วยลดความสับสนได้เปราะหนึ่ง การแจ้งเหตุต่างๆจะเร็วขึ้น "

ทุกเสี้ยวนาทีคือชีวิต


หน่วยแพทย์ฉุกเฉินนับเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือการช่วยชีวิตผู้ป่วย ดังนั้นในช่วงที่เกิดภัยพิบัติต่างๆซึ่งไม่สามารถนำรถกู้ชีพเข้าไปในพื้นที่ได้ หน่วยแพทย์ฉุกเฉินจึงต้องต้องเปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะที่เหมาะสมกับพื้นที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็น เฮลิคอปเตอร์ หรือเรือกู้ชีพ

จากการประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยกู้ชีพของโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศนั้นพบว่าหน่วยกู้ชีพแห่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับเรื่องความรวดเร็วในการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลนั้นได้แก่หน่วยกู้ชีพ โรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งสามารถนำผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุในพื้นที่รับผิดชอบเดินทางไปถึงโรงพยาบาลภายในเวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างสูง

ซึ่งจากการพูดคุยกับ นพ.วิทยา จารุพูนผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นพบว่า มิใช่เป็นเพราะการวางระบบบริหารจัดการที่ดีหรืออุปกรณ์อันทันสมัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นเพราะการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายซึ่งมีจิตวิญญาณ เดียวกัน คือการอุทิศตัวเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย

ที่ผ่านมาเราได้รับความช่วยเหลือจากองค์การ


"ความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JACA) ทำให้การวางระบบและอุปกรณ์การแพทย์มีความทันสมัย แต่ที่สำคัญที่สุดคือจิตวิญญาณของคนทำงาน การรักษาชีวิตผู้ป่วยคือจิตวิญญาณเรา หน่วยกู้ชีพของเราซึ่งมีทั้งหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่จะเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง คนขับรถพยาบาลเขาก็จะรู้เส้นทางทุกจุดในพื้นที่เป็นอย่างดี ทุกฝ่ายประสานกันหมด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่างๆในพื้นที่ด้วย ถามว่าเหนื่อยไหม ลำบากไหม ทุกคนบอกเลยว่าลำบาก แต่พอช่วยชีวิตคนป่วยได้นี่มันมีความสุข "


ในส่วนของเฮลิคอปเตอร์นั้นมักใช้ใน


กรณีที่จุดเกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และจำเป็นต้องนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาโดยเร็วที่สุด และจะใช้ในกรณีที่มีความสำคัญเร่งด่วนเนื่องจากการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการลำเลียงผู้ป่วยแต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4-5 หมื่นบาทเลยทีเดียว

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์สำหรับลำเลียงผู้ป่วย บอกว่า โรงพยาบาลในภาคอีสานนั้นมีหลายแห่งที่มีศักยภาพรับและส่งผู้ป่วยโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ โดยจะสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์อยู่บนดาดฟ้าของอาคารที่มีความแข็งแรงสูง แต่ทางโรงพยาบาลจะไม่มีเฮลิคอปเตอร์ของตนเอง จะใช้วิธีประสานของความร่วมมือจากหน่วยงานของตำรวจหรือทหาร

และเนื่องจากประเทศไทยมักเกิดอุทกภัยร้ายแรงอยู่เป็นประจำทุกปี เรือจึงเป็นพาหนะจำเป็นสำหรับหน่วยกู้ชีพ ถึงขนาดที่ในบางจังหวัดนั้นพยาบาลและเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่ใช่เพียงแต่มีความรู้ในการรักษาพยาบาลคนไข้เท่านั้นแต่ต้องหัดพายเรือให้เป็นด้วย


ผ่องศรี เอี่ยมอำไพ


พยาบาลประจำศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจังหวัดอ่างทอง ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมอย่างหนักในช่วงปลายปี 2549 ที่ผ่านมา เล่าถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโดยมีเรือเป็นพาหนะคู่ชีพ ว่า

"คือเราไม่เคยเจอกับน้ำท่วมหนักขนาดนี้ มีคนป่วยที่ติดอยู่บนบ้าน ไปไหนไม่ได้เยอะมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ ทางหน่วยแพทย์ฉุกเฉินของเราเอารถเข้าไปได้แค่ครึ่งทาง ไม่รู้จะทำยังไงเลยอาศัยเรือของชาวบ้านเข้าไป พยาบาลพายเรือกันเองเลย (หัวเราะ) แต่ก็ไม่สะดวกนะเพราะมันลำเล็ก ขนย้ายอุปกรณ์ช่วยชีวิตบางอย่างไม่ได้ ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลยสั่งซื้อเรือกู้ชีพ แล้วก็ได้เรือจากหน่วยงานอื่นที่ส่งมาช่วย

แต่ปัญหาคือเรามีคนขับแค่ 2 คน เพราะพยาบาลขับเรือไม่เป็น (หัวเราะ) แล้วส่วนใหญ่จะได้รับแจ้งเหตุตอนกลางคืน งูกัดบ้าง ปวดท้องอย่างรุนแรงบ้าง เราก็พยายามเข้าไปช่วยให้เร็วที่สุด เจ้าหน้าที่บางคนปีนหน้าต่างบ้านจะเข้าไปช่วยคนป่วย ปีนๆอยู่เข่าอ่อนตกน้ำโครมลงมาซะงั้น ยังสาวๆอยู่เลยนะ แล้วไม่รู้เป็นไงน้องคนนี้ตกน้ำประจำ (หัวเราะขำ)


ฝ่าระเบิดช่วยผู้ป่วย


พื้นที่หนึ่งที่จัดว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยและมีผู้ป่วยฉุกเฉินมากที่สุดในประเทศก็คือพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่ว่าจะอันตรายเพียงใดหน่วยแพทย์ฉุกเฉินของที่นี่ก็ยังคงยืนหยัดช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างไม่หวาดหวั่น แม้พวกเขาจะไม่อาจคาดเดาได้ว่าทุกก้าวย่างที่เหยียบไปนั้นจะเป็นการก้าวเดินครั้งสุดท้ายของชีวิตหรือไม่

ไม่มีเสียงคัดค้านใดๆเมื่อโรงพยาบาลยะลาได้รับการประกาศให้ได้รับรางวัลการให้บริการผู้ป่วยในเหตุวิกฤตซ้ำซ้อนภายในและภายนอกโรงพยาบาล จากกระทรวงสาธารณสุข กลับกันกลับมีเสียงปรบมือกึกก้องให้แก่ให้แก่ทีมแพทย์ฉุกเฉินซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงสาวผู้เป็นเจ้าของหัวใจอันเด็ดเดี่ยว

กนกวรรณ รอดผล พยาบาลวิชาชีพ หนึ่งในทีมแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลยะลา บอกเล่าถึงการทำหน้าที่ของเธอด้วยแววที่สะท้อนประกายมุ่งมั่น

ชาวบ้านที่นี่น่าสงสารนะ


"เขาไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร มีคนเจ็บคนตายเกิดขึ้นทุกวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารก็ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงเพื่อปกป้องพี่น้องคนไทย ถามว่ากลัวไหม ก็กลัวนะ แต่เราทิ้งเขาไม่ได้ ทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุเราจะรีบเข้าไปเพื่อช่วยคนเจ็บให้ได้มากที่สุด แต่ก็จะมีทีมตำรวจทหารเขาเข้าไปเคลียร์พื้นที่ก่อน ถ้ามีเหตุระเบิดเราต้องรอให้เขาตัดสัญญาณโทรศัพท์ก่อน ไม่อย่างนั้นหน่วยกู้ชีพที่เข้าไปช่วยอาจโดนระเบิดลูกที่สองที่สามได้"

ด้าน ศิริพร ภาณุเรืองรัศมี พยาบาลวิชาชีพ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานหลักสูตรเวชกิจฉุกเฉิน วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ยะลา ซึ่งอาสาเข้ามาเป็นหนึ่งในหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน บอกเราว่า

เราทำงานค่อนข้างลำบากเพราะต้องไม่ให้เขารู้ว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่


"ไม่อย่างนั้นอาจตกเป็นเป้าได้ เข้าไปในพื้นที่ปุ๊บต้องรีบลำเลียงคนเจ็บออกมาก่อนเลย ของพี่ยังไม่เจออะไรร้ายแรง แต่หน่วยกู้ชีพบางหน่วยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี่เขาเล่าให้ฟังว่าพอเอาคนเจ็บขึ้นรถเสร็จมันตามมากระหน่ำยิง รถพยาบาลพรุนหมดทั้งคันเลย โชคดีที่คนไม่เป็นอะไร เราเห็นบางคนถูกระเบิดแขนขาขาดก็สลดใจนะ แต่ก็ต้องทำใจแข็งช่วยเขาให้ได้มากที่สุด พี่ว่าคนที่น่าสงสารที่สุดคือหน่วยกู้ระเบิดของทหาร เพราะพวกนี้เขามีชีวิตอยู่วันต่อวัน ทุกครั้งที่เข้าไปกู้ระเบิดเขาบอกเลยว่าผมคงไม่ได้กลับมา (ตาแดง เสียงสั่นเครือ)"

หน่วยกู้ชีพหรือหน่วยแพทย์ฉุกเฉินนับเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องมีทั้งความอดทน และความเสียสละ พวกเขาหาใช่คนที่มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต หากแต่หัวใจของเขาที่มีให้กับคนไข้นั้นช่างยิ่งใหญ่นัก

ขอขอบคุณ


ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์