สะท้อนภาพลบผลกระทบห้ามขายพวงมาลัย อีกมุมมองที่คนกรุงส่วนใหญ่ไม่อยากเห็น!

สะท้อนภาพลบผลกระทบห้ามขายพวงมาลัย "อีกมุมมอง"ที่คนกรุงส่วนใหญ่ไม่อยากเห็น!

บรรดาเด็กๆที่ขายพวงมาลัยตามสี่แยก

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ 8 ธันวาคม 2549 12:54 น.

ภาพเด็กทั้งชายและหญิงร้องขายพวงมาลัย หนังสือพิมพ์ รวมถึงเรียงเบอร์ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน เป็นภาพชินตาที่พบเห็นได้ทั่วไปตามสี่แยกไฟแดง เป็นเหมือนวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ควบคู่มากับวิกฤตจราจร ของเมืองหลวง ประเทศไทย ที่ชื่อว่า กรุงเทพมหานคร เพราะชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้ ทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องทนปากกัดตีนถีบดิ้นรนเพื่อให้ได้มาแค่เพียงเศษเสี้ยวของเงินทองที่จะนำมาช่วยเจือจุนครอบครัวในการใช้ชีวิตไปในแต่ละวัน

ภาพเช่นนี้คงจะยังพบเห็นได้อย่างต่อเนื่องหากไม่เกิดเหตุการณ์สลด

เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 26 มิ.ย. 2549 เมื่อ ด.ญ.อนัญญา เหมือนสุวรรณ อายุ 9 ปี นักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 โรงเรียนวัดพระยายัง ที่ยังอยู่ในชุดครึ่งท่อน สวมเสื้อนักเรียนสีขาว กางเกงขาสั้น ออกช่วยพ่อแม่ขายพวงมาลัยหลังเลิกเรียน แต่หนูน้อยไม่รู้เลยว่ามัจจุราชกำลังอ้าแขนรับอยู่เมื่อรถบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีฟ้า ทะเบียน 41-5199 กรุงเทพมหานคร มีนายชม หาภูมิ อายุ 30 ปี เป็นคนขับ โดยไม่ทันสังเกตล้อหลังของรถทับเข้าที่ศีรษะของหนูน้อยเสียชีวิตคาที่ กระจาดใส่ดอกจำปีที่เดินเร่ขายหล่นเกลื่อนถนน ผู้คนที่เดินผ่านไปมาต่างรู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ครั้งนั้นเหมือนเป็นการสร้างคอกเพื่อล้อมวัว

ที่อาจจะหนีหายออกไปอีกเมื่อ พล.ต.ท.พิจาร จิตติรัตน์ ที่ปรึกษา สบ.9 ซึ่งดูแลงานด้านจราจร มีคำสั่งขั้นเด็ดขาด ไปยังทุก สน. รวมถึงหน่ายงานในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ห้ามมิให้มีการขายของบริเวณแยกไฟแดงทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,000 บาท โดยเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา

ภายหลังคำสั่งออกมาสร้างความไม่พอใจต่อบรรดากลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของบริเวณแยกไฟแดง

ประท้วงให้ตำรวจยกเลิกหรือผ่อนผันที่หน้าบช.น.

ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัย ดอกไม้สด หนังสือพิมพ์ และอื่น ๆ ต่างถือป้ายผ้าเขียนข้อความขอความเป็นธรรมและขอความเห็นใจ และขอเข้าพบ พล.ต.ท.พิจาร จิตติรัตน์ ก่อนที่จะมีการผ่อนผันให้มีการค้าขายตามแยกไฟแดง ได้อีก 3 เดือน โดยมีข้อแม้ว่าผู้ค้าต้องแต่งกายเรียบร้อย ใช้วาจาสุภาพ อ่อนหวาน ไม่พูดจาก้าวร้าวกับผู้ใช้รถใช้ถนน และห้ามไม่ให้เด็ก - เยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ออกมาขายของตามแยกไฟแดง แต่เมื่อพ้นระยะผ่อนผันแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการจัดระเบียบไม่ให้มีการขายของตามแยกไฟแดงอีกต่อไป

แต่ทางกลุ่มผู้ค้ายังไม่ละความพยายามที่จะยืนกรานว่าจะขายให้ได้ พร้อมเสนอว่าให้มีการขึ้นทะเบียนดีกว่าที่จะถูกตัดช่องทางทำมาหากิน จนมีการทำหนังสือพร้อมเดินทางมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อขอความเห็นใจอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการยื่นหนังสือผ่านทาง พล.ร.ท.พระจุล ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานประธานองคมตรีและรัฐบุรุษ เพื่อส่งต่อยัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หาทางช่วยเหลือ

หากไม่ให้ค้าขายสุจริต จะให้พวกเราไปเป็นโจรหรืออย่างไร คำถามที่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายตั้งขึ้นถามผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

พร้อมกับบอกว่าอาชีพนี้ทำกันมานาน บางคนทำเป็น 40-50 ปี ทำต่อมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ทุกคนรู้ดีว่าต้องทำตัวอย่างไรไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน เช่น ช่วยเข็นรถเมื่อรถเสีย เมื่อมีอุบัติเหตุก็ช่วยคนเจ็บ เมื่อมีน้ำมันบนถนนเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุก็เอาทรายมาถม เราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนก็อยากให้ตำรวจช่วยเห็นใจคนทำมาหากินอย่างเราบ้าง บางคนมีลูกเล็ก ๆ ต้องเลี้ยงดู มีพ่อแม่แก่ ๆ ที่บ้าน ถ้าเราไม่ทำจะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงครอบครัว

แต่ก็มีพฤติการณ์บางอย่างของกลุ่มเด็กขายพวงมาลัย ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่อยากเจอ

อภิศักดิ์ (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) อายุ 36 ปี ผู้ใช้รถบนท้องถนนที่พบเห็นภาพการแร่ขายพวงมาลัย ดอกไม้ หนังสือพิมพ์ หรืออื่น ๆ อย่างชินตา บอกอย่างหดหู่ว่า แม้ข่าวเด็กขายพวงมาลัยถูกรถทับ จะผ่านมาแต่เมื่อนึกถึงก็จะยังรู้สึกสะเทือนใจอยู่ แต่ในปัจจุบันนี้ทุกครั้งที่รถติดตามสี่แยกไฟแดงแล้ว ก็ยังคงเห็นเด็กตัวเล็ก ๆ เร่ขายพวงมาลัย จึงได้แต่คิดเพียงสงสารเหล่าเด็ก ๆ เหล่านี้ที่ต้องมาแบกรับภาระบางอย่างที่ตัวเองไม่ได้อยากให้เกิด

บางครั้งก็ช่วยซื้อบ้าง แต่ก็มีบางคนที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างที่เคยเจอช่วงแยกถนนพระราม 6 ที่จะตัดเข้าถนนกำแพงเพชร เป็นไฟแดงเด็กขายพวงมาลัยมายืนบังหน้ารถพร้อมกับยกมือไหว้อยู่นิ่งนาน แม้จะปฏิเสธว่าไม่ซื้อก็ไม่ยอมเดินออกไป รอจนกระทั่งไฟเขียวแล้วก็ยังไม่เดินออกไปอีก สิ่งที่ทำได้ตอนนั้นคือบีบแตร เปิดกระจกแล้วไล่ไป

นั่นไม่ใช่พฤติกรรมเดียวที่ อภิศักดิ์ พบ เมื่อ อภิศักดิ์ เล่าต่อว่า อีกครั้งหนึ่งที่ต้องเจอกับอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แยกเดียวกันคือ

มีวัยรุ่นคนหนึ่งที่ประมาณอายุคร่าว ๆ น่าจะ 18 20 ปี ในมือจะมีผ้าขนหนูผืนเล็ก สภาพเลอะเทอะ ส่วนอีกมือจะมีที่เช็ดกระจกแบบเดียวกับที่ใช้ตามปั๊มน้ำมัน เดินเข้ามาพร้อมยกมือไหว้และลงมือใช้ผ้าผืนเลอะนั้นเช็ดกระจก พร้อมกับเอาที่รูดกระจกมารูดซ้ำอีก

อภิศักดิ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยสบอารมณ์ อีกว่า วันนั้นเพิ่งล้างรถมา ไม่ได้มีร่องรอยของความเลอะเทอะแต่อย่างไร แม้จะร้องห้ามว่าไม่ต้องเช็ด เด็กคนนั้นก็ไม่หยุด อีกอย่างตอนที่เด็กคนนั้นเอาที่รูดกระจกมารูด ตนเองก็กลัวว่ากระจกจะเป็นรอยเพราะไม่ได้มีน้ำหรือน้ำยาอะไรเลย จึงควักเงินให้ไป 10 บาท เพื่อตัดความรำคาญ

"แม้ปัจจุบันนี้ยังคงใช้รถอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ทุกวันนี้หากเลือกได้จะพยายามที่จะหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว เพราะไม่อยากที่จะเจอพฤติการณ์แบบนี้อีก"

ไม่รู้ว่าปัจจุบันทางรัฐบาลมีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างนอกเหนือจากการที่สำนักงานตำรวจห้ามขายอย่างเด็ดขาด แต่โดยส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลน่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ กลุ่มคนเหล่านี้โดยการฝึกอาชีพ เพื่อให้คนเหล่านี้มีทางเลือก รวมถึงการเข้ามาดูแลเรื่องการศึกษาของลูกหลานกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อที่ในอนาคตที่กว่า โดยหากมีลูกมีหลานในรุ่นต่อ ๆ ไปจะได้มีทางเลือกที่ดีกว่าการที่จะต้องมาเดินเร่ขายพวงมาลัยอย่างทุกวันนี้ อภิศักดิ์ บอกเป็นข้อคิดทิ้งท้ายไว้ให้

ยังไม่รู้ว่า เรื่องนี้ จะมีบทสรุปอย่างไร ตำรวจจะยังต้องยึดนโยบายห้ามขายต่อไปหรือไม่ หรือจะผ่อนผันออกไปเรื่อยๆ โดยในข้อเท็จจริงแล้ว น่าจะมีทางออก อย่างที่คุณอภิศักดิ์ว่าไว้ ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่า รัฐมีความจริงใจกับคนกลุ่มนี้มากน้อยแค่ไหน และกทม. ก็น่าจะเข้ามามีส่วนสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ตำรวจเป็นหนังหน้าไฟเพียงผู้เดียว...

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์