ศาลยกฟ้องคดีทุจริต เรือขุดเอลลิคอตต์

"ยกฟ้องคดีจัดซื้อเรือขุดหัวสว่าน"


ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง คดีทุจริตจัดซื้อเรือขุดหัวสว่าน เอลลิคอตต์ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ที่อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า และพวกตกเป็นจำเลย ศาลชี้การกระทำของจำเลยไม่เข้าข่ายความผิดฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

วันนี้ ( 28 ธ.ค. ) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลมีคำพิพากษาในคดี ทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเรือขุดหัวสว่าน บริษัทเอลลิคอตต์ แมชชิน คอร์ปอเรชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจงอาชว์ โพธิสุนทร อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า อายุ 61 ปี, ร.ต.สัญชัย กุล ปรีชา อดีตรองอธิบดีกรมเจ้าท่าฝ่ายปฏิบัติการ อายุ 55 ปี , ร.ต.ประเวช รักแผน นักวิชาการขนส่ง 9 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเดินเรือ กรมเจ้าท่า อายุ 52 ปี , นายอิทธิพล กาญจนกิจ นิติกร 8 สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่า อายุ 62 ปี , นายดนัย ศรีพิทักษ์ นายช่างขุดลอก ฝ่ายแผนงานบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล กรมเจ้าท่า อายุ 52 ปี , ร.ต.วิเชฎฐ์ พงษ์ทองเจริญ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 กรมเจ้าท่า และ นายปัญญา ส่งเจริญ เจ้าพนักงานตรวจเรือ 7 ฝ่ายตรวจเรือ สำนักงานเจ้าท่าที่ 2 กรมเจ้าท่า ตกเป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับรองเอกสารได้กระทำการรับรองเอกสารอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 162

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดนำสืบหักล้างกันแล้ว ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2-7 ร่วมกันตรวจรับเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้ารวม 3 เครื่องพร้อมทำเอกสารรับรองอันเป็นเท็จและจำเลยที่ 1 อนุมัติจ่ายเงินจำนวน กว่า 6.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับบริษัทเอลลิคอตต์ ทำให้กรมเจ้าท่าเสียประโยชน์เพราะเครื่องยนต์ดังกล่าวไม่ใช่เครื่องจักรหลักตามข้อสัญญานั้น ปรากฎว่านายวิเชษฐ์ โรจน์ธรรมกุล ประธานกรรมการตรวจการจ้างช่วงแรกและนายชาญชัย ชื่นเชย กรรมการตรวจการจ้างช่วงแรก เบิกความทำนองเดียวกันว่า เครื่องจักรใดจะเป็นเครื่องจักรหลักจะต้องให้เป็นไปตามสถาบันการจัดชั้นเรือ เอบีเอส เป็นผู้รับรอง ซึ่งเป็นไปตามที่คู่สัญญากำหนดและเป็นไปตามคำรับรองของผู้ควบคุมงานซึ่งกำหนดไว้ในข้อ จี-11 ซึ่งคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวเจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลย ว่าจำเลยได้ตรวจรับเครื่องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และเครื่องยนต์ดังกล่าวได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ซึ่งเรื่องนี้บริษัทเอลลิคอตต์ ฯ ผู้ขาย มีหนังสือแจ้งถึงคณะกรรมการตรวจการจ้างยืนยันมาโดยตลอดว่า

"การแก้ไขสัญญาเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ"


เครื่องจักรหลักที่จะส่งมอบ คือเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยเครื่องยนต์ได้รับการทดสอบในโรงงานและผู้ควบคุมงานของกรมเจ้าท่าตรวจสอบและรับรองความถูกต้องแล้ว ประกอบกับสถาบันจัดชั้นเรือ เอบีเอส ได้ตรวจสอบและรับรองเครื่องยนต์ดังกล่าวว่าเป็นเครื่องจักรหลัก พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1-3 , 6 และ 7 มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ว่า การตรวจรับเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้า และการทำบันทึกรายงานผลการตรวจรับงานเสนอจำเลยที่ 1 เพื่อให้อนุมัติชำระเงิน ไม่ใช่การปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จึงไม่มีความผิดตาม ป.อาญา ม.157 และ 162

ส่วนประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2-7 ร่วมกันพิจารณาคำร้องขอของบริษัทเอลลิคอตต์ เพื่อขอแก้ไขสัญญาการชำระเงินงวดที่ 5 ซึ่งตามสัญญาเดิมให้ชำระภายในงวดเดียว เมื่อบริษัทส่งมอบเรือขุด เรือพี่เลี้ยงและอุปกรณ์ต่าง แก้เป็นแบ่งชำระเงินและส่งมอบงานออกเป็น 3 งวดย่อย เป็นการกระทำที่บริษัทเอลลิคอตต์ ผู้ค้าได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว จำเลยทั้งเจ็ดนำสืบต่อสู้ว่า ที่จำเลยทั้ง 2-7 เห็นว่า
การแก้สัญญาการชำระเงินงวดที่ 5 จะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเพราะสัญญาเดิมให้กรรมสิทธิ์สินค้าจะเป็นของกรมเจ้าท่าก็ต่อเมื่อการรับมอบเครื่องจักรและอุปกรณ์เรียบร้อยสมบูรณ์ทุกขั้นตอน แต่เมื่อมีการแก้ไขสัญญาก็จะทำให้กรมเจ้าท่าได้กรรมสิทธิ์เรือพี่เลี้ยง ท่อ และทุ่นทันที ซึ่งกรมเจ้าท่าสามารถนำเรือพี่เลี้ยงไปใช้ประโยชน์ได้ ศาลเห็นว่า เมื่อข้อ 136 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย

"ทุกคนต่างดีใจ"


พัสดุ พ.ศ.2535 บัญญัติว่า สัญญาหรือข้อตกลงที่ได้ลงนามไปแล้วจะแก้ไขไม่ได้เว้นแต่การแก้ไขนั้นจะเป็นความจำเป็นและไม่ทำให้ราชการต้องเสียหายหรือเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการให้การแก้ไขสัญญาอยู่ในอำนาจของส่วนราชการพิจารณาเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมเจ้าท่าในขณะนั้น จึงมีอำนาจแก้ไขสัญญาได้ เพราะข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการแก้ไขสัญญาจะทำให้กรมเจ้าท่าได้รับกรรมสิทธิ์จากการรับมอบเรือพี่เลี้ยง ท่อ และทุ่น ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้แก่ทางราชการได้ ซึ่งในขณะที่มีการแก้ไขสัญญา คณะกรรมการตรวจการจ้างก็ไม่รู้ว่าบริษัทเอลลิคอตต์ จะไม่สามารถส่งมอบเรือขุดให้กับกรมเจ้าท่าได้ อีกทั้งการที่กรมเจ้าท่าไม่ได้รับมอบเรือขุด ไม่ได้เกิดจากการแก้ไขสัญญา การชำระเงินงวดที่ 5 แต่เกิดจากการที่กรมเจ้าท่ากำหนดเวลาให้บริษัทเอลลิคอตต์ส่งมอบเรือขุด 3 ลำภายในเวลาเพียง 30 วัน อันเป็นเหตุให้บริษัทเอลลิคอตต์ไม่สามารถปฎิบัติตามได้จนกระทั่งมีการบอกเลิกสัญญาในภายหลัง ซึ่งหลังจากบอกเลิกสัญญาแล้วปรากฏว่าบริษัทเอลลิคอตต์ได้ประกอบตัวเรือขุดจนเสร็จพร้อมส่งไปใช้งานในประเทศจีนได้จำนวน 2 ลำ

เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยทั้งเจ็ดจึงมีนำหนักหักล้างพยานโจทก์รับฟังได้ว่า การพิจารณาและอนุมัติแก้ไขสัญญาดังกล่าวไม่ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตาม ป.อาญา ม.157 จึงพิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ครอบครัว เพื่อนและผู้ใต้บังคับบัญชาของพวกจำเลยทั้งเจ็ด กว่า 30 คน ต่างพากันส่งเสียงร้องพร้อมปรบมือแสดงความดีใจกันเสียงดังลั่นห้องพิจารณา โดยจำเลยทั้งเจ็ดมีสีหน้าท่าทางแจ่มใสขึ้นในทันที โดยในวันนี้อัยการโจทก์ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังการพิจารณา แต่คดีนี้ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งอัยการจะได้คัดคำพิพากษาเพื่อพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์
หรือไม่ต่อไป

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2543 ซึ่ง ป.ป.ช.ได้พิจารณาคำร้องการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเรือขุดเอลลิคอตต์แล้วพบความผิด จึงส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 พิจารณา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2545 ซึ่งพนักงานอัยการใช้เวลาพิจารณาสำนวน 1 ปี 6 เดือน ก่อนจะมีความเห็นสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 และต่อสู้คดีในชั้นศาล จนกระทั่งศาลพิพากษายกฟ้องในวันนี้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์