แฉนายพล-ด๊อกเตอร์ ชอบตีเมียทั้งบังคับร่วมเพศ

เหยื่อหญิงระดับป.โท-เอกพิธีกรสาวชื่อดังให้ข้อมูลแอร์ถูกผัวกัปตันซ้อมโชว์


ผู้หญิงถูกสามีทำร้ายมากขึ้น ปี 49 เฉลี่ย 39 รายต่อวัน ระดับปริญญาโท-ด๊อกเตอร์ก็มี ถูกกระทำโดยสามีทั้งพ.ต.ต.ยันพล.อ. ผู้หญิงไม่ว่าการศึกษาหรือฐานะระดับไหนต่างถูกกระทำด้วยกันทั้งหมด โดยไม่รู้ว่าฝ่ายชายไม่มีสิทธิ์ทำร้าย โดยเฉพาะการบังคับมีเพศสัมพันธ์ ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯเสนอเรียบร้อยแล้ว

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเสวนาเรื่อง "ปัญหาความรุนแรง รอยร้าวในสังคมที่ต้องเยียวยา" โดยนางกิ่งแก้ว อินหว่าง รองผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ หรือศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2547 เด็กและผู้หญิงถูกกระทำเฉลี่ย 19 รายต่อวัน ปี 2548 เฉลี่ย 32 รายต่อวัน และปี 2549 เฉลี่ย 39 รายต่อวัน รองผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุเมาสุรา หึงหวง นอกใจ ซึ่งกระทรวงมีแผนแม่บทส่งเสริมสถาบันครอบครัว และเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.... เข้าคณะรัฐมตรี (ครม.) ในวันเดียวกันนี้ เพื่อเห็นชอบขั้นสุดท้ายก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่คุ้มครองเด็กและผู้หญิงไม่ให้ถูกทำร้ายอีก โดยเฉพาะจากคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด

"ความรุนแรงในครอบครัว"


ด้านน.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า มูลนิธิช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงประมาณ 2,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ ที่เริ่มมีมากขึ้น คือกลุ่มผู้หญิงระดับปริญญาโท ปริญญาเอกเป็นด๊อกเตอร์ กลุ่มอาจารย์ ทันตแพทย์ ที่แต่งงานแล้ว และถูกสามีทำร้าย โดยไม่รู้ว่าสามีไม่มีสิทธิ์ทำร้ายภรรยา

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ พบว่าผู้หญิงแต่งงานแล้วมากกว่า 1 ใน 3 เคยถูกคู่สมรสทำร้ายบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยผู้หญิงไม่ว่าการศึกษา หรือฐานะระดับไหน เมื่อถูกกระทำจะเหมือนกันหมด คืออาย เงียบ ไม่กล้าแจ้งความ ส่วนผู้ชายที่กระทำมีทั้งตำรวจ ทหาร ยศสูงระดับพ.ต.ต. พ.ต.ท. พล.ต. พล.อ. คณบดี รองคณบดี ก็มี ดังนั้น ผู้หญิงที่ถูกกระทำ ถูกลวนลามทำร้ายต้องกล้าโวยวาย

ขณะที่น.ส.นารากร ติยายน พิธีกรและผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ กล่าวว่า ยอมรับว่าสื่อมีผลต่อการสร้างความรุนแรงในสังคม ซึ่งความรุนแรงเกิดกับคนทุกอาชีพ เพื่อนสนิทของตนเป็นแอร์โฮสเตส มีสามีเป็นกัปตันอยู่สายการบินแห่งชาติ เป็นคนมีการศึกษาทั้งคู่ เพื่อนสนิทคนนี้ร่างกายมักมีรอยบอบช้ำ และมาร้องไห้กับตนเพราะถูกสามีทำร้าย เคยเห็นถูกทำร้ายต่อหน้าด้วย ที่ผ่านมาพยายามช่วยเหลือทุกอย่าง สุดท้ายขอให้เลิกกับสามี แต่เพื่อนก็ยอมที่จะทนอยู่ต่อไป เพราะห่วงลูกสาวจะไม่มีพ่อ และกลัวถูกนินทาจากเพื่อนร่วมงาน

"ดังนั้น อยากให้คนในสังคมช่วยกันประณามความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เหมาะสม ผู้ชายที่ทำร้ายทารุณผู้หญิง สื่อใดเสนอสิ่งไม่ถูกต้อง เช่น ผู้ประกาศอ่านข่าวผู้หญิง เด็ก ปัญหาความรุนแรงแล้วหัวเราะ เป็นเรื่องสนุกต้องช่วยกันเตือน อย่าไปดูหรือซื้อสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม" พิธีกรและผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ กล่าว

"ร่าง พรบ.คุ้มครองฯ ทั้ง 11 ข้อ"


วันเดียวกันคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และให้ส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.... มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.กำหนดนิยามคำว่า "ความรุนแรงในครอบครัว" หมายความว่าการกระทำใดๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท

2.กำหนดนิยามคำว่า "บุคคลในครอบครัว" หมายความว่า คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตร บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครอบครัวเรือนเดียวกัน

3.กำหนดให้ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่น และหากการกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้

4.กำหนดให้บุคคลที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือบุคคลอื่นใดที่พบเห็น หรือทราบการกระทำรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยจะแจ้งด้วยวาจา เป็นหนังสือ โทรศัพท์ หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครอง และไม่ก่อให้เกิดความรับผิดชอบในทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

5.ถ้ามิได้มีการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมิได้มีการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัย และมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้ ให้ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความ

6.กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องทำการสอบสวนโดยเร็วหลังจากได้มีการร้องทุกข์ และให้พนักงานอัยการต้องยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง หากมีเหตุจำเป็น ให้ขอผัดฟ้องต่อศาลได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ต้องไม่เกินสามคราว และในขณะสอบปากคำพนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงร้องขอร่วมด้วย เว้นแต่มีกรณีจำเป็นเร่งด่วนแต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวน

7.กำหนดห้ามมิให้ลงพิมพ์โฆษณา หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำด้วยความรุนแรง หลังจากมีการแจ้งเหตุแล้ว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามที่กำหนด

8.กำหนดให้ศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกำหนดมาตรการ หรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่บุคคลผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงเป็นการชั่วคราว ซึ่งรวมถึงการชดใช้เงินช่วยเหลือ การห้ามผู้กระทำความรุนแรงเข้าไปในที่พำนักของครอบครัว ห้ามเข้าใกล้ตัวบุคคลใดในครอบครัว วิธีการดูแลบุตร และอาจแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการได้ตามเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และผู้มีส่วนได้เสียอาจอุทธรณ์ต่อศาลได้ โดยให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด และหากมีการฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามที่กำหนด

9.กำหนดให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมาใช้บังคับกับวิธีพิจารณา การยื่นและการรับฟังพยานหลักฐานในกรณีที่พ.ร.บ.นี้ไม่ได้บัญญัติไว้โดยอนุโลม

10.กำหนดให้ในการพิจารณาพิพากษาคดีให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ยอมกัน โดยอาจตั้งผู้ไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นบุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งการเปรียบเทียบดังกล่าวต้องคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัว โดยให้คำนึงหลักการตามที่กำหนด

11.ให้รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รักษาการตามพ.ร.บ.นี้ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำรายงานประจำปีต่อครม.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์