ผู้นำมุสลิมจี้นายกฯแจงข้อมูล ร้านต้มยำกุ้งมาเลย์หนุนป่วนใต้

"หวั่นคำให้สัมภาษณ์ สุรยุทธ์ กระทบรายได้ร้านอาหารมาเลเซีย"


แกนนำมุสลิม จี้ "สุรยุทธ์" แจงข้อมูลร้านต้มยำกุ้งหนุนป่วนใต้ หวั่นกระทบรายได้คนไทยที่เปิดกิจการและเข้าทำงานอยู่ในมาเลเซีย แนะส่งหน่วยข่าวเสาะหาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ

(22พย.) นายกูสดี กูบาฮา อุปนายกสมาคมมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนว่าผู้ที่ให้เงินสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย หรือกลุ่มต้มยำกุ้ง ว่า จริงๆแล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ นายกรัฐมนตรีน่าจะให้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ว่าผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซียร้านใด มีจำนวนเท่าไร และอยู่ในรัฐใดของประเทศมาเลเซียที่ให้เงินสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากทุกฝ่ายจะได้มีข้อมูลที่กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น ประกอบกับร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซียมีจำนวนมาก

"เรียกร้องรัฐบาลให้ความชัดเจนในการให้ข่าวต่อสาธารณะชน"


"การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีผ่านสื่อมวลชนในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการให้ข้อมูลที่คลุมเครือและขาดความชัดเจน อีกทั้งมองว่าจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซียอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือรัฐบาลไม่ควรลืมว่ามีผู้คนจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปประกอบร้านอาหารในประเทศมาลเซียเป็นจำนวนมาก หากผู้นำประเทศออกมาให้ข้อมูลในลักษณะเช่นนี้ เชื่อแน่ว่ากลุ่มผู้ประกบการต้องถูกจับตามองจากทางการของประเทศมาเลเซียและมีผลกระทบในเรื่องของรายได้อย่างแน่นอน" นายกูสดี กล่าว

อุปนายกสมาคมมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่ควรมองข้ามหรือลืมว่าประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางไปเปิดกิจการและเป็นลูกจ้างอยู่ในร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีบุคคลกลุ่มนี้ได้นำรายได้กลับเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมหาศาล จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลได้ให้ความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะชน

"ขอให้รัฐบาลให้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้"


ขณะเดียวกันควรส่งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยข่าวเข้าไปหาข้อมูลให้รอบด้านด้วย ที่สำคัญคือรัฐไม่ควรเหวี่ยงแหให้กับผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งทั้งหมดว่าสนับสนุนเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

ด้านนายนิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า อยากให้นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะข้อมูลของร้านที่ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่ามีจำนวนเท่าไร เพราะไม่เช่นนั้นแล้วผู้ประกอบร้านอาหารต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซียจะตื่นตระหนกกันทั้งหมด จนสุดท้ายจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

"ติงรัฐบาลให้ข่าวต้องนึกถึงผลกระทบกับคนในพื้นที่ด้วย"


"ขณะเดียวกันรัฐควรคำนึงด้วยว่าคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้จากการไปเปิดร้านอาหารและเป็นลูกจ้างอยู่ในร้านอาหารไทยที่มาเลเซียเป็นจำนวนมาก จนมีรายได้เข้ามายังพื้นที่เป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี และหากรัฐเองมีข้อมูลอยู่แล้วว่าผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียรายใดที่ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ควรหาแนวทางหรือหากลยุทธ์เข้าไปสืบเสาะเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงก่อนแล้วจึงค่อยหาแนวทางแก้ปัญหา แต่ไม่ควรออกมาเปิดเผยข้อมูลให้กับสื่อมวลชนในลักษณะเช่นนี้" นายนิมุ กล่าว

ด้านนายสมชาย รองเหลือ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 เผยว่า โรงเรียนในพื้นที่ อ.ยะหาทั้งหมดประมาณ 30 แห่งได้ปิดโรงเรียนโดยไม่มีกำหนดชั่วคราว หลังจากชาวบ้านรวมตัวประท้วงกดดันให้ย้ายฐานทหารพรานและตชด.ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนยาสูบและโรงเรียนบ้านละไมออกจากพื้นที่ต่อเนื่อง 2 วัน

"ครูหวั่นไม่ปลอดภัย"


แม้ว่าล่าสุดกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะสลายตัวไปแล้ว แต่ยังมีกระแสของชาวบ้านบางส่วนที่ยังไม่พอใจกับข้อตกลงที่ได้ข้อสรุปว่า จะไม่มีการย้ายฐานทหารแต่อย่างใด ทำให้ครูที่อยู่ในพื้นที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัย จึงต้องหยุดการเรียนการสอนโดยไม่มีกำหนด เพราะกลัวว่าจะมีการก่อเหตุประท้วงอีกระลอกซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเพิ่มความรุนแรงถึงขั้นการจับครูเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองกับเจ้าหน้าที่

"เพื่อความปลอภัยของครูในพื้นที่ทำให้จำเป็นต้องปิดโรงเรียนชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะรับรองความปลอดภัยในการคุ้มครองครู แต่ครูส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจเนื่องจากการดูแลไม่สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเวลาการเดินทางไป-กลับโรงเรียนอาจถูกดักทำร้ายได้ รวมถึงช่วงขณะสอนหนังสือในห้องเรียนก็ไม่มีความปลอดภัย

"ชาวบ้านเรียกร้องให้ย้ายฐาน ตชด.ทหารพรานออกนอกพื้นที่"


เพราะส่วนใหญ่กลัวจะถูกปิดล้อมเพื่อจับครูเป็นตัวประกันต่อรองกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมากรณีชาวบ้านใช้วิธีปิดล้อมกดดันเจ้าหน้าที่จะได้ผลเกือบทุกครั้ง แต่ในครั้งนี้กลับสวนทางไปทำให้หลายคนผิดหวัง อาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่และรุนแรงกว่าเดิม " นายสมชาย กล่าว

ด้านนายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ นายอำเภอยะหา กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของชาวบ้าน คือให้ย้ายฐานทหารทั้งตชด.และทหารพรานออกนอกพื้นที่เนื่องจากความเข้าใจผิด ซึ่งหลังจากชี้แจงให้ทราบเหตุผลทำให้ส่วนหนึ่งยอมรับข้อตกลงร่วมกัน แม้จะมีบางส่วนที่ไม่ค่อยพอใจ แต่ก็ยอมรับเงื่อนไขโดยส่วนรวม ทั้งนี้เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดปัญหาตามมาเหมือนที่ครูในพื้นที่หวั่นวิตกแต่อย่างใด และเชื่อว่าภายใน1-2 วันนี้ทุกอย่างน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์