ตั้งศูนย์ปราบโจร แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ตำรวจร่วมกทช. เปิดแจ้งสายด่วน ตำรวจจับมือ กทช.ตั้งศูนย์สู้ ปราบแก๊ง CALL CENTER เปิดสายด่วนตลอด 24 ชั่วโมง

รับแจ้งเหตุ แก๊งโอนเงินอาละวาด เตือนอย่าหลงกลโจรข้ามชาติแอบอ้างหน่วยงานราชการ และธนาคาร ห้ามคุยโทรศัพท์มือถือขณะกดเอทีเอ็มอย่างเด็ดขาด สั่งจับตาคนในรู้เห็นกับแก๊งมิจฉาชีพ เหยื่อโผล่รายวัน โทร.อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ลวงไปกดเงินสูญ 7 หมื่นบาท

ที่ห้องประชุม 3 อาคารอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 ส.ค.

ได้มีการประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (CALL CENTER) หลอกให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือการฉ้อโกงย่านโครงข่ายใต้ดิน โดยมี พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผบก.ปคบ. พล.ต.ต.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ผบก.ทท. พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผบก.ปอท.ร่วมกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รองเลขาธิการ กทช. รักษาการเลขาธิการ กทช. เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการที่ให้บริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตกว่า 10 ราย เข้าร่วมหารือ

ภายหลังการประชุม พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก. กล่าวว่า จากปัญหาแก๊งมิจฉาชีพอาละวาดโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน

ด้วยวิธีการแปลงเบอร์โทรศัพท์เป็นของธนาคารหรือหน่วยงานราชการ อ้างว่าขณะนี้ คุณเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ธนาคาร เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ โอนเงินจากตู้เอทีเอ็มไปยังบัญชีต่างๆของคนร้าย หรือยอมบอกรหัสประจำตัวประชาชน เลขที่บัญชีธนาคารหรือบัญชีบัตรเครดิต ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าจะจัดตั้งศูนย์ให้บริการประชาชน ทำหน้าที่รับแจ้งเหตุเบื้องต้น เพื่อติดต่อประสานงานกับตำรวจและธนาคาร ในการระงับการโอนเงิน หรืออายัดเงินในบัญชี รวมถึงการแจ้งเตือนและให้คำปรึกษาประชาชน หากมีข้อสงสัยว่าเบอร์โทรศัพท์ที่ได้รับเข้าข่ายหลอกลวง และมาจากหน่วยงานที่แอบอ้างจริงหรือไม่ สามารถโทร.สอบถามสายด่วนของศูนย์นี้ ซึ่งจะใช้เลขหมาย 4 ตัว


ทั้งนี้ จากการสอบสวนเหยื่อที่หลงเชื่อ พบเบาะแสของแก๊งคนร้ายเป็นกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ ใช้เซิร์ฟเวอร์ เถื่อนจากต่างประเทศ

ยิงสัญญาณโทรศัพท์เข้ามาในประเทศไทย แล้วลักลอบแปลงเบอร์โทรศัพท์ เป็นของหน่วยงานราชการ เช่น ดีเอสไอ หรือธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เหยื่อที่รับสายเชื่อถือว่า เป็นบุคคลที่โทรศัพท์มาจากหน่วยงานนั้นๆจริง ซึ่งขณะนี้ได้กำชับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศให้ตรวจสอบ หากพบว่ามีคนในรู้เห็นหรือเป็นสาย จะออกหมายจับดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงประชาชนทันที มีโทษจำคุกคดีละไม่เกิน 5 ปี ส่วนแนวทางการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งดังกล่าว ขอให้ประชาชนอย่าใช้โทรศัพท์มือถือขณะกดเอทีเอ็มเป็นอันขาด ที่สำคัญอยากให้ประชาชนได้ตระหนัก คือควรรู้ว่าบุคคลที่โทร.มาหาเราเป็นใคร และโทร.มาจากไหน ต้องสามารถตรวจสอบได้ เพราะจะทำให้กระบวนการของคนร้ายต้องคิดหนักเมื่อจะกล่าวอ้างถึงสถานที่จริง บุคคลที่มีตัวตนจริง ก่อนที่จะทำให้เหยื่อหลงเชื่อจนถึงขั้นบอกข้อมูลสำคัญของตัวเอง จึงต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหานี้ หากตรวจสอบได้ตามที่วางมาตรการไว้ จะทำให้แก๊งคนร้ายลักษณะนี้เกรงกลัวขึ้น เพราะจะทราบที่อยู่ และสามารถติดตามจับกุมได้ในที่สุด

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รองเลขาธิการ กทช. รักษาการเลขาธิการ กทช. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่ประชุมมีมติให้เพิ่มมาตรการป้องกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีผลสรุปคือ จะจัดให้มีศูนย์รับแจ้งเหตุและร้องทุกข์ ใช้เบอร์คอลเซ็นเตอร์ 3 หน่วยงาน ได้แก่หมายเลข 1200 ของ กทช. 1155 ของตำรวจท่องเที่ยว และหมายเลข 1135 ของ บก.ปคบ. ทั้ง 3 สายด่วน จะมีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่องราวตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ทางศูนย์จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงขบวนการหลอกโอนเงินของเหล่ามิจฉาชีพนี้เพื่อป้องกัน พร้อมกับขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่ให้บริการทางโทรศัพท์ ส่งข้อความ SMS เตือนลูกค้าในกรณีที่มีโทรศัพท์ต้องสงสัยหลอกให้ทำธุรกรรมการเงิน รวมทั้งหาเบาะแสรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการออกหมายจับต่อไป

พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผบก.ปคบ. กล่าวเพิ่มเติมว่า

เป็นความโชคดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมมือกันดำเนินการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ขึ้นมา คาดว่าหลังจากมีการตั้งศูนย์แล้ว แก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้จะลดน้อยลง โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการปราบปรามควบคู่กันไป เพื่อให้แก๊งเหล่านี้หมดสิ้น พร้อมกับฝากเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อขบวนการมิจฉาชีพที่หลอกให้โอนเงินอย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมามีผู้เสียหายร้องเรียนผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยกว่า 1,600 ราย มูลค่าความเสียหายนับร้อยล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดก็ยังคงมีคนหลงกลตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์สูญเงินอีกจนได้ โดยเมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 3 ส.ค.

น.ส.นงคราญ บุตรดวงติ๊ง อายุ 35 ปี ชาว จ.เชียงใหม่ เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.นัฐวรรณ์ ศรีทองเพชร สารวัตรเวร สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ว่าเมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกันนี้ ได้รับโทรศัพท์จากหญิงสาวอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบบัญชีของธนาคารกรุงเทพ แจ้งว่ามีคนนำบัตรของตนไปกดถอนเงินสดที่ จ.เชียงราย 30,000 บาท เมื่อตนปฏิเสธ หญิงสาวคนดังกล่าวก็โอนสายให้พูดกับชายอีกคนหนึ่งซึ่งอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ข่มขู่ว่าคนที่มากดถอนเงินมีรายชื่อพัวพันกับแก๊งค้ายาเสพติดรายใหญ่ หากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ให้รีบไปที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อตรวจสอบยอดเงินแล้วเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลส่วนตัว ตนหลงเชื่อไปที่ตู้เอทีเอ็มภายในปั๊ม ปตท.สาขาพัทยาเหนือ จากนั้นชายคนดังกล่าวได้บอกให้ตนกดตามขั้นตอนต่างๆ สุดท้ายกลายเป็นว่าได้กดโอนเงินในบัญชีจำนวน 70,500 บาทไปเข้าบัญชีของธนาคารกรุงเทพ สาขาห้วยขวาง เลขที่ 176-470-502-4 เมื่อตรวจสอบไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ชายคนดังกล่าวให้ไว้ ก็เป็นระบบตอบรับอัตโนมัติของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จึงมั่นใจว่าตกเป็นเหยื่อแก๊งต้มตุ๋นอย่างที่มีข่าวอย่างแน่นอน โดยที่ตนไม่ทันเฉลียวใจ เพราะมัวแต่กังวลว่าจะตกเป็นผู้ต้องหาพัวพันกับแก๊งค้ายาที่ถูกแอบอ้าง

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์