เตือนระวังโจรหลังบอลโลก

นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมฯ ระบุ สถิติของ สตช.คดีพนันพุ่ง ขณะที่คดีเกี่ยวกับทรัพย์ ทั้งการ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฉ้อโกง เพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าหลังฟุตบอลโลก 3 เดือนจากนี้คดีจะเพิ่มอีก...

นายศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อวันที่15 ก.ค. ถึงการศึกษาสถิติคดีการพนัน

คดีเกี่ยวกับทรัพย์ และคดีเกี่ยวกับการค้าประเวณี ในช่วงเทศกาลการแข่งขันฟุตบอลรายการระดับโลก อาทิเช่น ฟุตบอลยุโรปในปี 2547 (ยูโร 2004) และฟุตบอลโลกในปี 2549 (เยอรมัน 2006) ยุโรปในปี 2551 (ยูโร 2008) โดยนำสถิติข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ข้อมูลจากข่าวหนังสือพิมพ์ จากเว็บไซต์ มาศึกษาพบว่า คดีการพนันทั่วไป ข้อมูลจาก สตช.ในปี 2547 เกิดขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 5 ,189 คดี โดยในช่วงเทศกาลบอลยูโร ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 6,649 คดี หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.13 ส่วนในปี 2549 เฉลี่ยเดือนละ 5,263 คดี ช่วงเทศกาลบอลโลก เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 6,240 คดี หรือ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.56 ส่วน ปี 2551 เฉลี่ยเดือนละ 4,851 ช่วงเทศกาลบอลยูโร เดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นเป็น 5,435 ดคี หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.04

นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถิติในเขต กทม.พบว่า คดีการพนันทั่วไป ในปี 2547 เฉลี่ยเดือนละ 1,051

คดี ช่วงเทศกาลบอลยูโร ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 1,838 คดี หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 74.88 จึงสรุปได้ว่ามีการเล่นการพนันกันมากจริงในช่วงเทศกาลฟุตบอลสำคัญๆ โดยเฉพาะในเขต กทม.ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจคือเพิ่มขึ้นถึง 3ใน 4 ส่วนสมมติฐานเกี่ยวกับการขายตัวที่ว่ามาจากการเสียพนันบอลนั้น พบว่า คดีเกี่ยวกับการค้าประเวณี ตามที่มีการแสดงความคิดเห็นของผู้รอบรู้วงการรักร่วมเพศ ที่ระบุว่ามีชายพร้อมขายตัวให้กลุ่มผู้รักร่วมเพศ เพื่อใช้หนี้พนันบอล รวมทั้งข้อความในเว็บไซต์เกี่ยวกับพนันบอลว่าคนเล่นพนันบอลมีทุกเพศ แม้แต่เด็กผู้หญิงในโรงเรียนก็เล่นพนันบอลเช่นกัน จะเล่นหนักกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ

นายศิโรจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ตอบกระทู้ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าเพื่อนหลายคน เล่นพนันบอลจนเป็นหนี้ สุดท้ายเพื่อนหญิงบางคน ถึงขั้นต้องขายตัว

เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ ส่วนผู้ตอบกระทู้อีกท่านว่าเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นคนหน้าตาดี สวย น่ารัก มองภายนอกไม่รู้เลยว่าเธอติดพนันบอล แต่สุดท้ายเธอต้องขายตัวใช้หนี้ ซึ่งจากการนำข้อมูลสถิติคดีปรามการค้าประเวณี ในปี 2547 มีเฉลี่ยเดือนละ 1,744 คดี ช่วงเทศกาลบอลยูโร ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 2,765 และ 2,743 คดี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 63.10 ส่วนสถิติปี 2549 และปี 2551 ในช่วงเทศกาลฟุตบอลเดือน มิ.ย.ยังไม่พบความผิดปกติมากนัก แต่ถัดไปช่วงปลายปีกลับพบว่ามีสถิติสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นสิ่งสืบเนื่องที่มีผลตามมาในภายหลัง

นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ขณะที่หลังจากเทศกาลฟุตบอลสำคัญๆผ่านไปแล้วนั้น

พบว่า คดีเกี่ยวกับทรัพย์ การ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฉ้อโกง และพนักงานธนาคารยักยอกเงินในบัญชีเงินฝากของลูกค้า หรือชิงทรัพย์ปั๊มน้ำมันที่คนร้ายประกาศต่อหน้าเหยื่อเลยว่าจะเอาเงินไปใช้หนี้พนันบอล ส่วนข้อมูลจาก สตช.พบว่า คดีชิงทรัพย์ ในปี 2549 เฉลี่ยเดือนละ 187 คดี เดือน ก.ค. หลังเทศกาลบอลโลก เพิ่มขึ้นเป็น 232 คดี หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.06 คดีกรรโชกทรัพย์ ในปี 2549 เฉลี่ยเดือนละ 20 คดี เดือน ส.ค. หลังเทศกาลบอลโลก เพิ่มขึ้นเป็น 35 คดี หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 75 คดียักยอกทรัพย์ ในปี 2549 เฉลี่ยเดือนละ 1,069 คดี เดือน ส.ค. หลังเทศกาลบอลโลก เพิ่มขึ้นเป็น 1,506 คดี หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.87

นายศิโรจน์ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลดังกล่างจึงเป็นไปได้ว่า

เมื่อฤดูกาลฟุตบอลโลก 2010 ปิดฉากลง ให้ระวังช่วง 1-3 เดือนต่อไปนี้ ที่อาจมีคดีลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ และยักยอกทรัพย์เกิดขึ้นตามมา  อย่างไรก็ตามจากบทสัมภาษณ์นายตำรวจท่านหนึ่ง สะท้อนว่าในช่วงหลังมหกรรมฟุตบอลโลก อาจมีการพูดถึงคดีเกี่ยวกับทรัพย์เพื่อใช้หนี้พนันบอลกันมาก แต่อาชญากรรมลักษณะนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุที่จูงใจคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นการที่ “ราคาทองคำสูงขึ้น” “ปัญหายาเสพติดที่ผู้เสพต้องการนำเงินไปซื้อยา” “ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การตกงาน ราคาสินค้าแพงขึ้น” รวมถึงการ “เสียพนัน” โดยมีการก่อเหตุทั้งจาก “โจรมืออาชีพ” และ “โจรมือสมัครเล่น”


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์